ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
พลังงาน / สิ่งแวดล้อม ย้อนกลับ
กฟน.ร่วมภาคีนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ถนนพิษณุโลก เชื่อมต่อโครงการสายไฟฟ้าใต้ดินใจกลางเมือง
08 พ.ย. 2560

วันนี้ (8 พฤศจิกายน 2560) นายเทพศักดิ์ ฐิตะรักษา ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาคี ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)  กรุงเทพมหานคร และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินบนถนนพิษณุโลก ถนนนครสวรรค์ และถนนเพชรบุรี เพื่อเชื่อมต่อโครงการสายไฟฟ้าใต้ดินในพื้นที่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ณ ราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า ตามที่ กฟน. ได้ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลด้วยการดำเนินการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินมาอย่างต่อเนื่อง และในครั้งนี้ได้ดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่ ถนนพิษณุโลก (แยกพาณิชยการ ถึง แยกยมราช) ถนนนครสวรรค์ (แยกนางเลิ้ง ถึง แยกเทวกรรม) และถนนเพชรบุรี (แยกยมราช ถึง แยกอุรุพงษ์) รวมระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร ซึ่งเชื่อมต่อโครงการปทุมวัน จิตรลดา พญาไท โครงการราชวิถี โครงการสุขุมวิท และโครงการพหลโยธินที่เสร็จสิ้นไปก่อนหน้านี้ รวมเป็นระยะทาง 43.5 กิโลเมตร 

ในด้านวิธีการก่อสร้างเพื่อนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินครั้งนี้ กฟน. ได้ใช้วิธีการขุดเปิด – ฝังกลบ ทางเท้า (Open Cut) สำหรับการนำสายไฟฟ้าแรงต่ำขนาด 230 / 400 โวลต์ และวิธีการดึงท่อลอดถนน (Horizontal Directional Drilling หรือ HDD) สำหรับการนำสายไฟฟ้าแรงสูงขนาด 12,000 / 24,000 โวลต์ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย สายไฟฟ้าใต้ดินใช้วัสดุฉนวนหุ้มกันน้ำและกันไฟฟ้ารั่ว ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบแม้จะเกิดน้ำท่วมขัง ในส่วนของสภาพพื้นที่ขุดเจาะจะมีการปรับสภาพพื้นผิวทางเท้าหลังจากการก่อสร้างสำเร็จ เป็นไปตามมาตรฐาน และข้อกำหนดของกรุงเทพมหานคร เพื่อความปลอดภัยในการใช้พื้นที่สาธารณะของประชาชน และทัศนียภาพที่สวยงาม

นอกจากนี้ กฟน. ยังได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้กับประชาชนได้รับทราบข้อมูลของโครงการฯ พร้อมรับฟังปัญหาและนำไปแก้ไขเพื่อลดผลกระทบระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง โดยเฉพาะผู้ที่ต้องสัญจรผ่านบริเวณทางเท้าในถนนดังกล่าว ซึ่ง กฟน. ได้จัดให้มีศูนย์ประสานงานของ กฟน. ในบริเวณพื้นที่โครงการฯ โดยได้รับการสนับสนุนในด้านสถานที่จาก ราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์  อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าและสายสื่อสารโทรคมนาคมแบบสายอากาศเป็นระบบสายใต้ดิน เพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน โดยมี กรุงเทพมหานคร สนับสนุนด้านการอำนวยความสะดวกในบริเวณพื้นที่ทางเท้าสำหรับดำเนินโครงการฯ  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สนับสนุนการแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่ก่อสร้าง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และสำนักงาน กสทช. ร่วมแก้ไขปัญหาสายสื่อสาร 

ทั้งนี้ โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของ กฟน. ได้ดำเนินการรวมระยะทาง 214.6 กิโลเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2564 โดยแบ่งเป็นโครงการที่อยู่ในแผนรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน 127.3 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 59.3 โครงการที่ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ 43.5 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 20.3 และโครงการที่อยู่ระหว่างกำลังดำเนินการ 43.8 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 20.4 ซึ่งการดำเนินงานครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดความสำเร็จ ลดผลกระทบต่อประชาชน ช่วยให้เกิดความปลอดภัย มีระบบไฟฟ้าที่มั่นคง และเป็นรากฐานการพัฒนาสู่การเป็นมหานครไร้สาย Smart Metro

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...