ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
สร้างเตียงพิเศษช่วยผู้ป่วยอ่อนแรง นักวิจัยคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สร้างผลงานวิจัยสร้างเตียงพิเศษช่วยพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยอ่อนแรง
04 ธ.ค. 2558

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมสิริคุณากร 4 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงานแถลงข่าว “นักวิจัย มข.พบสื่อมวลชน” ประจำเดือนธันวาคม 2558 นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง เตียงพิเศษสำหรับช่วยพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยที่อ่อนแรง โดยรศ.ดร.วิชัย อึงพินิจพงศ์ อาจารย์ประจำวิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและสื่อสารองค์กร และมีสื่อมวลชนเข้าร่วมงานจำนวนมาก

          รศ.ดร.วิชัย อึงพินิจพงศ์ อาจารย์ประจำวิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า โจทย์ปัญหาที่ทำให้สร้างผลงานวิจัยชิ้นนี้เกิดจากปัญหาที่พบค่อนข้างมากของผู้ป่วยที่เรียกว่าอาการ นอนติดเตียง เช่น คนไข้เป็นอัมพาต คนไข้ผู้สูงอายุอ่อนแรงมาก ผู้ป่วยเหล่านี้จะมีปัญหาแผลกดทับ นำไปสู่การติดเชื้อถึงขั้นเสียชีวิต ฉะนั้นแพทย์หรือญาติต้องแก้ไขด้วยการพลิกตัวคนไข้ทุกๆ 1 ชั่วโมง แต่โดยมากพบว่าญาติผู้ป่วยไม่สามารถดูแลได้ตลอดเวลา จึงเกิดผลงานวิจัยเรื่อง เตียงพิเศษสำหรับช่วยพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยที่อ่อนแรงขึ้น
          เตียงพิเศษสำหรับช่วยพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยที่อ่อนแรงสร้างจากแนวคิดของแคมเรือ เมื่อเรือลอยอยู่บนน้ำสามารถลอยบนน้ำและตะแคงได้อย่างช้าๆ แล้วกลับมาที่เดิมได้ นักวิจัยจึงสร้างต้นแบบที่เรียกว่า Prototype ขึ้นมาโดยใช้มอเตอร์ชนิดพิเศษคือหมุนช้า และทดเกียร์ลงมาให้ช้าลงอีก เพื่อให้แน่ใจว่าเมื่อผู้ป่วยนอนบนเตียงจะไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหว
          ทั้งนี้ เตียงดังกล่าวสามารถปรับระดับเตียงเพื่อให้ญาติใช้งานได้อย่างเหมาะสม เมื่อญาตินำผู้ป่วยขึ้น-ลงจากวีลแชร์ไปสู่เตียง นอกจากนี้ยังสามารถตั้งโปรแกรมกำหนดระยะเวลาให้เตียงเคลื่อนไหวทุกๆ กี่นาที หรือทุกชั่วโมงเป็นไปโดยอัตโนมัติ กลไกการทำงานของเตียงพิเศษช่วยพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยที่อ่อนแรง คือเตียงจะค่อยๆ ตะแคงไปเรื่อยๆ ด้านหนึ่งมีที่กั้นเตียงไว้ประมาณ 20 องศา จากนั้นจะตะแคงกลับมาอีกด้านหนึ่ง มีกลไกเช่นนี้สลับกันไปมาตลอด ด้วยหลักการดังกล่าวจะทำให้คนไข้เปลี่ยนจุดกดทับ สามารถป้องกันแผลกดทับได้ดี และตัดปัญหาคนไข้เวียนศีรษะ ซึ่งได้นำไปทดลองใช้กับผู้ป่วยอัมพาต ผลปรากฏว่าผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยพอใจมาก
          รศ.ดร.วิชัยกล่าวต่อว่า งานวิจัยชิ้นนี้มีประโยชน์ต่อสังคม โดยเฉพาะคนไข้ที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต คนไข้ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรือผู้สูงอายุ สามารถใช้เตียงนี้เพื่อป้องกันแผลกดทับ ป้องกันโรคติดเชื้อต่างๆ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นตามมาจากแผลกดทับ ขณะที่ประเทศไทยกำลังเคลื่อนเข้าสู่ประเทศที่มีผู้สูงอายุจำนวนมากกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ ผลงานวิจัยชิ้นนี้เป็นคำตอบในการดูแลผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเอง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
          สำหรับผลงานวิจัยดังกล่าวได้ยื่นจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ล่าสุดมีบริษัทเอกชนสนใจนำผลวิจัยไปผลิตในเชิงพาณิชย์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับฝ่ายสิทธิประโยชน์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ขณะเดียวกันทางผู้วิจัยเองได้ต่อยอดงานวิจัยพัฒนาเตียงพิเศษช่วยพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยที่อ่อนแรงให้มีประสิทธิภาพเหมาะต่อการใช้งานช่วยเหลือผู้ป่วยได้ดีขึ้น
          ทั้งนี้ ท่านใดสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชั้น 2 สำนักงานอธิการบดี อาคาร 2 มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถนนมิตรภาพ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 40002 โทรศัพท์ 0-4320-2733 โทรสาร 0-4320-2733 โทรศัพท์มือถือ 08-6451-4455

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...