ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
รองฯ สมคิดจี้ติดคมนาคม เร่งผลักดันเชื่อมโยง “อีอีซี”
15 ม.ค. 2561

“สมคิด” จี้กรมทางหลวงเร่งทำงบประมาณปี 2562 ให้เสร็จภายใน ก.พ.นี้ เดินหน้าพัฒนาโครงข่ายคมนาคมดันเชื่อมเส้นทางจากรถไฟความเร็วสูงสู่แหล่งท่องเที่ยว หวังช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำของประเทศ ขณะที่ “อาคม” เล็งโยกงบประมาณปี 2563-2565 วงเงิน 3 หมื่นล้านบาทมาใช้เร่งสร้างถนนในอีอีซีก่อน ด้านเอกชนขอนำเข้าแรงงานบังกลาเทศแก้ปัญหาคนงานก่อสร้างขาดแคลน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้กับกรมทางหลวง พร้อมได้หารือกับตัวแทนภาคเอกชนกลุ่มรับเหมาก่อสร้างและผู้บริหารหน่วยงานในกระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) โดยนายสมคิด กล่าวว่า ได้มอบนโยบายเกี่ยวกับการเชื่อมโยงเส้นทางการคมนาคมขนส่งจากเส้นทางหลักซึ่งกรมทางหลวงเป็นหน่วยงานหลัก ไปยังเส้นทางรองเพื่อให้โครงข่ายด้านคมนาคมมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และลดความเหลื่อมล้ำของประเทศซึ่งการคมนาคมจะเป็นหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหาดังกล่าว ส่วน รฟท.ให้ไปจัดทำแผนการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟจากเส้นทางหลัก ที่กำลังก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ไปยังจังหวัดใกล้เคียงหรือมีเส้นทางรถไฟขนาดเล็กเข้าไปยังสถานที่ท่องเที่ยวเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการเดินทางและช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนต่างๆได้ด้วย

โดยขณะนี้ได้ใกล้เข้าสู่ช่วงการจัดสรรงบประมาณ ปี 2562 ของรัฐบาล จึงอยากให้กระทรวงคมนาคมทบทวนโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญๆ จะต้องเน้นการเชื่อมโยงด้านหมวดคมนาคมทั้งทางถนน รถไฟเข้าด้วยกันให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ รวมถึงให้ความสำคัญกับการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานขนส่ง ที่สนับสนุนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี การเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งเชื่อมต่อการเดินทางในรูปแบบต่างๆ ด้วยความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า นายสมคิดได้ให้นโยบายการจัดทำงบประมาณของกรมทางหลวงในปี 2562 ที่ต้องทำให้เสร็จภายในเดือน ก.พ.นี้ โดยให้เน้นเรื่องการพัฒนาโครงข่ายคมนาคม ให้เกิดการเชื่อมโยงทั้งถนนสายหลัก สายรอง การเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดและกลุ่มจังหวัด รวมทั้งการเชื่อมโยงระหว่างโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เช่น ถนนกับทางรถไฟ ถนนกับท่าเรือ และสนามบินเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด

สำหรับการสร้างความเชื่อมโยงในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่จะลงทุนทั้งสนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังระยะที่ 3 และโครงโครงการรถไฟความเร็วสูง กทม.-ระยอง จำเป็นต้องเตรียมก่อสร้างถนนเพิ่มเติมเพื่อรองรับการขนส่งที่เพิ่มขึ้น และเตรียม พร้อมที่จะเชื่อมโยงอีอีซีไปยังจังหวัดใกล้เคียงทางถนน เช่น จ.จันทบุรี โดยกรมทางหลวงได้จัดสรรงบลงทุนสำหรับโครงการอีอีซีในระยะ 5 ปี (2560-2565) วงเงิน 67,821 ล้านบาท ในปี 2560 มีการจัดสรรงบประมาณไปแล้ว 19,251 ล้านบาท ส่วนในปี 2562 ได้เตรียมงบประมาณสำหรับลงทุนไว้ 18,490 ล้านบาท

ทั้งนี้ อาจจะต้องนำโครงการภายในแอ๊กชั่นแพลนที่อยู่ในแผนปี 2563-2565 บางโครงการมาดำเนินงานก่อน เช่น โครงการก่อสร้างถนน ในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เพื่อแก้ปัญหาจราจรและสร้างระบบโลจิสติกส์ภายในโครงการให้สมบูรณ์ คาดว่าในปี 2562-2565 จะใช้งบประมาณก่อสร้างด้านถนนภายใน อีอีซี ประมาณ 48,000 ล้านบาท

“ได้หารือกับนายสมคิดว่าจะเร่งการลงทุนโครงข่ายถนนเพื่อรองรับความพร้อมของโครงการอีอีซีให้เร็วขึ้นโดยจะพิจารณาโยกงบประมาณที่เหลืออยู่อีกประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งเดิมตั้งเป็นงบประมาณลงทุนในปี 2563-2565 มาลงทุนในปี 2562 มากขึ้น โดยจะได้ข้อสรุปภายในเดือน ก.พ.นี้”

รวมถึงกำลังศึกษาหาจุดเชื่อมต่อระหว่างโครงการรถไฟทางคู่ 2 เส้นทางที่อยู่ในแผนพัฒนาระบบคมนาคมภาคตะวันออก หรือ East-West Corridor บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม และเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ เป็นการเชื่อมต่อเส้นทางหลัก ที่จะเพิ่มศักยภาพด้านโลจิสติกส์ ทั้งการขนส่งสินค้าและการเดินทาง เชื่อมต่อไปยังลาวและเวียดนามได้ ขณะนี้ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยศึกษาความเป็นไปได้  โดยแผนการจัดสรรงบประมาณ ปี 2562 จะต้องแล้วเสร็จภายใน 2 เดือนหลังจากนี้

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้หารือกับผู้รับเหมาเอกชน โดยทำความเข้าใจทิศทางการทำงานของรัฐบาลจากนี้ไป 3-4 ปีข้างหน้า จะเกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่อง ขอให้ผู้รับเหมาก่อสร้างทำงานอย่างซื่อสัตย์ ไม่ทิ้งงาน เน้นความปลอดภัยเป็นสำคัญ เบิกจ่ายเงินอย่างรวดเร็ว และให้โอกาสทั้งรายเล็ก กลาง ใหญ่ เข้ามามีส่วนร่วมกับโครงสร้างพื้นฐานของไทย พร้อมขอความร่วมมือภาคเอกชนนำยางพาราทำถนนให้มากขึ้น โดยคาดว่าในปี 2561 นี้จะเพิ่มปริมาณการใช้น้ำยางดิบได้มากกว่า 40,000 ตัน

ด้านนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม กล่าวว่า ผู้ประกอบการภาคเอกชนแสดงความเป็นห่วงว่าในช่วง 3-4 ปีที่จะมีโครงการก่อสร้างจำนวนมากอาจมีปัญหาขาดแคลนแรงงานในการก่อสร้างจึงเสนอให้รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการให้สามารถใช้แรงงานต่างด้าวที่เป็นชาวบังกลาเทศได้เพิ่มอีกประเทศเพื่อรองรับภาวะตึงตัวของแรงงาน และเสนอให้จัดตั้งสภาการก่อสร้าง โดยเป็นความร่วมมือของบริษัทเอกชนในกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้าง กระทรวงคมนาคม และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเป็นช่องทางในการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ และเอกชนต่อไป

สอดคล้องกับด้านผู้รับเหมาเอกชน ซึ่งบอกว่าเป็นกังวลปัญหาแรงงานที่ขาดแคลน ขอให้รัฐจัดหาแรงงานเข้าระบบและขอจัดตั้งสภาก่อสร้างไทย เพื่อดูแลและตรวจสอบการดำเนินงานของผู้รับเหมาไทย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการก่อสร้างและปัญหาจากการคอร์รัปชั่น รวมทั้งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมก่อสร้างในภาพรวมได้

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายอาคม ได้เคยออกมาระบุว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมจัดทำแผนปฏิบัติการลงทุน หรือแอ๊กชั่น แพลน ปี 2561 ของกระทรวงคมนาคมเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และการพัฒนาเชื่อมโยงภูมิภาค

โดยโครงการภายในแอ๊กชั่นแพลนปี 2561 นั้นจะมีทั้งโครงการเก่าที่ผูกพันงบประมาณต่อเนื่องตามแผนแอ๊กชั่นแพลนของปี 2559 และ 2560 และโครงการใหม่ที่บรรจุแผนแอ๊กชั่นแพลนปี 2561

ส่วนใหญ่เน้นการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานขนส่ง ที่สนับสนุนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี การเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งเชื่อมต่อการเดินทางในรูปแบบต่างๆ ด้วยความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย

เน้นหนักที่ระบบราง ทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า รถไฟเชื่อมเพื่อนบ้าน และการเร่งปรับปรุงพัฒนาสนามบินภูมิภาคเพื่อหนุนการท่องเที่ยวที่เติบโตแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะสนามบินที่ก่อสร้างมานานไม่ได้รับการขยายทั้งระบบอำนวยความสะดวกภายในอาคาร

ทั้งนี้ หากจะวิเคราะห์วงเงินงบประมาณภายใต้แอ๊กชั่นแพลน 2561 ของกระทรวงคมนาคมวงเงิน 2 แสนล้านบาท ซึ่งไม่รวมงบลงทุนก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ซึ่งบางส่วนจะใช้เงินกู้ดำเนินการแล้ว สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

1.เงินงบผูกพันตามแอ๊กชั่นแพลนปี 2559 และ 2560 วงเงิน 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการลงทุนต่อเนื่องที่จะต้องทำต่อ และ 2.งบลงทุนในโครงการใหม่ จำนวน 8 โครงการ อีก 1 แสนล้านบาท

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...