ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ย้อนกลับ
ชี้ผลตรวจฝุ่นละอองสูง เกิดจากการคำนวณคลาดเคลื่อน-ระบุกทม.ยังคงเฝ้าระวังและป้องกันอย่างเข้มงวด
30 ม.ค. 2561

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงกรณีที่มีเว็บไซต์แห่งหนึ่งได้คำนวณสภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 61 พบว่ามีฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เกินค่ามาตรฐานในทุกพื้นที่ถึงระดับ 54 – 85 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) และฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) มีค่า 138 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพนั้น ในความจริงแล้วเป็นการคำนวณจากสภาพอากาศเพียง 1 ชั่วโมงมาตรวจวัดเท่านั้น ซึ่งตามปกติในการตรวจวัดสภาพอากาศจะนำค่าฝุ่นละออง 24 ชั่วโมงมาคำนวณ อย่างไรก็ตามกรุงเทพมหานครไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องดังกล่าว ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศทั่วพื้นที่และเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง 

ด้านนางวัลยา วัฒนรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม ชี้แจงเพิ่มเติมว่า จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 61 กรุงเทพมหานครเกิดสภาพอากาศนิ่ง ลมสงบ และชั้นอากาศผกผันใกล้พื้นดิน ทำให้มลพิษทางอากาศเกิดการสะสมตัวในปริมาณมาก ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะพบได้เป็นบางวันในช่วงฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) มีค่าสูงกว่าปกติ ซึ่งจากการตรวจสอบกับกรมควบคุมมลพิษพบว่า ข้อมูลดัชนีคุณภาพอากาศฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ใช้ค่าเฉลี่ย 1 ชั่วโมง ทำให้การรายงานดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ในช่วงสีแดง (มีผลกระทบต่อสุขภาพ) ซึ่งในข้อเท็จจริงต้องใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง มาจัดทำรายงานดัชนีคุณภาพอากาศ หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว กรุงเทพมหานครได้ติดตามตรวจสอบปริมาณฝุ่นละอองอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 25 – 29 ม.ค. 61 ปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) อยู่ที่ 18 – 31 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) มีค่าอยู่ที่ 30 – 51 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงอยู่ที่ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ซึ่งต่ำกว่าค่ามาตรฐานมาก ถือว่าสภาพอากาศในภาพรวมของกรุงเทพฯ ยังไม่เป็นอันตราย
*เดินหน้ามาตรการ 15 ลด 2 เพิ่ม ป้องกันและแก้ไขมลพิษในอากาศ*
ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กล่าวด้วยว่า เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษในอากาศ และการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กรุงเทพมหานครจึงได้ดำเนินการตามมาตรการ 15 ลด 2 เพิ่ม ประกอบด้วย มาตรการลดมลพิษจากการจราจร ได้แก่ เข้มงวดการตรวจจับรถยนต์ควันดำ เข้มงวดตรวจวัดมลพิษจากรถราชการสังกัดกรุงเทพมหานครทุกคัน ตรวจสอบรถบรรทุกหรือรถขนย้ายวัสดุให้มีผ้าใบปิดคลุมให้มิดชิด ประสานจัดการจราจรให้คล่องตัว รณรงค์ไม่ขับช่วยดับเครื่อง ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชน รณรงค์ให้ประชาชนหมั่นดูแลรักษาเครื่องยนต์ มาตรการลดฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง ได้แก่ ควบคุมบริเวณก่อสร้างให้มีรั้วทึบโดยรอบ คุมเข้มให้มีผ้าใบปิดคลุมการก่อสร้างให้มิดชิด กำชับให้มีการล้างล้อรถก่อนออกจากสถานที่ก่อสร้าง ฉีดน้ำทำความสะอาดพื้นที่ก่อสร้างทุกวัน และห้ามทำการในยามวิกาล (18.00 – 06.00 น.) มาตรการลดฝุ่นละอองจากการเผาและกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ ควบคุมไม่ให้มีการเผาขยะและเผาในที่โล่ง ควบคุมดูแลกิจการผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ และรณรงค์ให้ผู้จำหน่ายอาหารปิ้งย่างริมบาทวิถีใช้เตาลดมลพิษ และมาตรการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและความถี่ในการทำความสะอาดที่สาธารณะ ได้แก่ เพิ่มการปลูกต้นไม้บริเวณริมถนนและเกาะกลาง และเพิ่มความถี่ในการล้างถนนและดูดฝุ่นถนน เป็นต้น

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...