ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ธรรมาภิบาล ย้อนกลับ
กสม. เสนอ “กลาโหม-คสช.” ให้ความร่วมมือตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของหน่วยงานทางทหาร
02 ก.พ. 2561

นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 4/2561 วันที่ 31 มกราคม 1561 ได้พิจารณารายงานผลการตรวจสอบ กรณีนักศึกษาจำนวน 3 คนร้องว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทหาร และเจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ขัดขวางไม่ให้เดินทางไปยังอุทยานราชภักดิ์ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และควบคุมตัวโดยไม่ได้กระทำความผิด ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ยุติเรื่อง แต่ให้เสนอแนะแนวทางในการป้องกันและแก้ไขการกระทำอันอาจละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังกระทรวงกลาโหมและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อพิจารณา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 247 (1) ต่อไป 

นายวัส กล่าวว่า คำร้องนี้สืบเนื่องจากนักศึกษา 3 คนได้ร้องเรียนต่อ กสม. เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2558 มีเนื้อหาสรุปว่า เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2558 ผู้ร้องทั้งสามกับพวกเดินทางด้วยรถไฟจากสถานีรถไฟธนบุรีเพื่อเดินทางไปยังอุทยานราชภักดิ์ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อทำกิจกรรม “นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง” เมื่อขบวนรถไฟมาถึงสถานีรถไฟบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ได้ถูกสกัดขบวนรถไฟ ก่อนที่จะตัดตู้โดยสารและปล่อยขบวนรถไฟที่เหลือเดินทางต่อไป พร้อมกับถูกควบคุมตัวไว้ที่สถานีรถไฟเป็นเวลา 5 ชั่วโมง จากนั้นได้ถูกนำตัวไปที่กองบัญชาการควบคุม กองพลทหารราบที่ 9 อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกัน 

ประธาน กสม. กล่าวว่า กสม. พิจารณาประเด็นการจำกัดเสรีภาพในการเดินทางของผู้ร้องทั้งสามกับพวก ได้ข้อเท็จจริงว่า อัยการศาลทหารกรุงเทพเป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้ร้องทั้งสามกับพวกรวม 6 คนเป็นจำเลยต่อศาลทหารกรุงเทพ ในข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ลงวันที่ 1 เมษายน 2558 ข้อ 12 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ประกอบกับการใช้มาตรการสกัดกั้นกลุ่มผู้ร้องเป็นผลจากการประเมินว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งมีความคิดเห็นแตกต่างจากกลุ่มผู้ร้อง ชุมนุมอยู่ที่อุทยานราชภักดิ์ หากปล่อยให้ผู้ร้องทั้งสามกับพวกเดินทางต่อไป อาจทำให้เกิดความวุ่นวายและเกิดการปะทะกันได้ ในชั้นนี้จึงเห็นว่าการจำกัดเสรีภาพในการเดินทาง เป็นการดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเพื่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน อันอยู่ภายใต้เงื่อนไขการจำกัดเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้กระทำได้

นายวัส กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นการควบคุมตัวผู้ร้องทั้งสามกับพวกไปที่กองบัญชาการควบคุม  กองพลทหารราบที่ 9 อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และให้ผู้ร้องลงลายมือในเอกสารเพื่อยอมรับข้อตกลงและได้มีการปล่อยตัวในวันเดียวกันนั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2558 เจ้าหน้าที่ทหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้เข้าพบพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจรถไฟธนบุรี เพื่อแจ้งความดำเนินคดีแก่ผู้ร้องทั้งสามกับพวกที่ร่วมเดินทางไปอุทยานราชภักดิ์ ในข้อหามั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปอันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 ข้อ 12 ซึ่งเป็นการดำเนินคดีแก่ผู้ร้องทั้งสามกับพวกภายหลังการถูกควบคุมตัว ดังนั้นการนำตัวผู้ร้องทั้งสามกับพวกไปทำการควบคุมตัวเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2558 จึงมิใช่เป็นไปเพื่อการดำเนินคดี และมิใช่การจับกุมหรือคุมขังที่จะต้องกระทำโดยอาศัยหมายของศาลหรือเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ 

“การจะพิจารณาประเด็นปัญหานี้ให้ได้ข้อยุติ จำเป็นต้องได้รับข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานจากหน่วยงานของทหารซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจ โดยสำนักงาน กสม. ได้ทำหนังสือสอบถามไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติถึง 2 ครั้ง แต่ไม่ได้รับการชี้แจงข้อเท็จจริงหรือแจ้งข้อขัดข้อง และแม้จะพิจารณาตรวจสอบไปตามพยานหลักฐานเท่าที่มีอยู่แล้วก็ยังมิอาจได้ข้อยุติที่ชัดเจนว่าการควบคุมตัวผู้ร้องทั้งสามกับพวก ผู้ถูกร้องได้ใช้อำนาจตามกฎหมายใด และไม่อาจพิจารณาได้ว่าผู้ถูกร้องได้กระทำการหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีควบคุมตัวผู้ร้องทั้งสามกับพวกหรือไม่” นายวัส ระบุ 

ประธาน กสม. กล่าวอีกว่า กสม. จึงมีมติเห็นควรเสนอแนะแนวทางในการป้องกันและแก้ไขการกระทำอันอาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังกระทรวงกลาโหมและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ดังนี้ 

(1) คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ลงวันที่ 1 เมษายน 2558 การใช้อำนาจของเจ้าพนักงานตามคำสั่งนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นไปอย่างเคร่งครัด เฉพาะเจาะจง และไม่ตีความให้นำไปสู่การกระทำใด ๆ ที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลจนเกินกว่าความจำเป็นหรือถึงขั้นละเมิดสิทธิมนุษยชน อันอาจถือเป็นการใช้อำนาจที่ไม่ได้สัดส่วนกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมตลอดถึงเปิดโอกาสให้สาธารณชนได้รับทราบเหตุผลความจำเป็นและผลการใช้อำนาจดังกล่าวอย่างชัดเจนด้วย

(2) กสม. มีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แต่การพิจารณาคำร้องนี้ไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานจากทุกฝ่ายได้ เนื่องจากไม่ได้รับการชี้แจงข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานจากหน่วยงานทางทหาร ประกอบกับเวลาล่วงผ่านมาพอสมควร กสม. จำเป็นต้องสรุปความเห็นโดยที่ไม่อาจให้ความเห็นอันเป็นแนวทางในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการกระทำของหน่วยงานทางทหารได้ ดังนั้นจึงขอให้กระทรวงกลาโหมและคณะรักษาความสงบแห่งชาติพิจารณาให้ความร่วมมือต่อกระบวนการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของ กสม. ในอนาคตต่อไป

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...