ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
สะเอียบเปิดโมเดลฟื้นต้นน้ำยม ปิดตำนานต้านเขื่อนแก่งเสือเต้นท่ามกลางผู้แทนกองทัพ กรมชลฯ กรมทรัพย์ฯ ผู้ว่าฯแพร่ ภายใต้การประสานของ ม.นเรศวร สู่แผนจัดการน้ำโดยชุมชน สะเอียบเสนอ 9 ข้อ โมเดลแบบบูรณาการฟื้น
11 ธ.ค. 2558

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้มีการจัดเวทีแบบมีส่วนร่วมของชาวสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ที่ศาลาวัดดอนชัย ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ มีส่วนราชการหลายหน่วยเข้าร่วม เช่น พันเอก เสวก เทียนสันต์ รองเสนาธิการมณฑลทหารบกที่ 35 พลตรี อินทรัตน์ ยอดบางเตย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสมเกียรติ ประจำวงศ์ ผอ.กองวางแผนโครงการขนาดใหญ่ กรมชลประทาน

          โดยมีผู้แทนจากจังหวัดแพร่ นายพิเชษฐ ไพบูลย์ศิริ ผู้ว่าฯแพร่ เข้าร่วมเป็นประธานเปิดและปิดเวทีระดมความคิดเห็นแนวทางพัฒนาแม่น้ำยมตอนบน มี นายเดช วัฒนชัยยิ่งเจริญ และคณะนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ร่วมเป็นวิทยากรและประสานงานในครั้งนี้
          กลุ่มต้านเขื่อนแก่งเสือเต้นทั้ง 3 ยุคที่มีการต่อสู้กับโครงการของรัฐมานานถึง 30 ปี เข้าร่วม ได้แก่ แกนนำต้านเขื่อนยุคแรก คือ นายชุม สะเอียบคง อดีตกำนันและนายก อบต.สะเอียบ แกนนำต้านเขื่อนยุค 2 คือ นายเส็ง ขวัญยืน อดีตกำนันตำบลสะเอียบ นายอุดม ศรีคำภา และแกนนำยุคปัจจุบัน คือ นายแต๋ง อินทรา นายก อบต.สะเอียบ และ นายสมมิ่ง เหมืองร้อง นายอภิชาต รุ่งเรือง ร่วมในเวทีดังกล่าวโดยพร้อมเพรียงกันที่ประชุม ภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นได้แสดงเจตจำนงชัดเจนในการยุติหรือยกเลิกโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนแม่ยม และเขื่อนแม่ยมตอนบนทั้งหมดแล้ว โดยยอมรับการ
ต่อต้านของชาวบ้านและร่วมกันเปิดเวทีระดมความคิดเห็นของชาวสะเอียบ จำนวน 10 หมู่บ้าน ในการฟื้นฟูลุ่มน้ำแม่ยมร่วมกัน ซึ่งมีแกนนำและชาวบ้านขึ้นพูดอย่างต่อเนื่อง
          นายอภิชาต รุ่งเรือง ส.อบต.หมู่ 9 ต.สะเอียบ ได้นำเสนอข้อมูลของเครือข่าย 9 แนวทาง คือ

  1. ต้องมีการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ อนุรักษ์ป่าไม้ ปลูกเสริม ร่วมกันป้องกันพิทักษ์เป็นการฟื้นฟูระบบนิเวศอย่างยั่งยืน เน้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนรัฐต้องสนับสนุนงบประมาณ

  2. ผลักดันแนวคิดการจัดการน้ำชุมชนให้เป็นแผนแม่บทจัดการน้ำแห่งชาติ

  3. แผนกักเก็บน้ำตามลำน้ำสาขาของแม่น้ำยมทั้ง 77 สาขา ผลักดันให้มีอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง และพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำยม

  4. เดินหน้าแผน หนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งเก็บน้ำ ในลุ่มน้ำยมมีอยู่ 96 ตำบลใช้งบประมาณไม่เกินตำบลละ 10 ล้านบาทเท่านั้น
  5. ขุดลอกตะกอนแม่น้ำให้แม่น้ำสามารถทำหน้าที่ได้ตามธรรมชาติ และสร้างทางเบี่ยงน้ำออกจากชุมชนที่น้ำท่วม

  6. ฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำ ขุดลอกคูคลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำกับหนองบึง ปรับปรุงถนนไม่ให้กีดขวางทางน้ำ ออกแบบบ้านเรือนที่มีความสูงพ้นน้ำ เมื่อมีน้ำหลากแนะนำเกษตรกรให้ปลูกพืชที่ใช้น้ำได้อย่างเหมาะสมกับปริมาณน้ำ หยุดยั้งโครงสร้างพื้นฐานที่กีดขวางทางน้ำ ใช้ประโยชน์พื้นที่ได้อย่างเหมาะสม เช่น การท่องเที่ยว การประมง ฯลฯ หาที่กักเก็บน้ำที่จะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่มีมากถึง 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี
  7. ระบบชลประทานในเขตชลประทานปัจจุบันจำนวน 1,117,465 ไร่มีคุณภาพต่ำ ให้มีการสร้างความรู้การใช้น้ำและประสิทธิภาพการจัดการน้ำให้เกิดการจัดการอย่างเหมาะสม

  8. พัฒนาระบบประปาในเมืองใหญ่ลุ่มน้ำยมให้เหมาะสม ในหลายเมืองขาดน้ำดิบในการทำประปา เช่น เมืองสุโขทัย ต้องพัฒนาให้มีระบบประปาอย่างเพียงพอ
9. สนับสนุนให้มีการทำเหมืองฝายตามภูมิปัญญาชาวบ้าน สะสมน้ำไว้ในไร่นาให้มากที่สุดสร้างประโยชน์ได้มากที่สุด และหยุดทำให้คนในลุ่มน้ำตกเป็นจำเลยของสังคมอีกต่อไป
          นายอภิชาต กล่าวว่า จากประสบการณ์กว่า 40 ปี ลุ่มน้ำที่มีเขื่อนใหญ่ก็มิได้หมดปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วม เช่น แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำน่าน ล้วนมีปัญหาเช่นเดียวกับแม่น้ำยมหลังจากนั้นได้เปิดโอกาสให้แกนนำต้านเขื่อนทุกรุ่นได้พูดถึงความพยายามต่อสู้ที่ผ่านมา ความสูญเสียเป็นของชาวบ้าน แต่วันนี้ถือว่าเป็นความสำคัญที่หลายฝ่ายยอมรับ
          ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า นายสมมิ่ง เหมืองร้อง แกนนำยุคปัจจุบันถึงกับน้ำตาไหลเมื่อพูดถึงความทุกข์ยากของประชาชนกำลังได้รับการยอมรับและนำไปสู่การแก้ไขร่วมกัน จากนั้นผู้แทนภาครัฐได้รับมอบแผนงานสะเอียบโมเดลจากตัวแทนชาวบ้านที่มาร่วมทั้ง 10 หมู่บ้าน ก่อนปิดการประชุม ซึ่ง นายเดช วัฒนชัยยิ่งเจริญ นักวิชาการ ม.นเรศวรกล่าวว่า นับว่าเป็นความสำเร็จของชาวบ้านที่ยืนหยัดการอนุรักษ์แม่น้ำและป่าไว้ได้ พร้อมทั้งการเข้ามาจับมือทำงานร่วมกัน และจะมีการประชุมขอข้อเสนอแนะของชาวสะเอียบอย่างต่อเนื่องก่อนที่จะมีการพัฒนาไปทีละขั้นตอน
          ด้านพลตรี อินทรัตน์ ยอดบางเตย กล่าวว่า ขณะนี้เป็นความเข้าใจกันทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและประชาชนในการเข้ามาร่วมแก้ปัญหาของการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เปลี่ยนแนวทางเป็น “สะเอียบโมเดล” ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมหรือฝนแล้งในแม่น้ำยม ถือเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาและนำไปสู่การปรองดองภาครัฐกับประชาชนไม่ใช่ศัตรูกัน

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...