ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
ดีอี หนุน ดีป้า ตั้งศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล ขับเคลื่อนงานก่อนสถาบัน IoT สร้างเสร็จ
13 ก.พ. 2561

รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ หนุน ดีป้า ตั้งศูนย์บริการเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Co-Lab) ในกรุงเทพฯ ตามแผนขับเคลื่อนสถาบันไอโอที (IoT Institute) ระยะแรก ดึงภาคเอกชนร่วมหารือแผนปฏิบัติงานผลักดันการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลของประเทศให้เห็นผลเป็นรูปธรรม

          ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า หลังจากคณะอนุกรรมการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล ได้มีมติในคราวประชุม ครั้งที่ 3/2560 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2560 เห็นชอบการดำเนินงานจัดตั้งศูนย์บริการเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Co-Lab) ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อเป็นการดำเนินงานขับเคลื่อนสถาบันไอโอที (IoT Institute) ระยะแรก ระหว่างการจัดเตรียมออกแบบและก่อสร้างสถาบันไอโอทีในพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลประเทศไทย (Digital Park Thailand)

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล พัฒนาเครื่องมือด้านไอโอที และระบบอัจฉริยะสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก ตลอดจนการส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้ทางเทคโนโลยีดิจิทัล แก่ผู้ประกอบการรายใหม่ที่ทำธุรกิจด้านไอโอที เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในการนำเทคโนโลยีด้านไอโอทีไปประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจ รวมถึงให้คำปรึกษาและจับคู่ธุรกิจระหว่างภาคธุรกิจและกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ (Startup) หรือ SMEs ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ในการพัฒนาระบบ IoT เพื่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล กระตุ้นการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ นั้น

          ล่าสุด กระทรวงดิจิทัลฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า (DEPA) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการจัดตั้งสถาบันไอโอที (IoT Institute) ในพื่นที่ Digital Park Thailand เชิญภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมหารือแผนปฏิบัติงานการจัดตั้งศูนย์บริการเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Co-Lab) ในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เพื่อให้หน่วยงานพันธมิตรที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนกิจกรรมสำคัญของศูนย์บริการเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลได้มีการหารือการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลของประเทศ รวมทั้งเพื่อความร่วมมือขับเคลื่อนการพัฒนาและการใช้งานไอโอทีให้เห็นผลเป็นรูปธรรม โดยมีตัวแทนจากภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมฯ หลายบริษัทอาทิ Ikigai Academy, IBM, Celestica, Cisco, Amazon, Microsoft, Alicloud, AIS, Nokia, True Corporation และ VISTEC เป็นต้น

โดย IoT (Internet of Things) หรือ อินเทอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่ง เป็นคำที่เรียกขานครั้งแรกโดย Mr.Kevin Ashton ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกเทคโนโลยีใหม่ๆ และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Auto-ID Center ที่ Massachusetts Institute of Technology (MIT) ในปี ค.ศ. 1999 โดยพื้นฐานของ IoT นั้นได้ถูกพัฒนาต่อยอดจากเทคโนโลยี RFID (Radio Frequency Identification) ซึ่งเป็นระบบที่นำเอาคลื่นวิทยุมาใช้ในการสื่อสารข้อมูลระหว่างอุปกรณ์สองชนิดแบบ ไร้สาย โดยเทคโนโลยีต่างๆ ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว

สิ่งเหล่านี้สามารถเชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตได้ ทำให้ IoT สามารถสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ได้จากเซ็นเซอร์ในการสื่อสารผ่านเครือข่ายถึงกัน ทั้งบนเทคโนโลยีของ LoRaWan และ NB-IoT ซึ่งเทคโนโลยี IoT จะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 โดยเป็นแหล่งที่มาสำคัญของข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนวางแผนธุรกิจ การแก้ไขปัญหาปัจจุบันภาครัฐและเอกชน การวางแผนอนาคตของประเทศ และเป็นฐานในการนำไปสู่นวัตกรรมและบริการใหม่อีกมากมาย

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า (depa) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการหารือการจัดตั้งสถาบันไอโอที (IoT : Internet of Things) บนพื้นที่ไทยแลนด์ ดิจิทัล พาร์ค ในเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งการออกแบบโครงสร้างของอาคารได้เสร็จสิ้นแล้ว การก่อสร้างอาคารสถาบันจะมี 3 เฟส ในงบประมาณ 1,600 ล้านบาท แบ่งเป็นการก่อสร้าง 6 อาคาร จำนวน 1,400 ล้านบาท งบประมาณที่ใช้ในการออกแบบอาคารตามมาตรฐาน 5% จากการก่อสร้าง จำนวน 200 ล้านบาท

โดยจะเริ่มก่อสร้างเฟสที่ 1 อาคาร 1 A พื้นที่ใช้สอย 4,500 ตร.ม.ในปี 2561-2563 ซึ่งเป็นโซนสำหรับออฟฟิศและโค-เวิร์คกิ้งสเปซ  โดยระหว่างรอการก่อสร้างสถาบันนั้น ดีป้าจะเร่งประชาสัมพันธ์และจัดกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจ รวมถึงการเดินทางไปเข้าร่วมโรดโชว์ในต่างประเทศ

ทั้งนี้ ดีป้าตั้งเป้าหมายจะสร้างสตาร์ทอัพ 100,000  ราย และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 500,000 ราย ในการปรับเปลี่ยนสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยล่าสุดได้จัดงาน “Asia Digital Expo 2018 : Digital Transformation” ภายใต้หัวข้อ ผู้ประกอบการยุค 4.0 ปรับตัวเพื่อเติบโตสู่ยุคดิจิทัล ที่รวบรวมบริการธุรกิจดิจิทัล เทคโนโลยีชั้นนำมาจัดแสดง รวมทั้งการออกบูธของผู้ประกอบการซอฟท์แวร์ ฮาร์ดแวร์กว่า 250 บริษัทและ 20 องค์กรจากภาครัฐและเอกชน

อีกทั้ง ขณะนี้มีบริษัทเอกชนด้านไอโอทีจำนวน 10 ราย สนใจเข้าร่วมในสถาบันนี้ และได้มีการประชุมเสนอแผนงานเข้ามา อาทิ ไอบีเอ็ม กูเกิล ไมโครซอฟต์ เอไอเอส กลุ่มทรูฯ เป็นต้น ซึ่งแต่ละบริษัทมีความสนใจเข้าร่วมต่างกัน บางรายต้องการร่วมลงทุน บางรายต้องการเข้ามาสร้างแพลตฟอร์ม โดยดีป้าได้แนะนำและเสนอว่าควรทำอย่างไร โดยให้แต่ละบริษัทเข้าหารือกันใหม่อีกครั้งในช่วงเดือนก.พ.61 ซึ่งคาดว่าจะสามารถสรุปแผนงานที่จะทำร่วมกันได้

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...