ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
ก.เกษตรกระตุ้นท้องถิ่นใช้ยางพาราเพิ่ม พร้อมชงพาณิชย์ตั้งกรรมการคุมราคา
19 มี.ค. 2561

กระทรวงเกษตรฯ รุกทำความเข้าใจ อปท. เพิ่มปริมาณการใช้ยางตามนโยบายรัฐบาล พร้อมเตีรยมชงพาณิชย์ตั้งกรรมการราคายาง หวังกำหนดราคารับซื้อ ขาย ป้องกันต่ำเกินทุน พร้อมหารือประเทศกลุ่มผู้ผลิตยางรายใหญ่หามาตรการเสริมแข็งราคา

นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ซึ่งจัดขึ้นโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการเน้นย้ำและชี้แจงหน่วยงานท้องถิ่น ได้แก่ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด สำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัด รับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดยเน้นให้เพิ่มสัดส่วนการใช้ในโครงการภาครัฐ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2560 ซึ่งขณะนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัดหลายจังหวัดเริ่มดำเนินการแล้ว เช่น สงขลา และบึงกาฬ

โดยการประชุมครั้งนี้ได้มีการแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินการกับ อบจ.จังหวัดอื่นๆ ด้วย ที่อาจจะยังติดขัดในเรื่องการใช้งบประมาณจาก 2 แหล่ง คือ เงินสะสมของ อบจ. และงบสำรองจ่าย 25% ก็มีการแจ้งเวียนระเบียบปฏิบัติในการใช้ที่ชัดเจนแล้ว รวมถึงคุณสมบัติของยางที่นำมาใช้กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกมาตรฐาน มอก. สำหรับยางแผ่นแล้ว ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐสามารถใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมปูพื้น/พื้นถนนต่างๆได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอาจส่งผลต่อต้นทุนที่สูงขึ้น แต่แลกกับความทนทาน อายุการใช้งานยาวนานขึ้น เกษตรได้รับรายได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ขณะเดียวกัน ยังถือโอกาสชี้แจงถึงแหล่งซื้อยางที่ก่อนหน้านี้มีความกังวลว่ามีน้อยและไม่เพียงพอนั้น ได้แจ้งว่าสามารถซื้อได้จากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) หรือสถาบันเกษตรกรที่กยท.รับรอง เพื่อที่จะได้อุดหนุนเกษตรกรโดยตรง ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันเกษตรกรที่กยท.รับรองกว่า 800 แห่ง กระจายอยู่ กว่า 60 จังหวัดทั่วประเทศ

นายกฤษฏา กล่าวว่า มาตรการต่างๆ ที่ออกมาขณะนี้ก็เพื่อทำให้ปริมาณความต้องการใช้อย่างทั้งในและนอกประเทศมีความสมดุลกันกับผลผลิตยางในแต่ละปี จากปัจจุบันปริมาณผลผลิตยางในประเทศ 4.5 ล้านตันต่อปี ขณะที่มีการส่งออกที่ประมาณ 3.8-4 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะต้องลดปริมาณผลผลิตยางลงอีก 1 ล้านตันต่อปี มาอยู่ที่ประมาณ 3.5 ล้านตันต่อปี โดยยังคงเป้าหมายที่จะไม่เพิ่มพื้นที่ปลูกยางพาราเพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ไม่มีมาตรการโค่นยาง เพียงแต่ให้ทางเลือกเกษตรกรในการปลูกพืชอื่นทดแทน หรือปลูกเสริม เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

รวมถึงมาตรการลดกรีดยางที่ขณะนี้กำลังพิจารณาแนวทางความเป็นไปได้โดยมี 2 แนวทางที่จะพิจารณา คือ ลดกรีดยาง 3 ล้านไร่ระยะเวลา 3 เดือน หรือจะลดกรีดยางแบบวันเว้นวันตลอดทั้งปี ซึ่งอยู่ระหว่างการคำนวณตัวเลขผลผลิตยางที่จะออกสู่ตลาดที่ชัดเจน รวมถึงงบประมาณรองรับในระหว่างที่เกษตรกรไม่สามารถกรีดยางได้ ทั้งนี้ มาตรการหยุดกรีดยางนั้นไทยจะไม่ทำเพียงประเทศเดียวแต่จะนำไปหารือกับผู้ผลิตยางรายใหญ่อีก 3 ประเทศ คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนามในเร็วๆ นี้  รวมถึงประเทศอินเดียซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เริ่มมียางออกสู่ตลาดโลกมากขึ้นด้วย หากทางอินเดียสนใจก็จะเชิญหารือร่วมกันด้วย

“สิ่งที่กระทรวงเกษตรฯ คิดและดำเนินการยังคงเน้นมาตรการที่จะต้องไม่กระทบกลไกตลาด ระบบเศรษฐกิจ และงบประมาณประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญและเน้นย้ำไม่ให้เอาตัวเลขราคาพืชผลมาใช้หาเสียงหรือสร้างผลงาน แล้วต้องทำอะไรผิดระบบงบประมาณ ทำลายเศรษฐกิจ แต่กระทรวงเกษตรฯจะดำเนินการอย่างถูกต้อง ให้ชาวสวนยางรวมถึงสินค้าเกษตรอื่นๆ ดำรงอยู่ได้ แม้ว่ามาตรการที่ออกมาจะไม่ส่งผลต่อราคาที่มีการเปลี่ยนแปลงในทันที แต่ราคาจะต้องมีเสถียรภาพและที่สำคัญอีกมาตรการที่กระทรวงเกษตรฯ จะหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ในการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติ ( พ.ร.บ.) ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ 2542 มาดูกลไกราคายางพาราได้ โดยกระทรวงเกษตรฯ จะเสนอให้ตั้งคณะกรรมการราคายาง ที่มีอำนาจนหน้าที่ดูต้นทุนการผลิตยาง ราคาเหมาะสมรับซื้อ และราคาส่งออก โดยองค์ประกอบของกรรมการประกอบด้วย ภาคราชการ เอกชน และชาวสวนยาง” นายกฤษฎา กล่าว

ด้านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า สำหรับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นนั้น ได้ให้ความสำคัญในด้านการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา เพื่อแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ รวมทั้งให้ส่วนราชการ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เร่งสำรวจความต้องการและพิจารณาจัดทำโครงการหรือกิจกรรมที่มีส่วนผสมของยางพารา โดยกรมฯ ได้กำหนดเป้าหมายการใช้ยางพารา ประมาณการไว้ที่ 74,000 ตัน โดยการคิดคำนวณจากข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 ข้อมูลเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และแผนพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 ปี (พ.ศ. 2561 - 2564)และกำลังสนับสนุนนโยบายเร่งด่วนนี้ให้เป็นรูปธรรม

โดยขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำโครงการก่อสร้าง/ปรับปรุงถนนที่มีส่วนผสมของยางพารา หรือสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่ใช้ยางพาราเป็นลำดับแรกอย่างน้อย 1 โครงการ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางรายย่อย และจากการสรุปผลการรายงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ได้รายงานว่า มีการใช้งบประมาณเงินสะสมแล้ว 5,473 ล้านบาท ใช้ยางพาราประมาณ 3,940 ตัน และทางองค์การบริหารส่วนจังหวัด ก็ได้รายงานว่า มีการใช้งบประมาณเงินสะสมแล้ว 44 จังหวัด คิดเป็น 1,872 ล้านบาท ใช้ยางพาราไป 1,173 ตัน มีองค์การบริหารส่วนจังหวัด รายงานว่าอยู่ระหว่างการปรับแผน 15 จังหวัด และมีองค์การบริหารส่วนจังหวัด รายงานว่าไม่มีโครงการที่ใช้ยางพารา 16 จังหวัด

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...