ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจชุมชน ย้อนกลับ
กสอ.จับมือ สสส. สร้างองค์กรแห่งความสุข เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของ SMEs เผยปี 60 เพิ่มผลิตภาพได้ถึงร้อยละ 7.8 คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 240 ล้านบาท
29 มี.ค. 2561

กรุงเทพฯ 27 มีนาคม 2561 – กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เผยผลสำเร็จการดำเนินโครงการส่งเสริมผลิตภาพและสุขภาวะองค์กรในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SHAP) ประจำปี 2560  สามารถเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ให้ SMEs 159 แห่ง ได้ถึงร้อยละ 7.8 คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 240 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าพัฒนาบุคลากรให้เป็นมืออาชีพ (SHAP Agents) จำนวน 196 คน เพื่อเป็นหน่วยส่งเสริมผลิตภาพและสุขภาวะองค์กรให้ SMEs โดยมีคนเป็นศูนย์กลาง เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตควบคู่กับการสร้างความสุขให้กับบุคลากรในสถานประกอบการ

          นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กสอ. ได้ดำเนินงานโครงการส่งเสริมผลิตภาพและสุขภาวะองค์กรในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs Happy and Productive Workplace) ชื่อย่อโครงการ SHAP ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีระยะเวลาดำเนินการระหว่างเดือนมิถุนายน 2559 ถึงเดือนมกราคม 2561 เพื่อสร้างความตระหนักให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้เห็นถึงความสำคัญของการเพิ่มผลิตภาพที่มีคนเป็นศูนย์กลาง สร้างรูปแบบ การดำเนินงานสำหรับการส่งเสริมองค์กรสุขภาวะที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพในการเพิ่มผลิตภาพควบคู่ไปกับการสร้างความสุขให้กับบุคลากรในสถานประกอบการ 

“การสร้างสุขภาวะองค์กร (Happy Workplace) เป็นกระบวนการพัฒนาคนในองค์กรอย่างมีเป้าหมายและยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ขององค์กร เพื่อให้องค์กรมีความสามารถและเตรียมพร้อม ต่อการเปลี่ยนแปลง นำพาองค์กรไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้การสร้างองค์กรแห่งความสุข ยังช่วยสนับสนุนให้เกิด SMEs 4.0 เพราะจะทำให้เกิดการพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง เช่น พัฒนาคุณภาพชีวิต  ของคนทำงานปรับเปลี่ยนระบบการบริหารจัดการ การพัฒนากระบวนการทำงาน การพัฒนาให้พนักงานร่วมคิดค้นนวัตกรรม ซึ่งการดำเนินโครงการฯ ที่ผ่านมาถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ โดยมี SMEs เข้าร่วมโครงการนำร่องจำนวน 159 แห่ง หลังจากการดำเนินงานมีค่าเฉลี่ยความสุข HAPPINOMETER เพิ่มขึ้นทุกมิติ จากร้อยละ 59.84 เป็นร้อยละ 62.00 โดยพบว่าพนักงานมีขวัญกำลังใจและมีส่วนร่วมในการพัฒนาองค์กรมากขึ้น มีบรรยากาศในการทำงานที่ดีขึ้น พนักงานในองค์กรทุ่มเทในการทำงานมากขึ้น มีการขาดงาน การลาป่วย การลากิจ และการลาออกลดน้อยลง ส่งผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (Productivity) ถึงร้อยละ 7.8 และมีมูลค่าผลตอบแทนที่สามารถคิดเป็นเงินได้กว่า 240 ล้านบาท (ข้อมูลสถิติจากที่ปรึกษาโครงการศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล) นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเจ้าหน้าที่กรมฯ เป็น SHAP Agents จำนวน 196 คน เพื่อทำหน้าที่จัดฝึกอบรมสร้างองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ : NEC โครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.) และโครงการพัฒนาและเชื่อมโยงเครือข่ายคลัสเตอร์อุตสาหกรรม เป็นต้น เพื่อพัฒนา               SMEs ให้เป็นองค์กรแห่งความสุข รวมทั้งพัฒนารูปแบบและเครื่องมือการพัฒนาผลิตภาพควบคู่กับการสร้างสุขภาวะองค์กรใน SMEs ทั้งนี้ กรมฯ มีแผนการดำเนินงานโครงการ SHAP ร่วมกับ สสส.อีก 114 แห่ง ตั้งแต่ปี 2561-2563 โดยหวังว่าจะเป็นส่วนสำคัญ ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมีความก้าวหน้าและเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป”นายกอบชัย กล่าว

ด้านนายสัมพันธ์ ศิลปะนาฏ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหาร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเสริมว่า การดำเนินโครงการได้มีการวินิจฉัยองค์กรโดยใช้เครื่องมือ HAPPINOMETER ซึ่งค่าความสุขเฉลี่ยทั้ง 159 แห่ง ก่อนดำเนินงานมีค่าเฉลี่ยร้อยละ 59.84 โดยมีมิติค่าความสุขต่ำสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ Happy Money, Happy Relax และ Happy Society ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ SHAP Agents ได้มีการส่งเสริมการสร้างสุขภาวะองค์กรในวิสาหกิจ จัดฝึกอบรมความรู้และแนวทางให้กับบุคลากร ของสถานประกอบการ จัดทำแผนงานส่งเสริมการสร้างสุขภาวะองค์กร ให้คำปรึกษาแนะนำ พร้อมทั้งติดตามประเมินผล คณะทำงานสร้างสุขในสถานประกอบการได้ดำเนินการทำกิจกรรมสร้างความสุข เพื่อให้เกิดสุขภาวะองค์กรและการสร้างความสุขในมิติต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับพนักงานในสถานประกอบการนั้น ๆ และได้เกิดกิจกรรมสร้างสุขที่หลากหลาย ได้แก่  1. Happy Body เป็นการส่งเสริมให้พนักงานของ SMEs  มีสุขภาพที่แข็งแรงทั้งกายและจิตใจ 2. Happy Heart เป็นการส่งเสริมให้พนักงานของ SMEs มีน้ำใจเอื้ออาทร   ต่อกันและกัน 3. Happy Relax เป็นการส่งเสริมให้พนักงานของ SMEs รู้จักผ่อนคลายต่อสิ่งต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิต หาวิธีผ่อนคลายเพื่อรักษาความสมดุลชีวิต 4.Happy Brain เป็นการส่งเสริมให้พนักงานของ SMEs มีการศึกษาหาความรู้พัฒนาตนเองตลอดเวลาเพื่อให้เป็นมืออาชีพและทักษะอื่น ๆ ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต 5. Happy Soul เป็นการส่งเสริมให้พนักงานของ SMEs มีคุณธรรม มีความซื่อสัตย์ มีความศรัทธาในศาสนา และมีศีลธรรม ในการดำเนินชีวิตนำความสุขสู่องค์กร 6. Happy Money เป็นการส่งเสริมให้พนักงานของ SMEs   มีเงินเก็บ รู้จักเก็บ รู้จักใช้ ไม่เป็นหนี้ ปลูกฝังนิสัยประหยัดอดออม ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นยึดหลักคำสอน การดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง 7.Happy Family เป็นการส่งเสริมให้พนักงานของ SMEs มีครอบครัวที่อบอุ่นและมั่นคง ให้ความสำคัญต่อครอบครัว 8. Happy Society เป็นการส่งเสริมให้พนักงานของ SMEs มีความรักสามัคคี เอื้อเฟื้อต่อชุมชนที่ตนทำงานและที่พักอาศัย 

นอกจากนี้ โครงการ SHAPได้ดำเนินการจัดประกวดคัดเลือกวิสาหกิจเพื่อเป็นองค์กรต้นแบบ ด้านการสร้างสุขภาวะองค์กรและพัฒนาผลิตภาพให้กับวิสาหกิจอื่น ๆ ต่อไป และส่งเสริมให้ SMEs นำหลักการสร้างสุขภาวะองค์กรไปประยุกต์ใช้ให้แพร่หลายมากขึ้น และได้วิสาหกิจที่ประสบความสำเร็จและสามารถ เป็นองค์กรต้นแบบและตัวอย่างที่ดี สามารถนำไปถ่ายทอดสู่วิสาหกิจอื่นๆ ต่อไป โดยมีการมอบรางวัลให้กับวิสาหกิจ จำนวน 39 แห่ง และเจ้าหน้าที่ SHAP Agents ได้ดำเนินการปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเท และเสียสละ จนบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการขับเคลื่อนและดำเนินงานต่อไป

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...