ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
กรมชลประทาน พร้อมเดินหน้า แผนการบริหารจัดการน้ำฯ ปี 61
04 มิ.ย. 2561

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้ย่างเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว กรมชลประทานได้จัดทำแผนการจัดสรรน้ำและเพาะปลูกพืชฤดูฝนในเขตชลประทานปี 2561 ทั่วประเทศ 16 ล้านไร่ เพื่อเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน ระหว่างวันที่ 1 พ.ค. - 31 ต.ค. 61 โดยมีเป้าหมายให้ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำต่างๆ มีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการใช้น้ำตลอดฤดูฝนปี 61 และเก็บกักไว้ใช้ในฤดูแล้งที่กำลังมาถึง ด้วยการวางแนวทางในการดำเนินการคือ การจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคและรักษาระบบนิเวศให้เพียงพอตลอดทั้งปี การส่งเสริมการปลูกพืชฤดูฝนให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ใช้น้ำชลประทานเสริมกรณีฝนทิ้งช่วงเท่านั้น การบริหารจัดการน้ำท่าให้มีประสิทธิภาพสูงสุดด้วยระบบและอาคารชลประทาน การเก็บกักน้ำในเขื่อนให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมที่เหมาะสมตามช่วงเวลา เพื่อความมั่นคงด้านการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศ โดยในพื้นที่ชลประทาน จะต้องมีน้ำกินน้ำใช้ตลอดทั้งปี

สำหรับแผนการเพาะปลูกฤดูกาลผลิตปี 2561/62 นั้น ได้มีการปรับปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปีในเขตชลประทานของลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน หลังประสบความสำเร็จในปีที่ผ่านมา โดยแยกเป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่ทางตอนบนของลุ่มเจ้าพระยา (ตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ขึ้นไป) ได้แก่ พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ มีพื้นที่รวม 382,000  ไร่ ได้ส่งน้ำเพื่อให้เกษตรกรเริ่มทำการเพาะปลูกข้าวนาปี ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 ส่วนพื้นที่ดอนที่มีอยู่ประมาณ 1.857 ล้านไร่ ให้เริ่มเพาะปลูกเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝน โดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก และเสริมด้วยน้ำท่าและน้ำชลประทาน

อีกส่วนคือพื้นที่ตอนล่างของลุ่มเจ้าพระยาใหญ่ (ตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ลงมา) ประกอบด้วยพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่ง ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง พื้นที่รวม 1.15 ล้านไร่ ได้ส่งน้ำให้เกษตรกรเริ่มทำการเพาะปลูกข้าวนาปีตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2561 สำหรับพื้นที่ดอนที่มีอยู่ประมาณ 4.27 ล้านไร่ ให้เริ่มเพาะปลูกเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝน โดยใช้น้ำฝนเป็นหลักและเสริมด้วยน้ำท่าและน้ำชลประทาน ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวให้เสร็จก่อนฤดูน้ำหลากจะมาถึง ก่อนจะใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเหล่านี้เป็นพื้นที่รับน้ำนองในช่วงฤดูน้ำหลาก ช่วยลดผลกระทบพื้นที่ตอนล่างได้เป็นอย่างมาก

ในส่วนของพื้นที่ชลประทานลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งใช้น้ำต้นทุนจากเขื่อนหลัก 2 แห่ง คือ เขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณนั้น ในพื้นที่ลุ่มต่ำที่มีอยู่ประมาณ 0.08 ล้านไร่ แนะนำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝน ส่วนพื้นที่ดอนที่มีอยู่ประมาณ 0.80 ล้านไร่ ปกติฤดูเพาะปลูกจะเริ่มเดือนกรกฎาคม คาดว่าปีนี้จะมีปริมาณน้ำเพียงพอ จึงแนะนำให้เพาะปลูกได้ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป   

สำหรับพื้นที่โครงการชลประทานอื่นๆ ทั่วประเทศ การเพาะปลูกพืชฤดูฝนจะดำเนินการตามมติคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) ของแต่ละพื้นที่ โดยในเขตภาคเหนือที่มีพื้นที่ชลประทานประมาณ 1.67 ล้านไร่ แนะนำให้เพาะปลูกได้ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม ภาคกลาง มีพื้นที่ชลประทานประมาณ 0.45 ล้านไร่ แนะนำให้เพาะปลูกเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีพื้นที่ชลประทานประมาณ 3.33 ล้านไร่ แยกเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีพื้นที่ชลประทานประมาณ 1.60 ล้านไร่ แนะนำให้เพาะปลูกได้ตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างมีพื้นที่ชลประทานประมาณ 1.73   ล้านไร่ แนะนำให้เพาะปลูกได้ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม ภาคตะวันออกที่มีพื้นที่ชลประทานประมาณ 1.31 ล้านไร่ แนะนำให้เพาะปลูกได้ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม ภาคใต้ที่มีพื้นที่ชลประทานประมาณ 0.699 ล้านไร่ แยกเป็นภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีพื้นที่ชลประทานประมาณ 0.029 ล้านไร่ แนะนำให้เพาะปลูกได้ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม ภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีพื้นที่ชลประทานประมาณ 0.67 ล้านไร่ แนะนำให้เพาะปลูกได้ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป

ทั้งนี้ ในส่วนของพื้นที่เพาะปลูกนอกเขตชลประทาน แนะนำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกตามฤดูกาลปกติ เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝนตกชุก สำหรับพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออกที่ฤดูฝนจะแตกต่างจากภาคอื่น แนะนำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกตามฤดูกาลปกติประมาณเดือนตุลาคม อย่างไรก็ตาม หากพบว่าพื้นที่ใดประสบปัญหาเรื่องน้ำ ผู้นำท้องถิ่นสามารถประสานขอความช่วยเหลือไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ได้ตลอดเวลา หรือโทรศัพท์แจ้งขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนกรมชลประทานหมายเลข 1460 เจ้าหน้าที่ชลประทานยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาเรื่องน้ำด้วยความเต็มใจ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...