ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
อัด 1.76 พันล้าน สร้างฉาง-ไซโล ผุดกองทุน 2 แสนล้านอุ้มเกษตรกร
28 มิ.ย. 2561

“กฤษฎา” รมว.เกษตรและสหกรณ์ อัดงบ 1,768 ล้านบาท สร้างฉาง-ไซโลชะลอผลผลิตเกษตร ออกสู่ตลาด 900,000 ตัน หนุนแปรรูปสินค้าเกษตรหวังเพิ่มมูลค่า

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดสรรงบประมาณ 1,768.339 ล้านบาท ให้สหกรณ์ให้ปฏิรูปภาคการเกษตรอุดหนุนการก่อสร้างอุปกรณ์การตลาด อาทิ ฉาง ไซโล เครื่องอบ ลานตาก เป็นต้น และเครื่องมือแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรรองรับผลผลิตการเกษตรในพื้นที่ต่างๆ เพื่อเก็บชะลอไว้ไม่ให้ออกสู่ตลาดพร้อมกัน โดยส่วนหนึ่งนำไปสร้างอุปกรณ์แปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าทางการเกษตร เน้นพืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และยางพารา โดยตั้งเป้าหมายรองรับผลผลิตการเกษตรไม่น้อยกว่า 900,000 ตัน

การดำเนินการประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการจัดเก็บพืชผลทางการเกษตร หรือโครงการแก้มลิง วงเงิน 1,017 ล้านบาท ให้กับสหกรณ์ใน 41 จังหวัด 146 สหกรณ์ จัดสร้างโกดัง ฉาง ลานตาก เพื่อเก็บชะลอผลผลิตข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง จำนวน 700,000 ตัน คาดว่าเกษตรกรจะได้รับประโยชน์ 250,000 ราย มีรายได้เพิ่มขึ้นตันละ 200-500 บาท 2. โครงการรวบรวมและแปรรูปยางพารา วงเงิน 340.429 ล้านบาท ให้สหกรณ์ 62 แห่ง ในพื้นที่ 24 จังหวัด เก็บชะลอและแปรรูปผลผลิตยางพารา 150,000 ตัน เพื่อเพิ่มมูลค่า คาดว่าเกษตรกรได้รับประโยชน์ 42,000 ราย มีรายได้เพิ่มขึ้นรายละ 1,190 บาท

และ 3.โครงการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร วงเงิน 410.91 ล้านบาท ให้สหกรณ์ 99 แห่ง ใน 42 จังหวัด สร้างอุปกรณ์แปรรูปและตรวจสอบคุณภาพผลผลิต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ โรงสีข้าว ห้องเย็น เครื่องชั่ง เครื่องคัดเกรด อาคารแปรรูป เน้นสินค้าเกษตร 9 ชนิด ได้แก่ ข้าว ผัก ผลไม้ สมุนไพร ปาล์มน้ำมัน กาแฟ โคนม ประมง ปศุสัตว์ และมันสำปะหลัง จำนวน 56,000 ตัน ช่วยให้เกษตรกรได้รับประโยชน์ 300,000 ราย และช่วยเพิ่มปริมาณธุรกิจสหกรณ์เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 3%

ขณะนี้การดำเนินโครงการอยู่ในขั้นตอนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างซึ่งสหกรณ์หาผู้รับจ้างได้แล้วกว่า 91% คาดว่าจะเซ็นสัญญาได้ครบทุกแห่งภายในเดือนมิ.ย. 2561 หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนของการกำกับการก่อสร้าง จัดซื้ออุปกรณ์ และตรวจจับ ซึ่งกำหนดให้แล้วเสร็จภายในเดือนก.ย. 2561 โดยสหกรณ์จะต้องควบคุมการก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบและรายการที่ขอสนับสนุน ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์จะส่งเจ้าหน้าที่ไปกำกับดูแลตลอดช่วงของการก่อสร้างอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามรายการที่กำหนดไว้

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างเดือนพ.ค.-ก.ย. 2561 จะจัดอบรมถ่ายทอดความรู้ในการใช้อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ที่ถูกต้องให้กับฝ่ายจัดการสหกรณ์และจ้าหน้าที่ เพื่อใช้สำหรับการรวบรวมผลผลิต เก็บรักษา รอจำหน่าย การแปรรูป การพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และการตลาด โดยคาดว่าอุปกรณ์การตลาดและเครื่องมือต่างๆ จะเสร็จทันรองรับผลผลิตตั้งแต่เดือนต.ค. 2561 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดตั้งศูนย์อำนวยเฉพาะกิจและติดตามนโยบายไทยนิยมยั่งยืนในระดับจังหวัดและบริหารในรูปแบบคณะกรรมการ ที่มีผู้ตรวจราชการกรมฯ ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าศูนย์ในเขตจังหวัดที่รับผิดชอบ เพื่อติดตามและรายงานความก้าวหน้าของสหกรณ์ในแต่ละพื้นที่กลับมายังส่วนกลาง และกำกับดูแลการดำเนินการโครงการฯ นี้ อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งได้กำชับให้สหกรณ์ทุกแห่งการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างด้วยความโปร่งใส เป็นไปตามระเบียบขั้นตอน เพื่อให้โครงการนี้เกิดประโยชน์แก่สมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ อย่างทั่วถึง และเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาปัญหาผลผลิตการเกษตรล้นตลาดและราคาตกต่ำได้ในที่สุด

นอกจากนี้ นายกฤษฎา ยั เปิดเผยว่า เตรียมหารือกับข้าราชการและเกษตรกรเพื่อจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเกษตรกร ภายใต้ทุนประเดิม 200,000 ล้านบาท โดยจะเป็นกองทุนเพื่อแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรทุกสาขาอย่างยั่งยืนและอุดหนุนภาคเกษตรในรูปแบบต่างๆ โดยออกเป็นกฎหมายหรือระเบียบกำหนดให้กองทุนเป็นกลไกช่วยเหลือเกษตรกรที่ต้องการหลักประกัน หรือความคุ้มครองในการประกอบอาชีพทางการเกษตร ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขคำแนะนำหรือข้อกำหนด

ทั้งนี้ เกษตรกรที่จะได้รับความคุ้มครองจากกองทุนช่วยเหลือเกษตรกรดังกล่าวจะต้องปลูกพืช, เลี้ยงสัตว์ หรือทำประมงตามแผนการผลิตที่กระทรวงเกษตรฯ หรือหน่วยงานรัฐกำหนด ทั้งเรื่องพื้นที่, ชนิด, ประเภท, จำนวนแผนการผลิต, คุณสมบัติของพื้นที่ (โซนนิง), ความต้องการของตลาด, การรวมกลุ่มทำการเกษตรเกษตรแปลงใหญ่, การเป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรหรือสมาชิกสถาบันเกษตรกรที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล และต้องลดการใช้สารเคมีในการทำการเกษตร เป็นต้น

“การบริหารจัดการกองทุนนี้ จะดำเนินการพร้อมกับการวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกหรือความต้องการของตลาด สามารถแก้ไขปัญหาผลผลิตล้นตลาด และควบคุมคุณภาพผลผลิตได้ รวมทั้งจะแต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนขึ้นมาทำหน้าที่วางมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรเหมือนกับการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีวิธีการดูแลรักษาค่าเงินบาทหรือการรักษาราคาอ้อยและน้ำตาลตามกฎหมายอ้อยและน้ำตาล เป็นต้น โดยหากเกษตรกรรายใดที่เป็นสมาชิกกองทุนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อกำหนดดังกล่าวข้างต้นก็จะไม่ได้รับการช่วยเหลือคุ้มครองจากกองทุนฯ” นายกฤษฎา กล่าว

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...