ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
ไฟเขียวแผนประมูลอู่ตะเภา 2 แสนล. คาดได้เอกชนผู้ลงทุนเดือน ม.ค.ปี 62
28 มิ.ย. 2561

กพอ.อนุมัติแผนประมูลสนามบินอู่ตะเภา – เมืองการบิน 2 แสนล้าน เตรียมประกาศเชิญชวนนักลงทุน ต.ค.นี้ คาดได้เอกชนผู้ลงทุนเดือน ม.ค.ปีหน้า ชี้ต่างชาติสนใจลงทุน หลังจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทะลุ 2 ล้านคนในปีนี้

ทั้งนี้ จาก การประชุมของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. หลังจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยว่า มีการรายงานความคืบหน้าโครงการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งคืบหน้าไปมาก โดยล่าสุดออกประกาศเชิญชวนร่วมลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่มีกำหนดเสร็จในปี 2566 ส่วนโครงการที่ต้องผลักดันให้เสร็จพร้อมกันคือ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกวงเงินลงทุน 2 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้กองทัพเรือในฐานะเจ้าของพื้นที่ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาทำมาสเตอร์แพลนสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน จะเสร็จเดือน ก.ค.นี้ จากนั้นจะทดสอบความสนใจของนักลงทุนและออกทีโออาร์ และประมูลในเดือน ต.ค. ศกเดียวกัน และคาดว่าจะประกาศผลคัดเลือกเอกชนผู้ลงทุนในโครงการนี้ในเดือน ม.ค.2562

“สนามบินอู่ตะเภาจะต้องแข่งขันกับสนามบินอื่นที่สร้างใหม่ เช่น สนามบินแห่งใหม่ของปักกิ่ง ที่รับผู้โดยสารได้ 100 ล้านคน หรืออาคารผู้โดยสารที่ 4 ของสิงคโปร์ ซึ่งสนามบินอู่ตะเภาได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากตามจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น โดยทีโออาร์จะคล้ายกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่ผู้ลงทุนต้องยื่นข้อเสนอด้านเทคนิคและการเงิน ซึ่งคาดว่ารัฐบาลจะไม่ต้องใส่เงินลงทุนแต่ผู้ลงทุนต้องจ่ายผลตอบแทนให้รัฐ” นายคณิศ กล่าว

พล.ร.อ.โสภณ วัฒนมงคล ประธานที่ปรึกษากองทัพเรือ กล่าวว่า ทีโออาร์สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เริ่มต้นจากพื้นที่สนามบินอู่ตะเภาขนาด 6,500 ไร่ และเขตชั้นในของมหานครการบินภาคตะวันออกในพื้นที่โดยรอบสนามบินอู่ตะเภา 10 กิโลเมตร โดยร่างทีโออาร์จะกำหนดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน (PPP) ในโครงการหลักของสนามบินอู่ตะเภาประกอบไปด้วย ศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) เขตการค้าปลอดภาษี (Free Trade Zone) อาคารผู้โดยสารขนาดใหญ่ รันเวย์แห่งที่ 2 อาคารขนถ่ายสินค้า (Business Cargo) โดยผลการศึกษาที่แน่นอนว่าจะเปิด PPP ในโครงการใดและในลักษณะใดภายในเดือน ก.ค.นี้ และจะทราบว่าโครงการใดจะเป็นการร่วมทุน PPP รัฐบาลลงทุนหรือให้เอกชนลงทุน

นายโชคชัย ปัญญายงค์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านโครงสร้างพื้นฐาน สกพอ.กล่าวว่า สนามบินอู่ตะเภามีการเติบโตสูง โดยปี 2558 ที่มีผู้โดยสาร 2.4 แสนคน มาถึงปี 2560 ทีผู้โดยสารเพิ่มเป็น 1.4 ล้านคน ขณะที่ในปี 2561 ตัวเลขผู้โดยสารในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.มีผู้โดยสารใช้บริการสนามบินอู่ตะเภากว่า 4.2 แสนคน และคาดว่าในปีนี้ผู้โดยสารที่จะใช้บริการที่สนามบินอู่ตะเภาจะเพิ่มเป็นมากกว่า 2 ล้านคน ซึ่งจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นและความน่าสนใจของอีอีซีทำให้โครงการสนามบินอู่ตะเภาได้รับความสนใจจากสหรัฐ จีน ยุโรป และเอเชีย ตามที่แอร์เอเชียได้มีการเสนอความสนใจในการลงทุน

นอกจากนี้ มีรายงานข่าวเปิดเผยด้วยว่า ที่ประชุมฯ ได้รับทราบการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญภายใต้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอีอีซีได้แก้มีการเปลี่ยนชื่อจากคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ) เป็นคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) มีคณะกรรมการเพิ่มเป็น 28 คน จากเดิม 18 คน ภายใต้คำสั่งคสช. 2/2560 ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธาน รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง 14 คน หัวหน้าหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง 3 คน ประธานสถาบันเอกชนทั้ง 3 สถาบัน ผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คนและ เลขาธิการคณะกรรมการ และมีการเปลี่ยนชื่อสำนักงานจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ) เป็น คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)

รวมทั้งเห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน รวมทั้งเห็นชอบในหลักการการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ และให้ กบอ. พิจารณาแล้วนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบความก้าวหน้าการพัฒนาเมืองใหม่อัจฉริยะน่าอยู่ และมาตรการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งเมืองใหม่อัจฉริยะน่าอยู่ต้องมี 6 องค์ประกอบ คือ ชุมชนอัจฉริยะสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะการคมนาคมขนส่งอัจฉริยะพลังงานอัจฉริยะเศรษฐกิจอัจฉริยะการบริหารจัดการอัจฉริยะ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...