ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
เกษตรกรรมแบบยั่งยืน ความหมายและรูปแบบ .... (ตอนที่ 3)
02 ก.ค. 2561

2 ตอนแรก โดยตอนแรกได้กล่าวถึงความหมายยของระบบเกษตรกรรมแบบยั่งยืน ส่วนตอนที่ 2 เป็นเรื่องของรูปแบบการทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืน ซึ่งจะมีด้วยกันถึง 9 รูปแบบ และได้นำเสนอไปแล้ว 4 รูปแบบ ในตอนนี้จะข้อกล่าวถึงรูปแบบที่ 5-7

............................................................................................

 

5. เกษตรธรรมชาติ (Natural farming)

เกษตรธรรมชาติเป็นระบบเกษตรกรรมที่คำนึงถึงระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมเป็นสำคัญ และพยายามเข้าใจกระบวนการทำงานของธรรมชาติอย่างแท้จริง โดยมองว่าธรรมชาติได้จัดทุกสิ่งทุกอย่างไว้อย่างสมดุลดีแล้ว เราจึงควรให้ความสำคัญกับธรรมชาติและใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างเต็มที่โดยรบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุด พร้อมไปกับหาทางอนุรักษ์ธรรมชาตินั้นไว้ให้คงอยู่ตลอดไป

แนวคิดการทำเกษตรธรรมชาติที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย รวมถึงแนวคิดของมาซาโนบุ ฟูกูโอกะ ที่เป็นผู้เขียนหนังสือปฏิวัติด้วยฟางเส้นเดียว หรือแนวคิดเกษตรธรรมชาติของโมกิจิ โอกาดะ ผู้ให้กำเนิดกลุ่มเกษตรธรรมชาติเอ็มโอเอ (MOA) และแนวคิดเกษตรธรรมชาติคิวเซ ที่แยกออกมาจากกลุ่มเอ็มโอเอ ตลอดจนแนวคิดเกษตรธรรมชาติเกาหลีของ ฮาน คิว โช เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่แนวคิดของเกษตรธรรมชาติจะมีหลักการสำคัญที่คล้ายคลึงกันคือ การเลียนแบบธรรมชาติของป่าที่สมบูรณ์และใช้พลังจากสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติตามที่เป็น โดยจะรบกวนหรือแทรกแซงการทำงานของธรรมชาติให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น มีการให้ความสำคัญกับดินเป็นอันดับแรก และเน้นการปรับปรุงดินให้มีพลังสำหรับการเพาะปลูก เหมือนดินในป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ เป็นการนำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นวิธีการที่ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสภาพแวดล้อม ไม่เป็นอันตรายต่อเกษตรกรและผู้บริโภค สามารถให้ผลผลิตที่มีทั้งปริมาณและคุณภาพ หรือเป็นระบบเกษตรกรรมที่มีความยั่งยืนมั่นคงในระยะยาว

ในการทำเกษตรกรรมธรรมชาติ จะมีการจัดระบบการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ที่สอดประสานกับธรรมชาติอย่างเกื้อกูลซึ่งกันและกัน งดเว้นกิจกรรมที่ไม่จำเป็นหลักๆ ได้แก่ ไม่มีการพรวนดิน ไม่กำจัดวัชพืช ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เป็นปฏิบัติการทางการเกษตรที่คำนึงถึง ดิน พืช และแมลง ไปพร้อมๆ กัน คือ มีการปรับปรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ ปลูกพืชตระกูลถั่วหรือใช้เศษซากพืชคลุมดิน ปลูกพืชหลากหลายชนิด และอาศัยการควบคุมโรคแมลงศัตรูพืชด้วยกลไกการควบคุมกันเองของสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ ทำให้มีการอนุรักษ์แมลงที่มีประโยชน์พร้อมไปด้วยกัน จึงเป็นการปลูกพืชในสภาพแวดล้อมที่มีความสมดุลทางนิเวศวิทยา

6. เกษตรทฤษฏีใหม่

ระบบเกษตรทฤษฎีใหม่เป็นแนวทางการทำการเกษตรแบบพึ่งตนเองที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ได้พระราชทานให้เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่แตก

แนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่เป็นวิธีทำการเกษตรที่ทำได้ง่ายไม่ยุ่งยากซับซ้อน สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่และระบบนิเวศโดยรวมของธรรมชาติ มีการหมุนเวียนการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ได้แก่ ที่ดิน แรงงาน ทุน ปัจจัยการผลิต หรือเศษเหลือใช้จากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หนึ่ง เพื่อให้เกษตรกรมีอาหารที่ผลิตเองไว้บริโภคอย่างพอเพียงตามอัตภาพ พอมีพอกิน ไม่อดอยาก เหมาะสำหรับพื้นที่ขนาดเล็กประมาณ 10-20 ไร่ เน้นให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรเพื่อเลี้ยงตนเองได้แบบค่อยเป็นค่อยไปตามกำลัง ทำกิจกรรมการเกษตรหลายอย่างเพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างเต็มที่ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน และสร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศ สามารถปรับใช้กับพื้นที่ขนาดใหญ่ได้ โดยจะเน้นการจัดการแหล่งน้ำและจัดสรรแบ่งส่วนพื้นที่ทำการเกษตรอย่างเหมาะสม มีการแบ่งพื้นที่ระหว่าง แหล่งน้ำ/นาข้าว/พืชผสมผสาน/โครงสร้างพื้นฐานและที่พักอาศัย ในสัดส่วน 30/30/30/10

วิธีการของเกษตรทฤษฎีใหม่นี้เป็นวิธีการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม และเป็นฐานรากของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่าน การปลูกป่า 3 อย่างเพื่อประโยชน์ 4 อย่าง คือ ป่าไม้ใช้สอยที่เป็นไม้โตเร็วสำหรับใช้ในครัวเรือนเพื่อสร้างสิ่งต่างๆ และเป็นพลังงานหรือไม้ฟืน ป่าไม้กินได้พวกไม้ผลและพืชผักต่างๆ ที่เป็นอาหารและสมุนไพรรักษาโรค ป่าไม้เศรษฐกิจหรือไม้ใหญ่ที่ปลูกไว้เพื่อขายเมื่อโต ซึ่งให้ประโยชน์ พออยู่ พอกิน พอใช้ และพอร่มเย็น หรือเป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศและช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ

การปลูกพืชที่หลากหลายอย่างเป็นระบบจะช่วยสร้างสมดุลของระบบนิเวศในบริเวณพื้นที่เพาะปลูก ช่วยปกป้องผิวดินให้ชุ่มชื้น ดูดซับน้ำฝน และค่อยๆ ปลดปล่อยความชื้นให้กับพืชและบริเวณโดยรอบ สร้างความสมบูรณ์และก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพภายในบริเวณพื้นที่ป่าปลูก และหากทำทั้งหมดนี้จะสามารถช่วยแก้ปัญหาความเป็นอยู่ที่ยากจนของเกษตรกร ที่จะส่งผลเป็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม หากสามารถสร้างระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาตนเองได้แม้เพียงหนึ่งในสี่ของระบบเศรษฐกิจทั้งหมด ก็จะสามารถทำให้ประเทศชาติมีความมั่นคงมากกว่าระบบเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ต้องเข้าใจว่าแนวทางเกษตรทฤษฏีใหม่เป็นส่วนหนึ่งของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ให้ความสำคัญกับการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการอาหารในครัวเรือน และทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งปัจจัยการผลิตจากภายนอก ดังนั้น การส่งเสริมการทำเกษตรทฤษฏีใหม่ที่ดำเนินพร้อมไปกับการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีการเกษตร หรือนำทฤษฏีใหม่ไปใช้แค่เพียงรูปแบบโดยไม่เข้าใจเนื้อหาและปรัชญาที่อยู่เบื้องหลังเกษตรทฤษฏีใหม่นี้ จะนำไปสู่แนวทางการดำเนินงานที่ไม่จัดเป็นเกษตรกรรมยั่งยืนตามความหมายและหลักการที่วางไว้

7. เกษตรกรรมประณีต

เกษตรกรรมประณีตเป็นรูปแบบเกษตรกรรมทางรอดที่เกิดจากการการระดมความคิดของปราชญ์ชาวบ้านภาคอีสาน 12 ท่าน ร่วมกับนักวิจัยระดับชาวบ้านท่านอื่นๆ เพื่อตอบคำถามว่าต้องมีพื้นที่เท่าไรจึงจะทำเกษตรกรรมเลี้ยงชีวิตได้อย่างพออยู่พอกิน สามารถเลี้ยงตนเองและคนในครอบครัวได้ และต้องจัดการพื้นที่อย่างไรให้สามารถเลี้ยงตัวเองและปลดภาระหนี้ที่มีอยู่ได้ คำตอบที่ได้จากการระดมสมอง คือ มีพื้นที่ 1 ไร่ก็สามารถจะอยู่ได้อย่างพอเพียง การทำเกษตรประณีตจึงเป็นการใช้ประโยชน์จากที่ดิน 1 ไร่ให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ปัญหาให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พอมีพอกิน ปลดภาระหนี้สิน ปลูกไม้ยืนต้นเพื่อเป็นบำนาญชีวิตโดยมีหลักการสำคัญได้แก่ การออมน้ำ ออมดิน ออมต้นไม้ ออมสัตว์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการทำเกษตรในพื้นที่ 1 ไร่อย่างมีความยั่งยืนและเกิดการเชื่อมโยงเป็นระบบนิเวศที่เกื้อกูล

การทำเกษตรประณีตเพื่อการพึ่งพาตนเองและปลดหนี้ จะแบ่งออกเป็นส่วนที่ทำเพื่อบริโภคเอง และส่วนที่ทำเพื่อจำหน่ายทั้งระยะสั้นและระยะยาว พื้นที่เกษตรประณีตจะมีการปลูกผักไว้กินเองและเพื่อขาย โดยมากราคาผักจะไม่สูง จำหน่ายเป็นช่วงๆ ตามฤดูกาล ใช้ระยะเวลาสั้น ส่วนการเลี้ยงสัตว์มีทั้งในส่วนบริโภคเองและจำหน่ายเช่นกัน เช่น ไก่เนื้อ ไก่ไข่ หมู วัว ซึ่งจะช่วยให้ออมเงินได้มากกว่าการขายผักเพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ ยังมีไม้ยืนต้นที่ให้ผลผลิตต่อเนื่องและในระยะยาวและสามารถนำมาแปรรูปได้ สิ่งเหล่านี้จะสร้างรายได้ ช่วยปลดหนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป และลดหรือเลิกรายจ่ายที่ไม่จำ สิ่งที่สำคัญคือ ต้องทำหลายอย่างในพื้นที่ 1 ไร่ ไม่ทำเชิงเดี่ยว ทำปุ๋ยใช้เอง ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีหรือสารเคมี ใช้วิธีธรรมชาติในการไล่แมลง เก็บเมล็ดพันธุ์เอง ไม่ซื้อ ฯลฯ ผสมผสานความรู้ในการทำเกษตรกรรม 1 ไร่  ออกแบบผังการวางกิจกรรมต่างๆ ให้สอดคล้องและมีการเกื้อกูลกันในระบบ ซึ่งรูปแบบจะไม่ตายตัว แต่จะอิงหลักการออมข้างต้น และพัฒนาเทคนิคความรู้กิจกรรมการเกษตรในพื้นที่อยู่ตลอด ต้องมีหลักคิดในการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ลดรายจ่าย สร้างปัจจัยการดำรงชีวิตในพื้นที่ของตนเองให้ได้ เพื่อลดการพึ่งพิงจากปัจจัยภายนอกที่ทำให้มีค่าใช้จ่ายหรือส่งผลให้กลับไปสร้างหนี้

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...