ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
สถ.ปาฐกถาพิเศษและมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ
19 ก.ค. 2561

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2561 เวลา 11.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ปาฐกถาพิเศษ “จากบทเรียนอาหารกลางวัน สู่การพัฒนาเด็กไทยแก้มใสที่ยั่งยืน” และมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ“ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบเด็กไทยแก้มใส ถวายเจ้าฟ้านักโภชนาการ” ณ ห้องประชุม 201 อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  

นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า รูปแบบการจัดการอาหารในโรงเรียนของศูนย์เรียนรู้ต้นแบบเด็กไทยแก้มใส ที่ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เนคเทค และภาคีเครือข่าย เป็นการจัดการที่ตอบโจทย์อาหารในโรงเรียนให้มีคุณภาพ โดยดึงการมีส่วนร่วมจากคนในโรงเรียนและในชุมชนเพื่อนำวัตถุดิบในพื้นที่มาใช้จัดบริการอาหารแก่เด็กนักเรียน ซึ่งเป็นลูกหลานของคนในชุมชน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีผ่านโปรแกรม Thai school lunch มาช่วยออกแบบเมนูอาหารกลางวัน โดยรวบรวมวัตถุดิบที่หลากหลายตามบริบทแต่ละพื้นที่ เพื่อช่วยกำกับดูแลให้ทุกมื้ออาหารของเด็กในโรงเรียนได้รับคุณค่าทางโภชนาการที่เพียงพอตามเกณฑ์มาตรฐาน ที่ช่วยให้เด็กๆ ได้รับสารอาหารครบถ้วน จำเป็นต่อการเจริญเติบโต การพัฒนาทางสมอง และสติปัญญา

สำหรับการจัดการอาหารในโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดูแลคุณค่าทางโภชนาการของอาหารกลางวันเด็กนักเรียน และป้องกันผู้ไม่สุจริตอาศัยช่องว่างต่างๆ ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง แสวงหาผลประโยชน์จากงบประมาณค่าอาหารกลางวัน กรมฯ ได้แจ้งกำชับไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อช่วยกำชับมาตรการการป้องกันการทุจริตงบประมาณค่าอาหารกลางวันของเด็กนักเรียน และสิ่งที่สำคัญ คือ การจัดการอาหารกลางวันในโรงเรียนให้ได้คุณภาพ ซึ่งมาตรการที่ได้สั่งการให้จังหวัดกำกับดูแลและให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำไปถือปฏิบัติ โดยยึด 4 หลัก ดังนี้ 

1. เมนูอาหารกลางวันต้องได้คุณภาพ โดยให้พิจารณานำระบบแนะนำสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติ หรือ Thai School Lunch เพื่อเป็นตัวช่วยให้กับโรงเรียนได้เมนูอาหารที่ได้คุณค่าทางโภชนาการ วัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหารกลางวันต้องมีความปลอดภัย จึงขอให้เน้นการเชื่อมโยงแหล่งวัตถุดิบในชุมชน เพื่อเกิดการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง กรรมการสถานศึกษา และผู้นำชุมชนในการจัดหาอาหารที่ปลอดภัยให้กับลูกหลานของตัวเอง

2. ด้านความโปร่งใสและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการป้องกันการทุจริตงบประมาณค่าอาหารกลางวัน จึงให้มีการปิดประกาศรายการอาหาร และจำนวนหรือปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ประกอบอาหารในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ รวมถึงสารอาหารเฉลี่ยรายสัปดาห์ที่เด็กๆ จะได้รับตามเมนูที่จัดเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐาน เพื่อให้ผู้ปกครองและนักเรียนได้รับทราบ 

3. การกำกับดูแลนั้น ก็เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและป้องกันการมีผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จึงกำหนดให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานสุ่มตรวจคุณภาพและการบริหารจัดการอาหารกลางวันในโรงเรียน ในกรณีที่สถานศึกษามีการจ้างเหมา ควรมีกรรมการตรวจการจ้างและตรวจรับจาก 3 ภาคส่วนที่มีการคานอำนาจอย่างสมดุล ทั้งกรรมการสถานศึกษาที่มาจากผู้ปกครอง ตัวแทนจากท้องถิ่น และตัวแทนจากสถานศึกษา

และ 4. เรื่องของการเฝ้าระวัง ติดตามภาวะโภชนาการของนักเรียน ที่กรณีอาหารกลางวันในโรงเรียนทำให้สามารถพลิกเป็นโอกาสในการสร้างความตื่นตัวให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและครอบครัว ที่นอกจากการส่งเสริมและสนับสนุนด้านคุณภาพอาหารโรงเรียนให้ดีขึ้นแล้ว ยังเป็นโอกาสในการเรียนรู้และเอาใจใส่ต่อสุขภาพของเด็กนักเรียนที่จะช่วยกันแก้ไขการขาดสารอาหารแก่เด็กที่ผอม น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ และเด็กอ้วนที่มีน้ำหนักมากเกินเกณฑ์ ขอให้มีจัดกระบวนการติดตามภาวะโภชนาการของนักเรียน ร่วมกับผู้ปกครอง การให้ความรู้ทั้งด้านอาหารปลอดภัยและโภชนาการ รวมถึงพฤติกรรมที่พึงประสงค์ กระตุ้นให้เกิดผลดีต่อสุขภาพเด็กและการเรียนรู้ของเด็กผ่านการปฏิบัติตามกลุ่มสาระวิชา ในแต่ละชั้นเรียน แต่ละชมรมด้วย

ทั้งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ/หรือสถานศึกษา อาจบูรณาการกับหน่วยงานในพื้นที่ ได้แก่ สาธารณสุขจังหวัด/อำเภอ โรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สถาบันการศึกษา ฯลฯ เพื่อให้ผู้มีความรู้ความสามารถด้านโภชนาการเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานอาหารและโภชนาการของเด็กปฐมวัยและเด็กในวัยเรียน ให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิผลมากที่สุดด้วย นายสุทธิพงษ์กล่าวปิดท้าย

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...