ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
สัมภาษณ์พิเศษ: ไพรินทร์ ชูโชติถาวร จากรถไฟทางคู่ถึงรถไฟความเร็วสูง
26 ก.ค. 2561

ในปัจจุบันเราจะได้ยินบ่อยครั้งขึ้นกับการพัฒนาระบบขนส่งงทางราง ซี่งมีทั้ง รถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ ไปจนถึงรถไฟความเร็วสูง ซึ่งทั้งหมดถือเป็นพื้นฐานต่อการรองรับการพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ ต่อเนื่องไปด้วยและเมื่อช่วงต้นเดือนกรฏาคม ที่ผ่านมา อปท.นิวส์ ได้รับเกียรติจากนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ให้เข้าสัมภาษณ์พิเศษถึงกระบวนการพัฒนารถไฟของไทยกำลังก้าวไปสู่ทิศทางใด ดังนี้

  • การพัฒนารถไฟของประเทศไทย ปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง

                ก่อนจะพูดเรื่องรถไฟ ผมอยากจะให้ภาพคร่าวๆ เรื่องรถไฟก่อนว่า รถไฟไทยเกิดขึ้นมา 130 ปีแล้ว ตั้งแต่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 การสร้างรถไฟสายแรกขึ้นไปที่โคราชมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อไม่ให้เกิดการเสียดินแดนต่อมาจึงสร้างขึ้นไปทางอีสาน ทางเหนือ และก็ลงไปทางใต้ วันนี้เราพูดกันเสมอว่าระบบรถไฟไทยนี่ล้าหลัง เพราะเมื่อเราได้พัฒนาทางรถไฟเชื่อม 3 ภาค จนมีความยาวทั้งหมด 3 พันกว่ากิโลเมตร แล้วเราก็หยุด

ผมอยากจะพูดง่ายๆ ให้เห็นภาพว่า ระบบรถไฟมีอยู่ 3 ระบบ ระบบแรกเป็นระบบรถไฟพื้นฐาน ที่เราเห็นมาตั้งแต่เด็กที่เรียกว่า รถไฟไทย ราง 1 เมตร นี่ไปทั่วประเทศไทย เหนือใต้ออกตก ระบบรถไฟนี้กำลังจะมีการพัฒนาขนานใหญ่ ก็คือจะมีการทำให้เป็นทางคู่ หลายคนถามว่า แล้วทางคู่จะเปลี่ยนแปลงจากทางเดี่ยวไปอย่างไร ปัจจุบันนี้เราจะเห็นว่า ถ้าเป็นระบบทางทางเดี่ยว เราเดินข้ามทางรถไฟได้ แล้วก็มีจุดตัดรถไฟกับถนน ในอนาคตถ้าเป็นทางคู่เมื่อไหร่ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือว่า จุดตัดของทางรถไฟจะไม่มี จะเป็น ไม่ทางยกระดับก็จะเป็นอุโมงค์เพื่อให้รอด แล้วก็ข้างทางรถไฟก็จะมีรั้ว นั่นเป็นมาตรฐาน

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ระบบรถไฟทางคู่ของเรา 3,500 กิโล ก็จะเป็นระบบที่มีมาตรฐาน ประสิทธิภาพในการเดินรถจะเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว ทั้งความเร็วและความแม่นยำ เพราะว่าเราไม่ต้องรอสับหลีกรถ ในขณะเดียวกัน เราก็จะไม่มีในเรื่องการผ่านจุดตัด อันตรายจากการข้ามของรถต่างๆ นอกจากนั้นแล้ว ระบบของรถไฟพื้นฐาน สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ กระทรวงคมนาคมทำอยู่ ก็คือเราเพิ่มรถไฟเส้นทางใหม่ๆ อย่างเช่นที่เด่นชัย –เชียงราย ซึ่งกำลังจะเข้า ครม. (คณะรัฐมนตรี) จะเห็นว่า 130 ปีแล้ว เชียงรายยังไม่มีโอกาสได้นั่งรถไฟเลย ตอนนี้จะได้นั่งแล้ว ในอีสานเราก็จะมีทางบ้านไผ่ขึ้นไปทางสกลนคร เป็นอีกเส้นหนึ่งเหมือนกัน เชื่อว่าระบบรถไฟทางคู่เมื่อเสร็จแล้วก็จะมีรถไฟย่อยๆ อาจจะเป็นของเอกชนทำทางเข้ามาเชื่อม ฉะนั้น ระบบรถไฟพื้นฐานราง 1 เมตร สำหรับขนคนขนสินค้าอันนี้จะเป็นระบบทางรถไฟที่สำคัญมาก และเป็นพื้นฐานในการให้บริการประชาชน

ระบบรถไฟที่  2 เราเรียกว่าระบบรถไฟฟ้าในเมือง ก็จะเห็นในกรุงเทพฯ จะเป็นรถไฟหลากสี สีน้ำเงิน สีเขียว สีอะไรต่างๆ ผมเรียนว่าในกรุงเทพฯ รถไฟ 10 สายแรก ที่ได้รับการอนุมัติความยาวทั้งหมดเกือบ 500 กิโลเมตร จะค่อยๆ เปิดดำเนินการ ก่อสร้างไปด้วย เปิดดำเนินการไปด้วย อย่างเช่นปลายปีนี้ เราจะนั่งสายสีเขียวไปถึงสมุทรปราการได้ ปีหน้า สายสีน้ำเงินก็จะนั่งลอดเจ้าพระยาไปได้ แล้วเราก็จะมีสีส้ม สีอื่นๆ ตามมา แต่ถ้าจะถามว่า แล้วรถไฟฟ้าจะมีแค่ในกรุงเทพฯ หรือเปล่า คำตอบคือไม่ ในขณะนี้ ทางสนข. (สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ) ทางคจร. (คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก) ได้ทำการศึกษาที่จะสนับสนุนให้มีการเดินรถไฟฟ้าในหัวเมืองใหญ่  4 ถึง 5 เมือง และก็ได้ผ่านคณะกรรมการของ คจร.แล้วด้วย อย่างเช่น โคราช ขอนแก่น เชียงใหม่ ภูเก็ต

เรื่องที่ 3 เป็นเรื่องที่มีคนพูดถึงกันมาก คือเรื่องของระบบรถไฟความเร็วสูง รถไฟความเร็วสูงเป็นระบบที่ใช้รางใหญ่ 1.435 เมตร แล้วก็จะวิ่งบนทางที่แยกออกไป เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า เมื่อความเร็วสูงจะมีอันตราย ระบบรถไฟความเร็วสูงอยากจะให้เราคิดถึงรูปตัวเอ็กซ์กากบาท จุดศูนย์กลางของกากบาทก็คือที่สถานีกลางที่บางซื่อ ที่กรุงเทพฯ ที่นี้พอเป็นเอ็กซ์ก็จะมีขา ขาแรกก็คือขาทางอีสาน ขาบนทางด้านขวาก็จะเป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายแรกที่รัฐบาลได้ลงทุน จะวิ่งไปจนถึงหนองคาย โดยในเฟสที่ 1 จะไปถึงโคราช เฟสที่ 2 จะไปถึงหนองคาย แล้วก็จะเชื่อมผ่านลาวเข้าไปถึงคุนหมิงของประเทศจีน

ถ้าเรานั่งรถไฟความเร็วสูงจากบางซื่อไปถึงประเทศจีน ต่อไปปักกิ่งได้ พราะจีนมีระบบรถไฟความเร็วสูงในประเทศหลายหมื่นกิโลเมตร ฉะนั้น เส้นทางรถไฟความเร็วสูงเส้นนี้มีความจำเป็นมาก เพราะเป็นการเชื่อมต่อกับตลาดใหญ่ คือพื้นที่ประเทศจีนทั้งประเทศ ตัวแขนที่ 2 ของตัวเอ็กซ์ ก็คือแขนข้างบนด้านซ้าย อันนี้เป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ญี่ปุ่นจะดำเนินการขึ้นไปทางเหนือทางเชียงใหม่ ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกระทรวงคมนาคม

แต่ว่าอันนที่ 3 ที่มาก่อน ก็คือรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งไปทางตะวันออกถึงจังหวัดระยอง ซึ่งขณะนี้ในเฟสที่ 1 เราจะให้วิ่งจากกรุงเทพฯ ไปถึงสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งขณะนี้เราได้เริ่มขายเอกสารการประมูลแล้ว คิดว่าภายในสิ้นปีนี้คงได้ผู้ประมูล เส้นนี้น่าสนใจมาก เพราะจะเป็นยุทธศาสตร์ที่เชื่อม 3 สนามบินเข้าด้วยกัน ตั้งแต่ดอนเมืองผ่านสนามบินสุวรรณภูมิไปถึงสนามบินอู่ตะเภา แล้วก็จะออกไปที่ระยอง จันทบุรี เส้นนี้พี่น้องชาวตะวันออกจะได้รับประโยชน์เต็มๆ เพราะว่ารถไฟจะวิ่งผ่านฉะเชิงเทรา พัทยา ศรีราชา ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญ แล้วก็มีประชาชนอยู่หนาแน่นมาก

สำหรับขาที่ 4 ของรถไฟความเร็วสูง คือขาล่างด้านซ้าย ก็คือเส้นที่จะวิ่งจากกรุงเทพฯ บางซื่อวิ่งไปจนถึงหัวหิน ซึ่งในเวลาอันใกล้นี้ ก็จะเปิดหาผู้ลงทุนเช่นเดียวกับสายตะวันออก ซึ่งสายใต้นี่มีโอกาสที่จะสร้างไปเรื่อยๆ จนถึงมาเลเซียและสิงคโปร์ได้ จะเห็นว่าในการเดินทางโดยระบบรางในปัจจุบันนี้ จะมีความสะดวก มีความคล่องตัว สามารถให้บริการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้ และที่สำคัญที่สุด ที่บอกว่าตัวกากบาทจุดศูนย์กลางเป็นตัวเอ็กซ์หมายถึงบางซื่อในอนาคตจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของระบบราง ถ้าเราผ่านไปตอนนี้เราจะเห็นก่อสร้างใหญ่โตมาก อีก  2 ปีก็จะแล้วเสร็จ

  • ความคืบหน้าการจัดตั้งองค์กรการบริหารรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เป็นอย่างไรบ้าง

                คืออย่างนี้ครับ รถไฟไทย-จีน เป็นโครงการที่รัฐบาลลงทุนสูงมาก เกือบ 4 แสนล้าน และโครงการนี้ก็มีความสำคัญ บทเรียนที่เราได้จากการพัฒนาพวกรถไฟฟ้าที่ผ่านมา อย่างเช่น โครงการรถไฟแอร์พอตร์ลิ้ง สำหรับรถไฟความเร็วสูงซึ่งเป็นของใหม่ของประเทศไทย เพื่อที่จะให้สามารถบริการประชาชนได้อย่างเต็มที่ ไม่เกิดข้อขัดข้องต่างๆ จำเป็นต้องมีองค์กรเข้ามารองรับที่เป็นมืออาชีพ ฉนั้น ครม.ก็เลยมีมติว่าให้จัดตั้งองค์กรพิเศษขึ้นใหม่เพื่อมารอรับโครงการนี้

ผมเชื่อว่าองค์กรที่ตั้งขึ้นใหม่มารองรับ ในอนาคตอาจจะเป็นองค์กรที่มารองรับรถไฟความเร็วสูงสายอื่นด้วย จำได้ไหมครับที่ผมบอกมี 4 เส้น ถ้าไปตั้ง 4 บริษัทก็คงจะเป็นเรื่องแปลก ก็จะต้องมีองค์กรหน่วยงานขึ้นมารองรับ ซึ่งหน่วยงานนี้จะต้องมีความเชี่ยวชาญ ชำนาญทางในเรื่องรถไฟความเร็วสูง สูงแค่ไหน คือสูง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แล้วก็เป็นความเชี่ยวชาญ ซึ่งเรายังไม่มีในปัจจุบัน ฉะนั้น ทางรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมก็ได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งศึกษารูปแบบ ซึ่งมีผมเป็นประธาน ก็ใกล้เสร็จแล้ว เตรียมตัวนำเสนอ

  • ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เดินหน้าไปอย่างไรบ้าง

                เดินหน้าครับ โครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 เป็นโครงการหลัก 1 ใน 5 ของอีอีซี (เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก) ซึ่งก็สำคัญเท่าเทียมกันกับรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ต้องเรียนว่า ประเทศไทยเราเป็นประเทศส่งออก สินค้าส่งออกมากกว่าร้อยละ 90 ส่งออกทางเรือ และท่าเรือที่มีศักยภาพสูงที่สุดของเราตอนนี้คือแหลมฉบัง คือเข้าออกปีละ 7 ล้านตู้ แต่ 7 ล้านตู้ เราคาดกันว่า ถ้าอีอีซีเกิดขึ้น ซึ่งตอนนี้มีผู้สนใจมาลงทุนมากมาย ตู้หนึ่งจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เราก็เลยจะต้องทำท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ขึ้นมารองรับ ซึ่งจะทำให้การขนตู้เข้าออกขึ้นจาก 7 ล้านตู้ เป็น 18 ล้านตู้ ซึ่งโครงการนี้อยู่ในขั้นตอนรับข้อเสนอของผู้สนใจเข้ามาลงทุน โดยโครงการนี้อยู่ใน พีพีพี (โครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ)

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...