ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
พลังงาน / สิ่งแวดล้อม ย้อนกลับ
สนทช.เร่งเดินเครื่องแก้ปัญหาน้ำคาบสมุทรสทิงพระ
07 ส.ค. 2561

บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้กรมชลประทานเดินเครื่องโครงการบริหารจัดการน้ำคาบสมุทรสทิงพระ   จ.สงขลา  แก้ปัญหาน้ำท่วม-ขาดแคลนน้ำ หวังสร้างความมั่นใจ ยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน 

ดร.สมเกียรติ  ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)  กล่าวว่า   สทนช. ได้วางแผนบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา อย่างเป็นระบบทั้งพื้นที่ (Area Based)   ซึ่งครอบคลุมพื้นที่อำเภอระโนด อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอสทิงพระ และอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา  ทั้งนี้พื้นที่ดังกล่าวจะประสบปัญหาอุทกภัยในฤดูน้ำหลากเป็นประจำเกือบทุกปีสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน อีกทั้งยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ในขณะที่ฤดูแล้งกลับประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร เนื่องจาก ไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำในพื้นที่ และปริมาณน้ำต้นทุนไม่เพียงพอกับความต้องการ  ประกอบกับยังประสบปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็มเข้ามาถึงทะเลสาบสงขลาตอนบน  และระบบกระจายน้ำที่ไม่เหมาะสมอีกด้วย 
ทั้งนี้กรมชลประทานได้ดำเนินการโครงการบริหารจัดการน้ำคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย และปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร  ดังกล่าว มาตั้งแต่ ปี 2558  โดยกำหนดแผนแล้วเสร็จในปี 2564 กิจกรรมประกอบด้วย 


การแก้ไขปัญหาอุทกภัย  ดำเนินการก่อสร้างคันป้องกันน้ำท่วม พร้อมอาคารประกอบ เพื่อกันน้ำจากทะเลสาบสงขลาไหลเข้าสู่พื้นที่คาบสมุทรสทิงพระในฤดูน้ำหลาก และกันน้ำเค็มเข้าพื้นที่เกษตรกรรมในช่วงฤดูแล้ง โดยการก่อสร้างคันกั้นน้ำริมทะเลสาบสงขลาต่อจากคันกั้นน้ำกระแสสินธุ์ ด้วยการยกระดับถนนสายแยก ทล.4083 – ม. ควนชะลิกพร้อมอาคารประกอบ และ ก่อสร้างคันดันน้ำจากบ้านเกาะใหญ่ถึงบ้านท่าคุระ 


ปรับปรุงประสิทธิภาพคลองระบายน้ำในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ ได้แก่ คลองศาลาหลวง คลองโคกทอง – หัวคลอง คลองโรง-พังยาง และเพิ่มช่องทางระบายน้ำหลากในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ เพื่อผันน้ำจากทะเลสาบสงขลา ผ่านคลองหนังออกสู่อ่าวไทย เพื่อป้องกันน้ำเอ่อท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำรอบทะเลสาบสงขลาในช่วงฤดูฝน  พร้อมทั้งก่อสร้างท่อระบายน้ำกั้นน้ำจากทะเลสาบสงขลา  ที่ตำบลป่าขาด อำเภอสิงหนคร เพื่อปิดปากคลอง 4 สาย ที่ระบายลงทะเลสาบสงขลา เพื่อป้องกันน้ำจากทะเลสาบสงขลาไหลเข้าท่วมพื้นที่ 


การแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยดำเนินการปรับปรุงคลองพลเอกอาทิตย์ฯ พร้อมอาคารประกอบ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักในคลอง และบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งก่อสร้างอาคารกั้นน้ำเค็มเข้าคลองสทิงหม้อ  เพื่อบริหารจัดการแบ่งโซนน้ำจืด-น้ำเค็ม ระหว่างพื้นที่ตำบลรำแดงและพื้นที่ตำบลทำนบ อำเภอสิงหนคร 
 
การปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาระโนด – กระแสสินธุ์  เนื่องจากเป็นโครงการเก่าแก่ ก่อสร้างตั้งแต่ปี 2512 คลองส่งน้ำเกิดการชำรุดจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำ  


“หากการบูรณาการโครงการบริหารจัดการน้ำคาบสมุทรสทิงพระ เพื่อแก้ไขปัญหาคาบสมุทรสทิงพระดังกล่าวประสบผลสำเร็จ จะทำให้มูลค่าความเสียหายจากอุทกภัยลดลง ทั้งในพื้นที่เกษตรกรรม บ้านเรือน ทรัพย์สิน ลดค่าใช้จ่ายภาครัฐในการบรรเทาภัยพิบัติ การชดเชยความเสียหาย และซ่อมแซมสาธารณูปโภคที่เสียหายจากน้ำท่วม โดยทำให้พื้นที่น้ำท่วมลดลงประมาณ 51.21 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ประมาณ 21,530 ไร่ ครัวเรือนอยู่อาศัย ประมาณ 1,485 ครัวเรือน ประเมินผลประโยชน์จากการบรรเทาอุทกภัยเป็นเงินประมาณ 181.85 ล้านบาท ในด้านปัญหาขาดแคลนน้ำ จะทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับการเพาะปลูกในฤดูแล้งที่เพิ่มขึ้น โดยสามารถเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกฤดูแล้งได้ประมาณ 12,000 ไร่ โดยคาดว่าจะใช้งบทั้งหมดประมาณ 5,337.00 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้น 7 ปี" เลขาธิการ สทนช.กล่าวในที่สุด

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...