ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
ก.พลังงานยก “ไทยนิยม ยั่งยืน” สร้างรายได้ให้ชุมชนกว่า 8 หมื่นแห่ง
04 ต.ค. 2561

กระทรวงพลังงานถือเป็นหน่วยงานที่จัดหาพลังงานให้คนในประเทศมีพลังงานใช้ให้เพียงพอ ภายใต้กรอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ Power Development Plan หรือ PDP ซึ่งแผนเดิมคือ PDP2015 โดยในแผนใหม่ที่กำลังปรับปรุงคือแผน PDP2018 มุ่งเน้นจัดหาพลังงานไฟฟ้าให้เพียงพอในทุกภูมิภาค โดยจะไม่ทำให้ต้นทุนของไฟฟ้าเป็นภาระต่อการดำรงชีวิตและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

โดยแผน PDP ฉบับใหม่จะพิจารณาถึงความเหมาะสมของการใช้ไฟฟ้าเป็นรายภาค มุ่งเน้นศักยภาพของเชื้อเพลิงที่จะสามารถผลิตไฟฟ้าในแต่ละภูมิภาค โดยเฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่กระทรวงพลังงานจะสนับสนุนให้เกษตรกร ผู้ใช้ไฟฟ้า ผู้ประกอบการ สามารถนำเชื้อเพลิงที่จัดหาได้เพื่อสนับสนุนการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ซึ่งสังคมมองว่า ในปัจจุบันยังมีปัญหาเรื่องการส่งเสริมการจัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน ดังนั้น จะแก้ปัญหาโดยการนำเชื้อเพลิงในท้องถิ่นมาแก้ปัญหาในเบื้องต้น นอกจากนี้ จะมีการพัฒนาสายส่งให้เพียงพอในการส่งผ่านกระแสไฟฟ้าซึ่งกระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ  อีกทั้งจะมีการผลักดันการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาขยะ โดยกระทรวงพลังงานจะประสานข้อมูลต่างๆ กับกระทรวงมหาดไทย  เพื่อสนับสนุนผลักดันการผลิตไฟฟ้า มาแก้ปัญหาขยะที่มีอยู่ล้นเมืองในปัจจุบัน 

นอกจากการวางแผนการจัดหาพลังงานไฟฟ้า จากปัจจุบันไปถึงอนาคต 20 ปีข้างหน้าแล้วื กระทรวงพลังงานยังได้สนับสนุนภารกิจ “ไทยนิยม ยั่งยืน” ของรัฐบาล ในเรื่องการเพิ่มโอกาสให้พี่น้องเกษตรกร ซึ่งมีภาระต้นทุนเรื่องพลังงาน  โดยการนำพลังงานทดแทนมาใช้ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์มาช่วยสนับสนุนเกษตรกร ในการสูบน้ำเพื่อใช้ในแปลงเกษตรทั่วประเทศ  และจะมีการส่งเสริมการจัดหาพลังงานให้ประชาชนที่อยู่ตามชายขอบ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน สถานีอนามัย ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ที่พลังงานงานไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง โดยใช้งบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในการจัดหาพลังงาน เพื่อให้โอกาสกับประชาชนที่อยู่ชายขอบทั่วประเทศ ได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งพลังงาน เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตได้มีการดำรงชีวิตตามปกติเช่นเดียวกับประชาชนในเขตเมือง

โดยนายศิริ  จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ย้ำให้พลังงานจังหวัดเข้าร่วมทีมกับผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนโครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน” ของรัฐบาล ซึ่งครอบคลุม 76 จังหวัด 878 อำเภอ 7,663 ตำบล  รวมถึง 50 เขตในกรุงเทพมหานคร และเมื่อรวมหมู่บ้านและชุมชนในกรุงเทพฯ จะครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศถึง 83,151 แห่ง ตั้งแต่วันที่  21 ก.พ. -20 พ.ค. 2561 ซึ่งแบ่งเป็น 4 ครั้ง

ครั้งที่1 ช่วงวันที่ 21 ก.พ.-20 มี.ค. 2561 จะเป็นการ Kick of พร้อมกันตำบลละ1 หมู่บ้าน เพื่อร่วมวิเคราะห์ปัญหาความเดือดร้อน ค้นหาความต้องการของประชาชน ชุมชน เพื่อจัดทำโครงการเสนอตามกรอบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ครั้งที่ 2 ช่วงวันที่ 21 มี.ค.-10 เม.ย. 2561 จะเป็นการสร้างการรับรู้และปฎิบัติตามสัญญาประชาคม ครั้งที่ 3 ช่วงวันที่ 11-30 เม.ย. 2561 และครั้งที่ 4 ช่วงวันที่ 1-20 พ.ค. 2561 จะเป็นการสร้างความรู้ ปรับความคิด (Mindset) เพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนา

ทั้งนี้ พลังงานจังหวัดจะต้องบอกได้ว่า พื้นที่ที่ดูแลมีศักยภาพพลังงานในเรื่องใด และจะช่วยให้คำแนะนำกับประชาชนและชุมชนได้อย่างไร เพื่อให้เกิดการลงทุน เช่น เรื่องของพลังงานไฟฟ้าจากขยะ จากชีวมวล หรือชีวภาพ ซึ่งแต่ละจังหวัดจะมีศักยภาพทางด้านพลังงานที่แตกต่างกันไป ซึ่งนอกจากจะเป็นการผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานทดแทนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ตามศักยภาพของพื้นที่แล้ว ยังช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนเพิ่มขึ้น จะช่วยเปลี่ยนทัศนคติของคนในชุมชนให้ใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า พร้อมๆ ไปกับการตระหนักเห็นถึงความสำคัญของพลังงานทดแทน ที่จะช่วยประเทศลดการนำเข้าพลังงานลงได้

สำหรับโครงการด้านพลังงานที่กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการหลักๆ จะเป็นโครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้ง (ระบบเกษตร) โดยเน้นการใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาสูบน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรให้กับเกษตรกรในพื้นที่ที่ห่างไกล สร้างความมั่นคงด้านรายได้และความกินดีอยู่ดีของประชาชนในชนบท ที่จะมีน้ำใช้เพื่อกิจการการเกษตรถึงแม้จะมีภัยแล้ง และได้มีชาวเกษตรกรที่ให้ความสนใจรวมตัวกันสมัครเข้ามารวมทั้งหมด 140 กลุ่มในภาคอีสาน เช่น กลุ่มเกษตรกร อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ ซึ่งมีกลุ่มเกษตรกรรวมทั้งสิ้นทั้งจาก จ.ศรีสะเกษ ยโสธร บุรีรัมย์ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ มหาสารคาม โดยให้งบประมาณ 3,000 ล้านบาท จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในพื้นที่ 35,000 ครัวเรือน

นอกจากนี้ ยังมีโครงการสูบน้ำแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้ง (ระบบเกษตร) ที่ ต.บ้านกล้วย อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่เคยได้รับการสนับสนุนระบบการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการสูบน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร จากการจัดสรรงบประมาณกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเมื่อปี 2559 พบว่า มีพื้นที่ได้รับประโยชน์จากชาวบ้านกลุ่มที่ 1 ประมาณ 163 ไร่ และชาวบ้านกลุ่มที่ 2 ประมาณ 174 ไร่

โดยเกษตรกรในพื้นที่ก่อนที่จะมีระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ เพาะปลูกข้าวและข้าวโพด รายได้เฉลี่ยจากเดิม 6,000 บาทต่อไร่ต่อปี เมื่อได้รับระบบสูบน้ำเข้ามาช่วยทำให้สามารถเพาะปลูกพืชผักพื้นดิน และผักสวนครัวเพิ่มเติม เช่น ปลูกถั่วเขียว มีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็นประมาน 10,000 บาท ต่อไร่ต่อปี ระบบ สูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ทำให้มีน้ำแน่นอน ปลูกพืชต่างชนิดในฤดูแล้งได้

จากความสำเร็จของโครงการฯ ที่ผ่านมา จึงมีการขยายให้กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ที่สนใจขอรับการติดตั้งระบบ         สูบน้ำแสงอาทิตย์ โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ อนุรักษ์พลังงานเพิ่มเติมอีก ซึ่งขณะนี้มีเกษตรอีก 2 กลุ่มที่พร้อมจะเข้าร่วมโครงการฯ แต่อยู่ระหว่างขั้นตอนข้อเสนอโครงการเพื่อพิจารณา เนื่องจากมีข้อครหาประเด็นการใช้เงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ 2561 (ในส่วนเพิ่มเติมไทยนิยม ยั่งยืน) วงเงิน 5,200 ล้านบาท และปี 2562 มูลค่า 13,000 ล้านบาท ที่มีการทักท้วงกันเรื่องความไม่โปร่งใสในการนำเงินของกองทุนฯ มาใช้ กระทรวงพลังงานจึงยังไม่มีการอนุมัติโครงการใดๆ เพื่อรอการตรวจสอบให้ได้ความชัดเจนเสียก่อน

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ได้มีการพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอโครงการที่ขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปีงบประมาณ 2561 (เพิ่มเติม) สนับสนุนโครงการไทยนิยม ยั่งยืน มีมติรับทราบกรอบการส่งเสริม เงื่อนไข คุณสมบัติ และเกณฑ์การกลั่นกรองโครงการ 3 โครงการ ดังนี้

1. โครงการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร เป้าหมาย 5,000 ระบบ จำนวนผู้ยื่นข้อเสนอ 2,630 ระบบ วงเงินที่ขอรับการสนับสนุน 2,090 ล้านบาท 2. โครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับโรงเรียนชนบท เป้าหมาย 350 ระบบ จำนวนผู้ยื่นข้อเสนอ 653 ระบบ วงเงินที่ขอรับการสนับสนุน 4,626 ล้านบาท และ 3. โครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป้าหมาย 170 ระบบ จำนวนผู้ยื่นข้อเสนอ 319 ระบบ วงเงินที่ขอรับการสนับสนุน 1,310 ล้านบาท

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...