ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
พก. จัดประชุมเฝ้าระวังและป้องกันความรุนแรงต่อเด็กและสตรีพิการ เนื่องในวันยุติความรุนแรงสตรีสากล
23 พ.ย. 2561

วันนี้ (22 พ.ย. 61) เวลา 14.30 น. ณ โรงแรมปริ๊นซ์ พาเลซ มหานาค กรุงเทพมหานคร นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาศักยภาพแกนนำสตรีพิการในการเฝ้าระวังและป้องกันความรุนแรงต่อเด็กและสตรีพิการ” เพื่อพัฒนาแกนนำสตรีพิการและสร้างกลไกระดับองค์กรด้านสตรีพิการในการเฝ้าระวังและป้องกันความรุนแรง เนื่องในวันยุติความรุนแรงสตรีสากล ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 - 25 พฤศจิกายน 2561 โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมประกอบด้วย สตรีพิการ แกนนำสตรีพิการ องค์กรเครือข่ายคนพิการ ผู้ดูแลคนพิการ รวมจำนวน 150 คน เข้าร่วมการประชุม

นางธนาภรณ์ กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติได้รับรองให้ วันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันยุติความรุนแรงสตรีสากล กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) จึงมีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือคุ้มครองแก่กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งปัจจุบันพบว่าเด็กและสตรีพิการ เป็นกลุ่มเปราะบางที่เผชิญกับการเลือกปฏิบัติและการละเมิดสิทธิ์ในหลายด้าน ทั้งการล่วงละเมิดทางเพศ และการกระทำความรุนแรง ทั้งนี้ กระทรวง พม. โดย พก. ได้ตระหนักถึงสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้ขับเคลื่อนแผนการพัฒนาสตรีพิการ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560 - 2564 กำหนดยุทธศาสตร์ในประเด็นสตรีพิการ ที่ให้ความสำคัญกับการเสริมพลังสตรีพิการให้เข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสิทธิ สวัสดิการ การเสริมสร้างสุขภาวะ อนามัยเจริญพันธุ์ และการดูแลสุขภาพสตรีพิการและเด็กหญิงพิการอย่างเท่าเทียม การเสริมภูมิคุ้มกันและปกป้องสตรีพิการและเด็กหญิงพิการจากความรุนแรง การล่วงละเมิดและการแสวงหาประโยชน์ทุกรูปแบบ ตลอดจนการเสริมสร้างความเข้มแข็ง พัฒนาศักยภาพ และการมีส่วนร่วมแก่องค์กรสตรีพิการ

นางธนาภรณ์ กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจของศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในปี 2560 มีเด็กและสตรีที่ถูกกระทำความรุนแรงได้มารับบริการ จำนวน 19,931 ราย เฉลี่ย 54 คน ต่อวัน และจากการสำรวจของ พก. พบว่าสัดส่วนการกระทำความรุนแรงในเด็กพิการและสตรีพิการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 15 ต่อปี โดยในปี 2560 มีเด็กพิการและสตรีพิการที่ถูกกระทำความรุนแรง จำนวน 68 ราย ซึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีหลายรูปแบบทั้งทางร่างกาย ทางจิตใจ ทางวาจา และทางเพศ เช่น การทำร้ายร่างกาย การบังคับจิตใจ การข่มขู่ การใช้วาจาด่าว่าทำให้เจ็บช้ำน้ำใจ การควบคุมกักขัง การข่มขืนกระทำชำเรา และการกระทำอนาจาร เป็นต้น โดยจะเห็นได้จากการนำเสนอข่าวของสื่อต่างๆ ที่พบว่ามีการกระทำความรุนแรงต่อสตรีพิการบ่อยครั้ง จากบุคคลใกล้ชิด ญาติ เพื่อนบ้าน หรือบุคคลในครอบครัว ซึ่งเป็นบุคคลที่ผู้ถูกกระทำคุ้นเคยเป็นอย่างดี จึงได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และได้จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องแก่เด็กพิการและสตรีพิการ โดยขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้แผนการพัฒนาสตรีพิการ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560-2564 วิสัยทัศน์ “สตรีพิการเข้าถึงสิทธิอย่างเท่าเทียม ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ในสังคมที่อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน” ซึ่งผ่านมติเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ 

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าว พก. จึงได้ดำเนินการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาศักยภาพแกนนำสตรีพิการในการเฝ้าระวังและป้องกันความรุนแรงต่อเด็กและสตรีพิการ ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารแผนการพัฒนาสตรีพิการ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560 - 2564 สู่การปฏิบัติ และพัฒนาศักยภาพแกนนำสตรีพิการในการเฝ้าระวังและป้องกันการกระทำความรุนแรงต่อเด็กพิการและสตรีพิการ รวมถึงสร้างกลไกในระดับองค์กรด้านสตรีพิการในการเฝ้าระวังและป้องกันการกระทำความรุนแรงต่อเด็กพิการและสตรีพิการ สำหรับกิจกรรมในการประชุม ประกอบด้วย การบรรยายให้ความรู้ การแบ่งกลุ่มวิเคราะห์ปัญหา การจำลองสถานการณ์ปัญหาเพื่อร่วมกันวิเคราะห์ และการฝึกปฏิบัติ 

“สำหรับการประชุมในวันนี้นับเป็นโอกาสสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาสตรีพิการ ที่มุ่งเน้นการเฝ้าระวังและป้องกันความรุนแรงในกลุ่มเด็กและสตรีพิการ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีการตื่นตัวและให้ความสำคัญต่อปัญหาดังกล่าวในทุกมิติ โดยการขับเคลื่อนการทำงานผ่านกลไกทั้งในเชิงนโยบายและกฎหมาย ดังนั้นสังคมจึงควรตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงต่อกลุ่มสตรีพิการให้มากขึ้น ร่วมกันปรับเปลี่ยนเจตคติของคนในสังคมและครอบครัวของคนพิการ โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญให้สตรีพิการอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี มั่นคงปลอดภัย เข้าถึงสิทธิอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมของสตรีพิการในมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมตลอดจนการเปิดโอกาสให้สตรีพิการได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การวางแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิตสตรีพิการต่อไป” นางธนาภรณ์ กล่าวในตอนท้าย

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...