ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
การเมือง / การปกครอง ย้อนกลับ
“บิ๊กฉัตร” เร่งเดินหน้าก่อสร้างปตร.ศรีสองรัก ตั้งเป้าแล้วเสร็จปี’66
30 พ.ย. 2561

พลเอกฉัตรชัย พร้อม รองเลขาธิการ สทนช.ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำศรีสองรัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เลย หวังแก้ท่วม-แล้ง จ.เลย อย่างยั่งยืน ตั้งเป้าแล้วเสร็จปี 2565 ตามแผน 

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จ.เลย เป็นหนึ่งจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบนและลำน้ำสาขาต่างๆ ที่ไหลมาบรรจบกัน ซึ่งเกิดจากน้ำป่าไหลหลากจนลำน้ำสายหลัก 
ไม่สามารถระบายได้ทัน มีสิ่งกีดขวางทางน้ำในเขตเมือง รวมทั้งบริเวณปากแม่น้ำโขงมีลักษณะคดเคี้ยว การระบายน้ำออกแม่น้ำโขงทำได้ช้า โดยแม่น้ำเลย มีความยาว 231 กม. มีต้นน้ำจากดอยภูหลวง ไหลผ่าน อ.ภูหลวง อ.วังสะพุง อ.เมือง จ.เลย และไหลลงแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงคาน จ.เลย มีพื้นที่ลุ่มน้ำ 3,560 ตร.กม. แม่น้ำเลยเป็นแม่น้ำสายสั้น แต่มีพื้นที่รับน้ำมาก ในฤดูฝน น้ำจะมีน้ำจำนวนมาก ไหลหลากลงพื้นที่ตอนล่างทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ขณะที่ในฤดูแล้งไม่มีน้ำใช้ เนื่องจากพื้นที่มีความลาดชันสูง ไม่สามารถสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ได้ ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มน้ำเลย ต้องเผชิญทั้งน้ำท่วม-น้ำแล้งอยู่เป็นประจำ 

โดยเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2520 ในหลวง ร.9 ทรงมีพระราชดำริ “ควรพิจารณาสร้างฝายทดน้ำหรือเขื่อนทดน้ำตามความเหมาะสมในลำน้ำเลยตอนล่าง เพื่อส่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกผืนใหญ่สองฝั่งแม่น้ำเลย” จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำศรีสองรัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่คั่งค้างอยู่ ที่รัฐบาลนี้ได้เร่งรัดโดยเฉพาะโครงการที่จะแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งซ้ำซาก จึงให้กรมชลประทานพิจารณาเร่งรัดโครงการก่อสร้าง ปตร.ศรีสองรัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่ง ครม. ได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการ เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 60 งบประมาณ 5,000 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี (ปี 2562 - 2566) 

สำหรับโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำศรีสองรัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประกอบด้วย ปตร.ศรีสองรัก (ช่องลัด), ปตร.ในลำน้ำเดิม (แม่น้ำเลย), สถานีสูบน้ำ 5 แห่ง พร้อมระบบส่งน้ำด้วยท่อ ความยาวรวม 99 กม. ครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์ 72,500 ไร่ สถานภาพโครงการปัจจุบัน กรมชลประทานได้ดำเนินการประกวดราคาแล้วได้ต่ำกว่าราคากลาง  
ร้อยละ 35.2 ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอกระทรวงเกษตรฯ อนุมัติรับราคา ทั้งนี้ เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มพื้นที่ชลประทานฤดูฝน 72,500 ไร่ และฤดูแล้ง 18,100 ไร่ ขณะเดียวกัน ยังเป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค บรรเทาอุทกภัยในฤดูน้ำหลาก เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 4,600 บาท/ไร่ และส่งเสริมการท่องเที่ยวของ อ.เชียงคาน มีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 207 ล้านบาท/ปี อีกด้วย 

ด้านนายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำสำคัญในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สทนช. ได้วิเคราะห์พื้นที่แก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอย่างเป็นระบบ (Area Based) ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีทั้งสิ้น 16 พื้นที่ รวม 11.85 ล้านไร่ แบ่งเป็น 14 พื้นที่ปัญหา (ท่วม+แล้ง 13 พื้นที่ และแล้ง 1 พื้นที่) รวม 11.81 ล้านไร่ และ 2 พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ 0.04 ล้านไร่ โดยจังหวัดเลยเป็น 1 ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง ซึ่งผลการดำเนินงานในปี 2557-2561 การพัฒนาแหล่งน้ำในจังหวัดเลย  
มีหน่วยงานที่เข้าไปดำเนินการรวม 13 หน่วยงาน มีโครงการทั้งหมดรวมจำนวน 710 โครงการ เพิ่มความจุเก็บกักรวมทั้งสิ้น 59.60 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 127,221 ไร่ ประชาชนรับประโยชน์ 40,100 ครัวเรือน อย่างไรก็ตาม แผนการพัฒนาตามยุทธศาสตร์การบริหารทรัพยากรน้ำที่ สทนช. ได้วางไว้ในจังหวัดเลย ประกอบด้วย 4 แผนงานสำคัญ คือ 1.การพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ประมาณ 1 ล้านไร่ 2.ระบบปะปาใน จ.เลย รวม 825 หมู่บ้าน ยังขาดระบบประปาที่ต้องเร่งขับเคลื่อนอีก 41 หมู่บ้าน 3.งานพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำเลย โครงการพระราชดำริทั้งหมด 27 โครงการ แบ่งเป็น โครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ 23 โครงการ อยู่ระหว่างดำเนินการ 3 โครงการ คือ โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เชียงคาน จ.เลย โครงการฝายบ้านนานกปีดพร้อมระบบส่งน้ำ ต.ห้วยบ่อซืน อ.ปากชม จ.เลย และโครงการจัดหาแหล่งน้ำช่วยเหลือ รร.ตชด.บ้านวังชมภู (เก็บกักน้ำฝน) ต.ทรัพย์ไพวัลย์ อ.เอราวัณ จ.เลย และโครงการพระราชดำริ ที่ต้องเร่งรัดดำเนินการอีก 1 โครงการ คือ โครงการจัดหาแหล่งน้ำช่วยเหลือ รร.ตชด.บ้านนานกปีด (เก็บกักน้ำฝน) ต.ห้วยบ่อซืน อ.ปากชม จ.เลย และ 4. แผนงานพัฒนาแหล่งน้ำปี 2561 – 2565 รวม 15 โครงการ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...