ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
พอช.เสนอ7ข้อพัฒนาท้องถิ่นยั่งยืน
04 ก.พ. 2562

 

        พลเอก สุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  กล่าวว่า ปัจจุบัน มีการจดแจ้งและจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศแล้วประมาณ 7,300 แห่ง โดยมีบทบาทสำคัญทั้งหมด 12 ด้าน รวมทั้งการเสนอแนะปัญหาและแนวทางแก้ไขและการพัฒนาต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในการจัดทำแผนพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือจัดให้มีเวทีการปรึกษาหารือกันของประชาชน เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการให้ความคิดเห็นต่อการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานของรัฐ หรือเอกชน ที่มีผลหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชน ทั้งนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐ ในฐานะผู้ดำเนินการหรือผู้อนุญาตให้ภาคเอกชนดำเนินการ ต้องนำความเห็นดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาด้วย

 

        สำหรับการประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติ ประจำปี 2561 ครั้งที่ 11 ภายใต้การประชุม "สภาองค์กรชุมชน ร่วมสร้างประเทศ สู่การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน" มีการนำความคิดเห็นมาจัดทำเป็นข้อเสนอทางนโยบายแล้วเสนอผ่านรัฐมนตรีกระทรวง พม. ไปยังคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการตามข้อกำหนด พ.ร.บ. สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551 มาตรา 32 (3) ทั้งนี้ สามารถสรุปปัญหาของประชาชนในจังหวัดต่างๆ และข้อเสนอแนะสำหรับแนวทางการแก้ไข 7 ประเด็นหลัก ดังนี้

 

       ประเด็นที่ 1 สิทธิชุมชนกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เนื่องจากปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเน่าเสีย เป็นต้น โดยมีข้อเสนอสำคัญ ดังนี้ 1. รัฐควรสนับสนุนการจัดทำแผนแม่บทการจัดการน้ำแห่งชาติ โดยกระทรวงมหาดไทย ควรสนับสนุนองค์กรปกครองท้องถิ่นเพื่อจัดตั้งกองทุนภัยพิบัติ และเตรียมความพร้อมของชุมชนท้องถิ่นในการรับมือกับภัยพิบัติ และ 2. รัฐควรทบทวนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เป็นต้น

 

       ประเด็นที่ 2 ผลกระทบพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2560 โดยมีข้อเสนอหลัก ดังนี้ 1. การขยายระยะเวลาการขึ้นทะเบียนแก่ประชาชนที่ยังไม่ดำเนินการขออนุญาต และ 2.ประชาชนที่ขึ้นทะเบียน เพื่อขออนุญาตแล้วให้ดำเนินการ อาทิ 2.1) การจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาอนุญาต โดยกำหนดให้มีองค์ประกอบจากหลาย ภาคส่วน 2.2) การรื้อถอน และค่ารื้อถอน (ตามมาตรา 118 ทวิ วรรคสอง) 2.3) การเพิ่มเติมระเบียบตามประกาศกระทรวงคมนาคม กรณี แจ้งการปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำ ลําคลอง แม่น้ำ และ 2.4) การบังคับใช้ พรบ. ฉบับนี้ โดยให้พิจารณาเพื่อประกาศใช้เป็นเฉพาะกรณีรายพื้นที่เป็นครั้งๆไป

 

       ประเด็นที่ 3 ผลกระทบจากพระราชกำหนดประมง พ.ศ. 2558 และฉบับเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 โดยมีข้อเสนอสำคัญ ดังนี้ 1. การแก้ไขนิยามของคำว่า "ประมงพื้นบ้าน” และ "ประมงพาณิชย์” 2. การกำหนดมาตรการในการขึ้นทะเบียนเรือประมงพื้นบ้านที่ตกหล่นให้ครบ เพื่อได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ 3. การยกเลิกมาตรา 34 เนื่องจากขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 77 และ 4. การเร่งรัดออกประกาศตามมาตรา 57 บรรดาคำขออนุญาต คำขอรับใบอนุญาต คำขอโอนใบอนุญาต และคําขอจดทะเบียนเรือขนถ่ายสัตว์น้ำหรือเรือเก็บรักษาสัตว์น้ำ ที่ได้ยื่นไว้ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558

 

       ประเด็นที่ 4 การแก้ไขปัญหายางพารา โดยมีข้อเสนอสำคัญ ดังนี้ 1. การยางแห่งประเทศไทยควรจ่ายเงินสวัสดิการให้แก่คนกรีดยาง ครัวเรือนละ 3,000 บาท เพื่อเยียวยาช่วยเหลือจากวิกฤติราคายางพาราตกต่ำ 2. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควรสนับสนุนโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางพารา วงเงิน 18,604 ล้านบาท โดยจะจ่ายเงินช่วยเหลือชาวสวนยางไร่ละ 1,800 บาท ไม่เกินรายละ 15 ไร่ (ให้เจ้าของสวนยาง 1,100 บาท/ไร่ และคนกรีดยาง 700 บาท/ไร่) 3. การลดการพึ่งพาตลาดประเทศจีน ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการผูกขาดตลาด และเป็นอุปสรรคในการสร้างเสถียรภาพราคายาง โดยให้หาตลาดใหม่ เช่น ประเทศรัสเซียและประเทศแถบอาหรับ 4. การส่งเสริมและสนับสนุนให้ปลูกพืชร่วมยาง ทำเกษตรผสมผสาน และการทำเกษตรอินทรีย์ในสวนยาง เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และ 5. การสนับสนุนโครงการสร้างถนน 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร ทำถนนลาดยางมะตอยผสมยางพารา ทั่วประเทศ 75,032 กิโลเมตร โดยใช้งบประมาณ 92,327 ล้านบาท

 

       ประเด็นที่ 5 การจัดการปัญหาที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม โดยมีข้อเสนอสำคัญ ดังนี้ การผลักดัน พ.ร.บ.และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1. พ.ร.บ. ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า พ.ร.บ. ป่าชุมชน พ.ร.บ. สิทธิชุมชน พ.ร.บ. ไม้เศรษฐกิจ พ.ร.บ. ธนาคารต้นไม้ และ พ.ร.บ. กองทุนยุติธรรม และ 2. การปรับแก้ พ.ร.บ.และกฎหมายฉบับเดิม อาทิ พ.ร.บ. ค่าเช่าที่ดินให้เหมาะสมและเป็นธรรม พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ 2504 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 และ พ.ร.บ. ผังเมือง 2518

 

       ประเด็นที่ 6 สังคมไทยกับการพัฒนาระบบรองรับสังคมสูงวัย โดยมีข้อเสนอสำคัญ ดังนี้ 1. รัฐควรสนับสนุนและเตรียมความพร้อมการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างจริงจัง ทั้งในระดับชุมชนและในระดับประเทศ 2. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ควรมีนโยบายสร้างการมีส่วนร่วมกับสภาองค์กรชุมชน ระบบรองรับสังคมสูงวัยแบบมีส่วนร่วม 3. รัฐควรออกกฎ ข้อระเบียบ ที่เอื้อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถสร้างและพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุขได้ด้วยตนเอง เพื่อดูแลคนทุกกลุ่ม 4. กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ควรปรับแก้ไขระเบียบการใช้จ่ายเงินของท้องถิ่น ให้สามารถดูแลและพัฒนาคุณภาพของประชากรในพื้นที่ได้ และ 5. การเพิ่มงบประมาณสวัสดิการผู้สูงอายุ จากเดิม 600 บาท/คน/เดือน เป็น 2,000 บาท/คน/เดือน ฯลฯ

 

       ประเด็นที่ 7 ความมั่นคงทางอาหารต่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยมีข้อเสนอสำคัญ ดังนี้ 1. การผลักดันให้เกิด พ.ร.บ. ส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน พ.ศ.… 2.รัฐควรกำหนดมาตรการควบคุมการนำเข้าสารเคมีเกษตร รณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจถึงความปลอดภัยของสารเคมีที่ตกค้างในผลผลิตทางการเกษตร ตลอดจนกำหนดนโยบาย 3. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควรร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย 2551 ยุติการใช้สารเคมีการเกษตรกำจัดศัตรูพืชอันตราย 5 ชนิด 4. การส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานราก ด้วยการเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน และระบบการผลิตอาหารที่ปลอดภัย ตลาดเขียวชุมชน เพื่อเป็นแหล่งอาหารของชุมชน และสร้างรายได้ให้ชุมชน และ 5. รัฐควรจัดตั้งหน่วยงานส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนขึ้น เพื่อทำบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมสนับสนุนการทำเกษตรกรรมยั่งยืน พัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานการผลิตของเกษตรกร (มอช.) โดยให้เกษตรกรมีส่วนร่วม

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...