ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
ดีอี ปลื้มทัชสตาร์ ยักษ์ใหญ่จีน สร้างโอกาสใหม่สตาร์ทอัพไทย
12 ก.พ. 2562

                 ทัชสตาร์ (TusStar) เบอร์ 1 วงการสตาร์ทอัพของจีน – ดีป้า จับมือ MOU จัดตั้งศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพดิจิทัล “The Development of China-Thailand Digital Incubator” ในประเทศไทย ตั้งเป้าปั้นเป็นฮับระดับภูมิภาคเชื่อมโยงเส้นทางการค้าใหม่ระหว่างตลาดกลุ่ม CLMVT กับประเทศจีน สอดรับนโยบายหนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย และนโยบาย One Belt One Road ของจีน

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างบริษัท ทัชสตาร์ (TusStar) ซึ่งเป็นหน่วยบ่มเพาะธุรกิจขนาดใหญ่ มหาวิทยาลัยชิงหัว มหาวิทยาลัยวงการสตาร์ทอัพอันดับ 1 ของเอเชีย และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ผ่านการลงนาม MOU จัดตั้ง “The Development of China-Thailand Digital Incubator” ขึ้นในประเทศไทย นับเป็นความก้าวหน้าของความสัมพันธ์ต่อเนื่องมาร่วม 4 ปี ระหว่างไทยกับบริษัท ทัช โฮลดิ้งส์ (Tus-Holdings) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของทัชสตาร์ โดยที่ผ่านมา ประเทศจีนประสบความสำเร็จอย่างสูงในการพัฒนาผู้ประกอบการกลุ่มสตาร์ทอัพ ขณะที่ ประเทศไทย ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สตาร์ทอัพ กลายเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ

ดังนั้น ความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะและพัฒนาสตาร์ทอัพขึ้นในประเทศไทย จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับผู้ประกอบการที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเข้มข้นของไทยและจีน จะได้ทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งการที่ประเทศจีนเป็นตลาดที่ใหญ่มากและเทคโนโลยีพัฒนาไปไกล ดังนั้นการผสมผสานกัน ก็จะทำให้โอกาสของสตาร์ทอัพไทยกว้างมากขึ้น นอกจากนี้ การมีส่วนร่วมยังทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนกัน ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

“ผมคุ้นเคยกับ Tus Holdings บริษัทแม่ของทัชสตาร์ เคยทำงานร่วมกันตั้งแต่ 4 ปีก่อน ตอนที่ผมอยู่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เคยนำสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติไปร่วมลงนามความร่วมมือกับ Tus Holdings ซึ่งใหญ่มาก เขามีจุดเริ่มต้นจากการเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยชิงหัว ซึ่งเปรียบได้กับเป็นสถาบัน MIT ของประเทศจีน มหาวิทยาลัยชิงหัว ใช้บริษัทแห่งนี้ทำธุรกิจ โดยเอาความรู้ของมหาวิทยาลัยไปใช้ ขยายการลงทุนออกไปหลายประเทศ

จนมีกระแสเรื่องสตาร์ทอัพ จึงได้จัดตั้งบริษัท ทัชสตาร์ (TusStar) ขึ้นมาจับด้านนี้โดยตรง เริ่มต้นจากการสรรหา “ดาวเด่น” จากภายในมหาวิทยาลัยชิงหัว ซึ่งเป็นแหล่งรวมนักศึกษาระดับหัวกะทิของประเทศ เพื่อมาปั้นเป็น “สตาร์ทอัพ” ขยายผลสู่ครอบคลุมทั่วประเทศจีนและเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ” ดร.พิเชฐกล่าว

ดร.จาง จินเซิง ประธานบริษัท ทัชสตาร์ ซึ่งเป็น Incubator ด้านดิจิทัลรายใหญ่สุดของประเทศจีน กล่าวว่า ศูนย์บ่มเพาะฯ แห่งนี้พร้อมเปิดดำเนินการราวเดือนมีนาคม หรือเมษายนปีนี้ โดยจะมีการส่งทีมของทัชสตาร์ส่วนหนึ่งเข้ามาประจำที่ประเทศไทย เพื่อให้บริการและการสนับสนุนผู้ประกอบการจากประเทศจีน ที่ต้องการขยายธุรกิจเข้ามาในประเทศไทย ตลอดจนผู้ประกอบการไทยที่อยากเข้าไปก่อตั้งธุรกิจในประเทศจีน โดยความร่วมมือกับดีอี และดีป้า ครั้งนี้มุ่งเน้นการส่งเสริมสาขาที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัล

ผู้บริหารทัชสตาร์ กล่าวว่า เหตุผลที่สนใจเข้ามาตั้งฐานพัฒนาสตาร์ทอัพในประเทศไทย เพราะอยากช่วยเหลือสตาร์ทอัพของจีน ที่อยากเข้ามาศึกษาโอกาสในตลาดประเทศไทย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายเส้นทางการค้าใหม่  (One Belt One Road Initiative) ของประเทศจีน อีกทั้งจะเป็นฐานสำคัญที่จัดตั้งขึ้นในอาเซียนสำหรับพัฒนาสตาร์ทอัพด้านเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อสนับสนุนโครงการในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 

ปัจจุบัน บริษัทเข้าไปลงทุนเปิดศูนย์บ่มเพาะแล้ว 140 แห่งทั่วโลก โดยประเทศไทย ถือป็นแห่งที่ 2 ในภูมิภารอาเซียน ต่อจากมาเลเซีย และในครั้งนี้ได้นำคณะเดินทางราว 50 คน ที่เป็นผู้ประกอบการและสถาบันการเงินของจีน ในสาขาเทคโนโลยี ได้แก่ AI, Smart Devices, IoT และ New Energy เข้ามาศึกษาตลาดและระบบนิเวศน์ในประเทศไทย  ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากสตาร์ทอัพของจีน เพราะมีความคาดหวังต่อตลาดในประเทศไทยอยู่แล้ว

ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะเป็นฐานแห่งที่ 2 ในภูมิภาคนี้ที่ทัชสตาร์ เข้ามาลงทุน แต่เรียกได้ว่าเป็นการร่วมมือ “แห่งแรก” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จัดตั้งเพื่อขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เนื่องจากในมาเลเซีย เป็นการบ่มเพาะสตาร์ทอัพที่เป็นรูปแบบ Traditional Incubator ขณะที่ศูนย์ฯ แห่งนี้บทบาทจะครอบคลุมตั้งแต่ การบ่มเพาะ การแลกเปลี่ยนสตาร์ทอัพข้ามประเทศเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ และระยะต่อไปอาจถึงขั้นการเข้าไปร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ

“เป้าหมายของเรามุ่งเป็นศูนย์กลางบ่มเพาะสตาร์ทอัพดิจิทัลข้ามภูมิภาค โดยอยู่บนพื้นฐานจุดแข็งของประเทศไทยด้านการเชื่อมโยงประเทศในกลุ่ม CLMVT ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และไทย และการที่เรารู้จักตลาดกลุ่มนี้เป็นอย่างดี เมื่อเชื่อมต่อกับจีน จะยิ่งทำให้โอกาสการตลาดกว้างขึ้น เพราะจีนเป็นตลาดใหญ่ ขณะที่เขาเองก็มีความสนใจตลาดในกลุ่มประเทศนี้ และมีจุดแข็งด้านประสบการณ์ขับเคลื่อนศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพดิจิทัล รวมทั้งพร้อมสนับสนุนด้านความเชี่ยวชาญและทรัพยากร” ดร.ชินาวุธ กล่าว

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...