ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจชุมชน ย้อนกลับ
ผู้ประกอบการไก่ไทยได้เฮ! ส่งออกไก่ไทยไป EU ได้ปริมาณมากขึ้น
03 เม.ย. 2562

         กรมการค้าต่างประเทศ แจ้งข่าวดี! EU จัดสรรปริมาณโควตารวมเพิ่มเติมสินค้าเนื้อไก่และสัตว์ปีกจำนวน 4 รายการ ไทยสามารถส่งออกไก่ไปยังสหภาพยุโรปได้มากขึ้น ตั้งแต่ 1 เม.ย.62 มั่นใจยังคงครองสัดส่วนอันดับหนึ่งและสองของการนำเข้าไปยังสหภาพยุโรปต่อไปได้

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกระเบียบ Commission Implementing Regulation (EU) 2019/398 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2562 เพื่อปรับตารางภาคผนวกของระเบียบ Regulation (EC) No.616/2007 ที่กำหนดปริมาณโควตาสินค้าเนื้อไก่และสัตว์ปีก ซึ่งสหภาพยุโรปจัดสรรให้กับประเทศบราซิล ประเทศไทย และประเทศที่สามอื่นๆ โดยระเบียบดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้หลังจากวันที่ 1 เมษายน 2562 เป็นต้นไป

“จากการปรับตารางภาคผนวกดังกล่าวทำให้ไทยสามารถใช้สิทธิ์ภายใต้การจัดสรรปริมาณโควตารวมเพิ่มเติมในสินค้าเนื้อไก่และสัตว์ปีกจำนวน 4 รายการ ได้แก่ (1) สินค้าเนื้อไก่ปรุงแต่ง หรือทำไว้ไม่ให้เสีย และไม่ปรุงสุก (พิกัดฯ 1602.32.11) ปริมาณโควตาที่ได้รับจัดสรร 340 ตัน/ปี ภาษีในโควตา 630 ยูโร/ตัน (2) สินค้าสัตว์ปีกปรุงแต่งหรือทำไว้ไม่ให้เสีย ซึ่งมีสัดส่วนเนื้อหรือเครื่องในตั้งแต่ 57% ของน้ำหนักขึ้นไป และปรุงสุก (พิกัดฯ 1602.39.29)  ปริมาณโควตาที่ได้รับจัดสรร 60 ตัน/ปี ภาษีในโควตา 10.9% (3) สินค้าสัตว์ปีกปรุงแต่งหรือทำไว้ไม่ให้เสีย ซึ่งมีสัดส่วนเนื้อหรือเครื่องในตั้งแต่ 25% จนถึงต่ำกว่า 57% ของน้ำหนัก (พิกัดฯ 1602.39.85) ปริมาณโควตาที่ได้รับจัดสรร 60 ตัน/ปี ภาษีในโควตา 10.9% และ (4)สินค้าเนื้อไก่ปรุงแต่ง หรือทำไว้ไม่ให้เสีย และปรุงสุก (พิกัดฯ 1602.32.19) ปริมาณโควตาที่ได้รับจัดสรร 5,000 ตัน/ปี ภาษีในโควตา 8% ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยที่ประสงค์จะรับภาษีในโควตาสินค้า 4 รายการข้างต้น ไม่จำเป็นต้องแนบหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าสำหรับการนำเข้าสหภาพยุโรป” นายอดุลย์ฯ กล่าว

นายอดุลย์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สินค้าเนื้อไก่และสัตว์ปีกของไทยนั้นครองสัดส่วนอันดับหนึ่งและสองของการนำเข้าไปยังสหภาพยุโรป ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสินค้าของไทยเป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับในเรื่องคุณภาพมาตรฐานจากประเทศคู่ค้า การปรับเพิ่มปริมาณโควตาของสหภาพยุโรปในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสทองของผู้ส่งออกไทยในการส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังสหภาพยุโรปได้มากขึ้น นอกจากนี้ กรณีการนำเข้าสินค้าเนื้อไก่ปรุงแต่ง (พิกัด 1602.32.11) ที่สหภาพยุโรปเพิ่มโควตาให้เป็นครั้งแรกนั้น คาดว่าไทยมีโอกาสที่จะคว้าส่วนแบ่งการนำเข้าได้เป็นอันดับต้นๆ เช่นกัน เนื่องจากสินค้าประเภทเนื้อไก่และสัตว์ปีกของไทยเป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับจากทั่วโลกมาอย่างยาวนาน

สำหรับสถิติการนำเข้าสินค้าเนื้อไก่และสัตว์ปีกปรุงแต่งของสหภาพยุโรป ปี 2561 (ม.ค. - ธ.ค.) พบว่า สหภาพยุโรปนำเข้าสินค้าเนื้อไก่ปรุงแต่ง พิกัด 1602.32.19 จากไทยเป็นอันดับหนึ่ง มูลค่า 25,040 ล้านบาท คิดเป็น 73% ของการนำเข้าจากทั่วโลก (นำเข้าจากจีนเป็นอันดับสอง คิดเป็น 19%) ส่วนสัตว์ปีกปรุงแต่ง พิกัด 1602.39.29 มีการนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่สอง มูลค่า 1,038 ล้านบาท คิดเป็น 41% ของการนำเข้าจากทั่วโลก (นำเข้าจากจีนเป็นอันดับหนึ่ง 58%) และนำเข้าสินค้าสัตว์ปีกปรุงแต่ง พิกัด 1602.39.85 จากไทยเป็นอันดับที่สอง มูลค่า 14 ล้านบาท คิดเป็น 30%ของการนำเข้าจากทั่วโลก (นำเข้าจากจีนเป็นอันดับหนึ่ง 68%) อย่างไรก็ตาม ในปี 2559 – 2561 ไม่มีการนำเข้าสินค้าเนื้อไก่ปรุงแต่ง พิกัด 1602.32.11 จากไทยแต่อย่างใด

ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองบริหารการค้าสินค้าทั่วไป โทร 02–547-5119 หรือ สายด่วนกรมการค้าต่างประเทศ 1385

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...