ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
พลังงาน / สิ่งแวดล้อม ย้อนกลับ
“สนพ.” พร้อมรับมือพีคไฟฟ้าหน้าร้อนนี้ ชวนปชช.ทุกภาคส่วนช่วยประหยัดไฟฟ้า!
11 เม.ย. 2562

         กระทรวงพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมรับมือพีคไฟฟ้าหน้าร้อนนี้ คาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าช่วงฤดูร้อนเพิ่มสูงขึ้นตามอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น โดยสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 35,889 เมกะวัตต์ โตขึ้นจากปีก่อน (2561) ประมาณ 4.6% และคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงระหว่างปลายเดือนเมษายน - ต้นเดือนพฤษภาคม 2562 จึงขอความร่วมมือประชาชน เอกชน และภาคอุตสาหกรรม ช่วยกันประหยัดไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อนเป็นพิเศษเพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าโดยรวม

           ดร. สราวุธ แก้วตาทิพย์ รองปลัดกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า หน้าร้อนในปีนี้ คาดการณ์ว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ (พีค) จะเกิดขึ้นระหว่างปลายเดือนเมษายน – ต้นเดือนพฤษภาคม 2562 ซึ่งในปีที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 34,317 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 เวลา 13.51 น. โดยปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้พยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าเบี่ยงเบนไปจากคาดการณ์ คือ กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง (IPS) ที่อาจเติบโตขึ้น ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนเร็วกว่าปกติ โดยปีนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2562 และสภาพอากาศที่แปรปรวน คณะทำงานจัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า จึงประมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ (พีค) ในปี 2562 คาดว่าจะอยู่ที่ 35,889 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 จากปี 2561

            ซึ่งในปีนี้กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าอุณหภูมิช่วงหน้าร้อนอยู่ที่ 42-43 องศาเซลเซียส แต่หากอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงขึ้นหรือลดลง 1 องศาเซลเซียสจะมีผลต่อการใช้ไฟฟ้าประมาณ 400 เมกะวัตต์

           ด้านนายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า สนพ.ได้เตรียมมาตรการสร้างความตระหนักในการประหยัดพลังงานและขอความร่วมมือจากภาคประชาชน เอกชน และอุตสาหกรรม ให้ช่วยกันลดใช้ไฟฟ้าอย่างจริงจัง โดยได้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านมาตรการ 4 ป. “ปิด-ปรับ-ปลด-เปลี่ยน” ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เพื่อช่วยลดปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ (พีค) ไม่ให้สูงขึ้นจนทำสถิติรอบใหม่ อันจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งมาตรการลดพีคไฟฟ้า เป็นการปรับเปลี่ยนปริมาณและลักษณะการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้เพื่อให้สมดุลกับการผลิตไฟฟ้า สำหรับมาตรการ 4 ป. เป็นมาตรการที่ทุกคนสามารถทำได้ทันที ได้แก่ ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศเป็น 26 องศา ซึ่งการเพิ่ม 1 องศาจะช่วยประหยัดไฟเพิ่มได้ 10% ปลดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าเมื่อเลิกใช้ เปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟเบอร์ 5 แบบใหม่ ที่มี 1 – 3 ดาว โดยแต่ละดาวจะมีประสิทธิภาพการประหยัดไฟฟ้าได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 10% และเปลี่ยนเวลาที่ใช้ไฟฟ้า คือ หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นใน 2 ช่วงเวลา คือ 13.00 – 15.00 น. เพื่อลดพีคไฟฟ้าช่วงกลางวัน และ 19.00 –21.00 น. เพื่อลดพีคไฟฟ้าช่วงกลางคืน

            นายจรรยง วงศ์จันทร์พงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการปฏิบัติการควบคุมระบบ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เตรียมความพร้อมในส่วนของระบบผลิตไฟฟ้า กฟผ.บริหารจัดการโรงไฟฟ้าในระบบทั้งโรงไฟฟ้าของ กฟผ. โรงไฟฟ้า IPP และ SPP ให้มีการทำงานบำรุงรักษาเท่าที่จำเป็น และขอความร่วมมืองดบำรุงรักษานอกแผนที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนตลอดช่วงฤดูร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนมีนาคมถึง พฤษภาคม ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเพื่อรักษาความมั่นคง โดยในช่วงฤดูร้อนปีนี้ จะมีกำลังผลิตสำรองพร้อมจ่ายเพียงพอสำหรับรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินซ้ำซ้อนที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งได้ประสานงานกับ ปตท. ในการเพิ่มความสามารถในการส่งเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ให้มีความเพียงพอต่อความต้องการใช้ผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ในส่วนของระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ. มีความพร้อมใช้งานเต็มความสามารถ โดยงดทำงานบำรุงรักษาสถานีไฟฟ้า และอุปกรณ์ในระบบส่งที่มีความสำคัญ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการส่งไฟฟ้าในช่วงดังกล่าว

            ขอให้ทุกภาคส่วนมั่นใจว่า กฟผ. จะดูแลระบบผลิตและส่งไฟฟ้าของประเทศให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้า และขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนช่วยกันลดการใช้ไฟฟ้าเพื่อช่วยให้การใช้ไฟฟ้าในระบบไม่สูงจนเกินไป

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...