ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
รับมืออหิวาต์แอฟริกาในสุกร พร้อมชี้ช่องโอกาสทางธุรกิจ
02 พ.ค. 2562

กระทรวงเกษตรฯ รับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร คาดหากสามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคในประเทศได้ จะเป็นโอกาสทางธุรกิจ

นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรว่า มีการแพร่ระบาดขยายเป็นวงกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบัน มีการระบาดใน 18 ประเทศ หลายภูมิภาคทั่วโลก สำหรับทวีปเอเชียพบการระบาดครั้งแรกที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ต่อมามีรายงานการระบาดที่ประเทศมองโกเลีย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งสถานการณ์การระบาดของโรคในแต่ละประเทศยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่เชื้อไวรัสโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเข้าสู่ประเทศมากยิ่งขึ้น เนื่องจากปัจจัยหลายประการ เช่น การเดินทางเพื่อการท่องเที่ยว การค้าขาย การขนส่งสินค้า ปัจจัยสิ่งแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ที่มีข้อจำกัดด้านชายแดนที่มีระยะทางยาว เป็นต้น รวมถึงความต้องการสุกรและผลิตภัณฑ์สูงขึ้น ส่งผลให้มีการลักลอบนำเข้าผลิตภัณฑ์สุกรโดยนักท่องเที่ยวตามแนวชายแดน

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์ได้เข้มงวดจับกุมการลักลอบเคลื่อนย้ายสุกร ซากสุกร และผลิตภัณฑ์สุกรที่นักท่องเที่ยวนำมาบริโภคอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2561 จนถึงวันที่ 29 มีนาคม 2562 ได้มีการตรวจยึดการลักลอบเคลื่อนย้ายผลิตภัณฑ์จากสุกร จำนวน 344 ครั้ง และผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการปนเปื้อนสารพันธุกรรมเชื้อไวรัสโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร จำนวน 59 ตัวอย่าง

นายลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในประเทศไทย โดยคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา แบ่งการดำเนินการเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1) ด้านโครงสร้างการบริหารจัดการและขับเคลื่อนมาตรการ โดยจัดให้มีคณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแห่งชาติ ประกอบด้วย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคสหกรณ์ผู้เลี้ยงสัตว์ และภาคเอกชน และ 2) แผนการดำเนินงานและแผนใช้จ่ายงบประมาณในการดำเนินงาน

โดยแผนการดำเนินงาน แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะก่อนเผชิญเหตุการระบาด ระยะเผชิญเหตุการระบาด และระยะภายหลังเผชิญเหตุการระบาด ซึ่งมีแผนใช้จ่ายงบประมาณในปี 2562 - 2554 ในการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 148,542,900 บาท

นอกจากนี้ การดำเนินการตามแผนเตรียมความพร้อมดังกล่าว ยังแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน โดยจะดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค และระยะยาว โดยจะยกระดับมาตรการการควบคุมป้องกันโรคให้มีมาตรฐานสากล โดยจัดสร้างโรงทำลายซากสัตว์ติดเชื้อ เนื่องจากเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกรมีความคงทนในสภาพแวดล้อมสูง อีกทั้งหากทำลายโดยการฝังจะต้องใช้พื้นที่จำนวนมากและการดำเนินการทำลายเป็นไปด้วยความยากลำบาก มีโอกาสที่เชื้อจะตกค้างและแพร่กระจายในสิ่งแวดล้อม

หรือหากทำลายโดยวิธีการเผาจะก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นต้องมีวิธีการกำจัดซากที่ติดเชื้ออย่างเหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว อีกทั้งหากกรณีไม่มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรยังสามารถใช้ในการกำจัดซากสัตว์ติดเชื้อของโรคระบาดอื่นๆ ได้อีกด้วย จึงถือเป็นมาตรการควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ หากประเทศไทยมีระบบการป้องกันโรคที่ดี รวมทั้งเตรียมความพร้อมให้มีระบบการทำลายสุกรที่เป็นโรคและซากสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคระบาดเป็นไปตามมาตรฐานสากล สามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคในประเทศได้ จะเป็นโอกาสทางธุรกิจ เนื่องจากความต้องการสุกรของสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และราชอาณาจักรกัมพูชา เพิ่มสูงขึ้น จากเดิมก่อนเกิดโรคราคาสุกรมีชีวิตของประเทศไทยกิโลกรัมละ 60 บาท ภายหลังเกิดโรคคาดการณ์ว่าจะทำให้ราคาสุกรในประเทศมีราคาเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 80 บาท ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 44,000 ล้านบาทต่อปี

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...