ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
ธรรมนูญสุขภาพฉบับใหม่ใกล้คลอด เตรียมเสนอคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ มีนาคมนี้
10 ก.พ. 2559

            คณะกรรมการทบทวนธรรมนูญฯ ระดมกำลังพิจารณาร่าง ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับทบทวน เปิด ๕ หมวดใหม่ เพิ่มจาก ๑๒ หมวดเดิม มั่นใจเป็นกรอบทิศทางยกระดับการสร้างสุขภาวะคนไทยใน ๑๐ ปีข้างหน้า

            การประชุมเชิงปฏิบัติการ คณะกรรมการทบทวนธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๒ ระหว่างวันที่ ๓๐-๓๑ มกราคม ๒๕๕๙ ณ สามพรานริเวอร์ไซด์ จังหวัดนครปฐม มี นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธาน และมีกรรมการจากหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องจาก ภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน พร้อมแกนทำงานยกร่างข้อมูล วิชาการ รวมกว่า ๕๐ คน เข้าร่วมประชุม

           นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานกรรมการทบทวนธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๒ เปิดเผยว่า ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ เป็นเครื่องมือภายใต้พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ที่กำหนดให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจัดทำขึ้น เพื่อใช้เป็นกรอบและแนวทางในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศ โดยธรรมนูญฯ ฉบับแรก มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๒ ซึ่งตามกฎหมายจะต้องมีการทบทวนอย่างน้อยทุก ๕ ปี เพื่อให้สอดคล้องเท่าทันต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งกระบวนการทบทวนธรรมนูญฯ ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ โดยได้สนับสนุนการทำงานทางวิชาการ เพื่อประเมินผลจากการมีธรรมนูญฯ ฉบับแรก  ทบทวนสถานการณ์ระบบสุขภาพ จนถึงมีทีมวิชาการจากหลายสถาบันมาช่วยวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล เพื่อเสนอทบทวนข้อความในธรรมนูญฯ ฉบับแรก จนได้ร่างธรรมนูญฯ ฉบับทบทวน และใช้กระบวนการมีส่วนร่วมหลายรูปแบบ ทั้งเวทีรับฟังความเห็นระดับพื้นที่ ๔ ภาคทั่วประเทศ เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และการสื่อสารขอรับความเห็นทางเอกสารจากหน่วยงาน ภาคีเครือข่ายจำนวนมาก รวมถึงช่องทางสื่อสังคมออนไลน์อีกด้วย

“หลังจากเราเปิดรับฟังความเห็นจากทุกช่องทาง เพื่อสร้างการรับรู้ การมีส่วนร่วม และความเป็นเจ้าของร่วมกันของธรรมนูญฯ ฉบับทบทวน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงปัจจุบัน น่ายินดีที่การตอบรับดีมาก เวที๔ ภาคมีผู้เข้าร่วมกว่า ๑,๒๐๐ คน จากทุกจังหวัดและหลากหลายภาคส่วน เวทีในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๘ เมื่อปลายธันวาคม มีผู้เข้าร่วมเกือบ ๕๐๐ คน และกว่า ๗๐ หน่วยงานได้ให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะทางเอกสารที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง สะท้อนถึงพัฒนาการตามแนวคิด “ทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ” (Health in All Policies) ได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะไม่เพียงแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงด้านสุขภาพ แต่หน่วยงานที่มีความเชื่อมโยง เช่น หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน พัฒนาสังคม ประกันภัย สิ่งแวดล้อม คุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงกลุ่มวิชาชีพ เช่น พยาบาล สถาปนิก และอื่นๆ ก็ให้ความเห็นกันมาอย่างน่าสนใจ”

การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นการพิจารณานำเอาความเห็นที่ประมวลจากทุกเวที ทุกหน่วยงานมาพิจารณาเพื่อปรับปรุง ร่างธรรมนูญสุขภาพว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับทบทวน ก่อนจะมีการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งสุดท้ายในปลายเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อเตรียมเสนอร่างธรรมนูญฯ ฉบับทบทวนที่สมบูรณ์ต่อ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ประมาณเดือนมีนาคม ๒๕๕๙ นี้ ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบเสนอรัฐสภาเพื่อทราบ จากนั้นจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ และขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติผ่านหน่วยงาน องค์กรภาคีต่อไป

          “สิ่งที่ธรรมนูญฯ ฉบับทบทวนนี้พยายามให้ชัดเจนขึ้น คือ การกำหนดสถานะธรรมนูญฯ โดยขยายความจากการเป็นกรอบอ้างอิงหรือเจตนารมณ์ร่วมของสังคมตามธรรมนูญฯ ฉบับแรกให้เป็นรูปธรรมขึ้น ได้แก่ หน่วยงานและองค์กรรัฐสามารถนำไปใช้เป็นกรอบ แนวทางพัฒนาให้เกิดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานด้านสุขภาพผ่านระบบแผนบริหารราชการ ภาคีเครือข่ายต่างๆ สามารถใช้เป็นเป้าหมายร่วมของการพัฒนาระบบสุขภาพ ชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่สามารถใช้เป็นแนวทางในการจัดทำธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ และยังเป็นเครื่องมือสื่อสารให้สังคมเข้าใจกรอบแนวทางระบบสุขภาพในอนาคตด้วย”

          ด้าน นพ.วิชัย โชควิวัฒน ที่ปรึกษาคณะกรรมการทบทวนธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๒ กล่าวว่า “ร่างธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติฉบับทบทวนนี้มีกระบวนการทำงานที่ดีมาก และได้พัฒนาเนื้อหาจากการรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนจริงๆ เชื่อว่าธรรมนูญฯ ฉบับใหม่ จะเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาสุขภาพของประชาชนและประเทศไทยได้ในอนาคต”

           ร่าง ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับทบทวน มีสาระสำคัญ ๔ ส่วน ได้แก่ ส่วนนำ ส่วนนิยามศัพท์ ส่วนหลักการสำคัญของระบบสุขภาพ รวม ๓ หมวด ได้แก่ ๑.ปรัชญาและแนวคิดของระบบสุขภาพ ๒. คุณลักษณะที่พึงประสงค์และเป้าหมายของระบบสุขภาพ และ ๓. การจัดให้มีหลักประกันและความคุ้มครองให้เกิดสุขภาพ ส่วน สาระรายหมวด รวมทั้งสิ้น ๑๔ หมวด ประกอบด้วย ๑.สิทธิด้านสุขภาพ ๒.การสร้างเสริมสุขภาพ ๓.การป้องกันและควบคุมโรคและปัจจัยที่คุกคามสุขภาพ ๔.การบริการสาธารณสุขและการควบคุมคุณภาพ ๕.การส่งเสริม สนับสนุน การใช้และการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือกอื่น ๖.การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ๗. การสร้างองค์ความรู้ด้านสุขภาพ ๘.การเผยแพร่ความรู้และข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ ๙.การสร้างและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ ๑๐.การเงินการคลังด้านสุขภาพ ๑๑.สุขภาพจิต ๑๒.สุขภาพปัญญา ๑๓.การอภิบาลระบบสุขภาพ และ ๑๔.ธรรมนูญสุขภาพพื้นที่

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...