ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
เอกชนหวั่น‘กรมราง’อำนาจล้นมือ ‘สราวุธ’อธิบดีป้ายแดงเร่งปั้นบุคลากร
04 มิ.ย. 2562

นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รักษาราชการตำแหน่งอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (กรมราง) เปิดเผยภายหลัง ครม.มีมติแต่งตั้งว่า ได้เข้าพบนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อหารือถึงการเตรียมความพร้อมในการทำงานตำแหน่งอธิบดีกรมราง โดยนายอาคมได้มอบหมายให้ไปศึกษาดูงานกับหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแล เช่น สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) หรือหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวง เช่น กรมการขนส่งทางบก สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)

ทั้งนี้ กรมราง ถือเป็นหน่วยงานใหม่ที่ต้องวางมาตรฐานไว้พอสมควร โดยหลังจากนี้จะขอความร่วมมือจากต่างประเทศ รวมถึงไปศึกษาดูงาน เช่น ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) รวมถึงกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวญี่ปุ่น (MLIT) เพื่อให้ความช่วยเหลือการจัดทำรูปแบบบริหารองค์กรที่ครบถ้วน ขณะเดียวกันในปี 2562 ที่ผ่านมา สนข.ได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ศึกษาการออกกฎหมายลูก รองรับกฎหมายการขนส่งทางราง ทำให้การขนส่งทางรางมีการกำกับดูแลให้สมบูรณ์

นายสราวุธ เปิดเผยด้วยว่า การจัดตั้งกรมรางดังกล่าว ถือเป็นภาระกิจหลักที่รัฐบาลชุดนี้ต้องการผลักดันตั้งแต่ช่วงต้นการเข้ามาบริหารประเทศในช่วงปี 2558 เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา มีการลงทุนเรื่องระบบรางหลายแสนล้านบาท ทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าเมืองหลวงและรถไฟความเร็วสูง 

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ภารกิจหลักของกรมรางที่จะเข้ามายกระดับงานบริการขนส่งสาธารณะที่เห็นภาพชัดๆ คือ การตั้งค่าประเมิน KPI ในงานบริการรถไฟฟ้า เช่น แต้มตรงต่อเวลาแต้มความแออัดของผู้โดยสารและแต้มความพึงพอใจ เป็นต้น นอกจากนี้ จะมีการเข้ามาคุมเรื่องราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายใหม่ที่จะเปิดบริการ นอกจากนี้ ยังมีตัวพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปรับปรุงกระทรวงทบวง กรม (ฉบับที่..)พ.ศ... ว่าด้วยการ จัดตั้งกรมการขนส่งทางราง และร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางราง พ.ศ... ซึ่งอยู่ระหว่างผลักดันบังคับใช้ภายในปีนี้ ทำหน้าที่เป็นกฎหมายให้เอกชนต้องปฏิบัติตาม รวมถึงเรื่องอื่นๆ อีกมากมายเกี่ยวกับระบบราง ดังนั้น ภาระกิจงานจะครอบคลุม รถไฟ รถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูง

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวเปิดเผผด้วยว่า การจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง เป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าและบริษัทเอกชนที่สนใจลงทุนโครงการระบบราชในอนาคตจนทำให้บางฝ่ายเกิดความเกรงกลัวถึงขอบเขตอำนาจของกรมดังกล่าว ทั้งการตั้งค่าประเมินประจำปี KPI ซึ่งจะมาพร้อมบทลงโทษหากไม่ทำตาม เช่นการปรับเงิน หรือการชดเชยค่าใช้จ่ายให้ผู้โดยสาร (payback) ในกรณีรถไฟฟ้าขัดข้องหรือมีการล่าช้าเกิดขึ้น(Delay) เช่นเดียวกับในต่างประเทศ ตลอดจนคุมราคาค่าโดยสารให้มีความเหมาะสม การเร่งรัดโครงการก่อสร้างระบบราง การสร้างกติกาทีมีผลทางกฎหมายให้ปฏิบัติร่วมกัน ตลอดจนการกำหนดเงื่อนไขในการประมูลโครงการเช่น กำหนดสัดส่วนวัตถุดิบที่ต้องผลิตในประเทศ (local content) เป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมทางรางของไทย อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อประชาชนผู้ใช้บริการ

สำหรับเรื่องบุุคลากร นายสราวุธ กล่าวว่า จะต้องพัฒนาและเรียนรู้เพื่อเตรียมพร้อมบริหารและบริการในระบบโครงข่ายรถไฟฟ้าที่จะเปิดให้บริการ ซึ่งได้สั่งการให้ไปศึกษาความรู้ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม โดยมอบหมายให้ไปดูงานของหน่วยงานด้านระบบ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส และบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เพื่อศึกษารูปแบบการบริหารจัดการเดินรถและให้บริการ เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของแต่ละหน่วย รวมทั้งมีโอกาสเข้าร่วมอบรมและสัมมนาในต่างประเทศด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบันกรมรางมีบุคลากรจาก สนข. 44 คน และที่ประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน อ.ก.พ. กระทรวงคมนาคมพิจารณาให้เพิ่มอีก 20 คน โดยจะรับโอนจากหน่วยงานต่างๆ หรือมีการเปิดสอบบรรจุใหม่ อย่างไรก็ตาม ช่วงแรกกรมรางมีบุคลากรข้าราชการ 64 คน จากข้าราชการทั้งหมด 176 คน และพนักงานข้าราชการอีก 27 คน รวม 203 คน ขณะที่ตำแหน่งรองอธิบดีกรมราง 1 ตำแหน่งนั้น ต้องรออำนาจปลัดกระทรวงคมนาคมลงนามแต่งตั้ง โดยไม่ต้องเสนอเข้า ครม.

ด้านตำแหน่งผู้อำนวยการกองแผนงานของกรมรางอีก 5 ตำแหน่ง ระดับผู้บริหารประกอบด้วย 1.สำนักงานเลขานุการกรม 2.กองกฎหมาย 3.กองกำกับกิจการขนส่งทางราง 4.กองมาตรฐานความปลอดภัยและบำรุงทาง และ 5.กองยุทธศาสตร์และแผนงาน จะเสนอที่ประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อกพ.) กระทรวงคมนาคม ช่วงปลายเดือน พ.ค. นี้ โดยมีรายชื่อผู้อำนวยการกองกรมรางเสนอ 1 คน แล้ว คือ นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสำนักโครงการพัฒนาระบบราง (สรร.) สนข. ให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน ส่วนอีก 4 ตำแหน่งต้องเปิดรับสมัครต่อไป

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...