ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
การเมือง / การปกครอง ย้อนกลับ
ร่างรัฐธรรมนูญ "ร่างแรก" ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ อปท.
15 ก.พ. 2559

ศ.ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูณ เปิดเผยว่า ร่างรัฐธรรมนูณ (ร่างแรก) ได้จัดทำแล้วเสร็จทั้ง 270 มาตรา 15 หมวด และหมวดเฉพาะกาล ซึ่งได้มีการแจกจ่ายไปยังคสช. รัฐบาล รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรภาคประชาชน เพื่อให้ช่วยกันพิจารณา เสนอแนะข้อคิดเห็นต่างๆ กลับไปให้คณะกรรมการฯเพื่อทบทวนหรือปรับปรุง ให้มีความเหมาะสมอีกครั้ง ก่อนจะนำไปทำประชามติ ว่าประชาชนเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ โดยได้บรรจุเนื้อความที่เกี่ยวข้องกับการปกครองท้องถิ่น โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ .-

1. รัฐต้องจัดให้มีการปกครองท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเอง ตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น

การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นการให้โอกาสและส่งเสริมความสามารถของประชาชนและชุมชนท้องถิ่นในการปกครองตนเอง อันเป็นรากฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและเป็นระบอบความรับผิดชอบและอำนาจหน้าที่ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนท้องถิ่นตามหลักการการกระจายอำนาจ เพื่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำหน้าที่จัดทำบริการสาธารณะ

2. การจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบใด ให้คำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในแต่ละท้องถิ่นและความสามารถในการปกครองตนเองในด้าน ต่างๆ

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในท้องถิ่นในการจัดทำบริการสาธารณะในท้องถิ่นโดยมีระบบการมีส่วนร่วมของประชาชน การบริหารงาน และการกำกับดูแลเท่าที่จำเป็น เพื่อให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล การจัดทำบริการสาธารณะ การส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา การเงินการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเป็นไปภายใต้หลักของความเป็นอิสระของ อปท. ซึ่งเป็นหลักในการบริหารงานหรือบริหารทรัพยากรให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น

3. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่และอำนาจดูแลและจัดทำบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน

                หน้าที่และอำนาจของ อปท.มี 3 ส่วน คือ (1) ส่วนที่เป็นภารกิจพื้นฐานที่อปท. ต้องปฏิบัติ ตามที่รัฐธรรมนูญ กำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐ เช่น การสาธารณสุข สาธารณูปโภค การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ เป็นต้น (2) ส่วนที่เป็นภารกิจ/อำนาจหน้าที่ที่เกิดจากมีกฎหมายอื่นกำหนดไว้ให้ อปท.ดำเนินการ เช่น การคมนาคม เป็นต้น  (3) ส่วนที่เป็นภารกิจเสริม ซึ่ง อปท.สามารถเลือกที่จะทำเพิ่มเติมได้ หลากหลายประเภท ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของแต่ละพื้นที่ อาทิ การเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ และการดูแลจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ  โดยให้อิสระแก่ อปท.ในการเลือกทำ/ไม่ทำ  และมีอิสระในการเลือกวิธีดำเนินงาน เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ตามภารกิจนั้นๆ

การจัดทำบริการสาธารณะของ อปท.แต่ละรูปแบบ ให้กำหนดหน้าที่ อำนาจ และความรับผิดชอบของ อปท.นั้นให้ชัดเจนในกฎหมาย โดยเฉพาะในกฎหมายที่กำหนด ขั้นตอนการกระจายอำนาจของส่วนราชการให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

สำหรับ กฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง พึงกำหนดหน้าที่และอำนาจและความรับผิดชอบของ อปท.แต่ละรูปแบบให้ชัดเจน ทั้งเรื่องของหน้าที่ อำนาจ และความรับผิดชอบ

ในการนี้ ให้มีคณะกรรมการการกระจายอำนาจแห่งชาติ เป็นองค์กรอิสระด้านการกระจายอำนาจ ขึ้นตรงกับฝ่ายบริหารของประเทศ ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการกระจายอำนาจโดยตรง และบูรณาการการทำงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่นไว้ด้วยกัน

4. รายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

รัฐต้องดำเนินการให้ อปท.มีรายได้ของตนเองให้สามารถดำเนินการจัดบริการสาธารณะในหน้าที่ของตนอย่างเพียงพอ ในระหว่างที่ยังไม่อาจดำเนินการได้ รัฐต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนให้ อปท.มีรายได้ที่เพียงพอดำเนินภารกิจ รัฐจะต้องให้สนับสนุนให้ อปท.มีรายได้ที่เพียงพอตามควรแก่กรณี ในการนี้ รัฐอาจจัดให้มีการประกันรายได้ของอปท. เพื่อให้มีรายได้ที่เพียงพอ สามารถดำเนินการตามภารกิจพื้นฐานขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติได้ อีกทั้งการจัดสรรเงินอุดหนุนให้ อปท.ต้องคำนึงถึงหลักความสามารถในการหารายได้  หลักการพึ่งพาตนเอง หลักความเป็นอิสระทางการคลังและหลักความเสมอภาคทางการคลัง

5. การบริหารงาน

ในการดำเนินงาน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น ต้องเปิดเผยข้อมูลและดำเนินการให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมและตรวจสอบโดย อปท.จะต้องสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง อาทิ การร่วมทำประชาคมเพื่อการวางแผนและตัดสินใจในการพัฒนาท้องถิ่น การดำเนินกิจกรรม/โครงการต่างๆของ อปท. การตรวจสอบโดยข้อมูล การดำเนินงาน ผลสำเร็จของงานและระดับการพัฒนาในคุณภาพชีวิตของประชาชน เป็นต้น

ในการจัดทำงบประมาณของ อปท. ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นจะแปรญัตติเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการหรือจำนวนในรายการมิได้ แต่อาจแปรญัตติในทางลดหรือตัดทอนรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายตามข้อผูกพัน อันได้แก่ เงินส่งใช้ต้น เงินกู้  เงินที่กำหนดให้จ่ายตามกฎหมาย ในการพิจารณาของสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น การเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใดๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่นมีส่วนไม่ว่าโดยตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย จะกระทำมิได้ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการกระทำดังกล่าว ให้ผู้กระทำการดังกล่าวขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่ง

นอกจากนี้ อปท.อาจมอบหมายการดำเนินภารกิจพื้นฐานบางประเภทให้แก่องค์กรชุมชน/ภาคประชาสังคมในการดำเนินการแทนได้และอาจให้การสนับสนุนทางงบประมาณ เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่จำเป็นแนวทางการดำเนินการกำกับดูแลและตรวจสอบโดยภาคประชาชน

6. การกำกับดูแล

การกำกับดูแล อปท.ต้องทำเพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม การป้องกันทุจริตและการใช้จ่ายเงินอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและความแตกต่างของ อปท.แต่ละรูปแบบ และต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์และการป้องกันการก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการส่วนท้องถิ่นด้วย

รธน.ยังกำหนดให้ อปท.ต้องรายงานข้อมูลที่จำเป็นต่อสาธารณะเป็นประจำ เช่น ผลการดำเนินงาน การจัดซื้อ จัดจ้าง การใช้จ่ายงบประมาณ รายงานทางการเงินการบัญชี เป็นต้น

                สำหรับการกำกับดูแลหรือการตรวจสอบ อปท.จะต้องคำนึงถึงเป้าหมายในการจัดการประเด็นปัญหาสาธารณะในชุมชนท้องถิ่นเป็นสำคัญ โดยต้องไม่ก้าวล่วงความเป็นอิสระของ อปท. ในการเลือกวิธีการจัดการปัญหาที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และต้องสนับสนุนให้ อปท.บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ได้ตามความเหมาะสมและต้องไม่ติดขัดปัญหาเรื่องพื้นที่ดำเนินงานซึ่งเป็นการให้อิสระแก่ อปท.ในการเลือกดำเนินภารกิจและวิธีการที่เหมาะสมในแต่ละบริบทชุมชนท้องถิ่น

ในการนี้ กฎหมายกระจายอำนาจ (หรือกฎหมายจัดตั้งองค์กรบริหารท้องถิ่น) ควรกำหนดให้อำนาจชี้ขาดในการกำกับดูแล อปท.หรือการวินิจฉัยเกี่ยวกับการดำเนินงาน การเงินการคลังหรือการถอดถอนผู้บริหาร/สมาชิกสภาท้องถิ่น ฯลฯ อยู่ที่ศาลปกครองหรือศาลอื่นๆ (ศาลวินิจฉัยทางการเงินการคลัง) เป็นต้น เพื่อป้องกันมิให้หน่วยงานรัฐใช้อำนาจกำกับดูแลหรือการตรวจสอบอปท.มากเกินควร จนขัดหรือแย้งต่อหลักความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

7. โครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

รธน.ยังกำหนดให้ รูปแบบและโครงสร้างของ อปท. เป็นไปตามเจตนารมณ์ความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น

1) สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งอาจเป็นการเลือกตั้งทางตรงหรือทางอ้อมก็ได้

2) ผู้บริหารท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งหรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น

3) ในกรณีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ผู้บริหารท้องถิ่นจะให้มาด้วยวิธีการใดก็ได้ โดยต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย

8. การบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

การบริหารงานบุคคลของ อปท.ควรมีแนวทางและมาตรการที่เหมาะสม ให้มีคณะกรรมการบริหารงานบุคคลกลางของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย กฏ มาตรการ และการปฏิบัติงานต่างๆในการบริหารงานบุคคลที่เป็นการวางมาตรฐานกลางให้แก่การบริหารงานบุคคลของอปท.ในรูปแบบต่างๆ เช่น การวางแผนอัตรากำลัง การสอบเพื่อการบรรจุและแต่งตั้ง การเลื่อนชั้นการเลื่อนตำแหน่ง การโอนย้าย ระบบค่าตอบแทนและสวัสดิการ วินัย และการให้ออกจากราชการ เพื่อให้ อปท.ทุกรูปแบบสามารถพัฒนาร่วมกันหรือมีการสับเปลี่ยนบุคลากรระหว่าง อปท.ด้วยกันได้

9. การเสนอข้อบัญญัติและการถอดถอนผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น

ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีสิทธิเข้าชื่อกันเพื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นหรือเพื่อถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นได้ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...