ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
พบอีกแล้ว !! ปลอมปนยาในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เตือนประชาชนอย่าซื้อมาบริโภค
27 มิ.ย. 2562

อย. ได้รับแจ้งข้อมูลพบการปลอมปนยาในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีฉลากภาษาไทย จากประเทศแคนาดา เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อซื้อมาบริโภค อาจได้รับอันตราย แนะตรวจสอบเลขที่อนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพเบื้องต้น ผ่านช่องทางของ อย. เพื่อความปลอดภัย

 
นพ. ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ติดตามข้อมูลจากเว็บไซต์ของหน่วยงานที่กำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพจากประเทศแคนาดา (Health Canada) ซึ่งแจ้งพบผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากภาษาไทย และ พบการปลอมปนยาในผลิตภัณฑ์ 10 รายการ 
ได้แก่ 1. Adriana Balance S
        2. Asunsa 
        3. C.U. Plus 
        4. Grakcu Capsule 
        5. Nuvitra 
        6. PAYA Dietary Supplement Product 
        7. Liangzern Dietary Supplements 
        8. Baschi Quick Slimming Capsule 
        9. Lyn DTOX FS3 
 และ 10. Chapter Plus+

โดยทั้ง 10 รายการ พบการปลอมปนยาไซบูทรามีน ซิลเดนาฟิล ทาดาลาฟิล ฟีนอล์ฟทาลีน ฟลูออกซิทีน และไดโคลฟีแนค เป็นต้น แต่จากการตรวจสอบฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพของ อย. พบเลขที่ใบอนุญาตผลิตภัณฑ์เฉพาะ 7 รายการแรก ซึ่งจำนวนนี้มี 3 รายการ คือ ผลิตภัณฑ์ลำดับที่ 2. Asunsa ลำดับที่ 5. Nuvitra และลำดับที่ 7. Liangzern Dietary Supplements ที่ถูกยกเลิกเลขที่ใบอนุญาตไปแล้ว ส่วนผลิตภัณฑ์ลำดับที่ 8. Baschi Quick Slimming Capsule ลำดับที่ 9. Lyn DTOX FS3 และลำดับที่ 10. Chapter Plus+ พบการแสดงฉลากภาษาไทย แต่ไม่พบข้อมูลการขึ้นทะเบียนนประเทศไทยแต่อย่างใด 

ทั้งนี้ อย. ได้ยกเลิกเลขสารบบอาหารบางรายการเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการยกเลิกเลขสถานที่ผลิตอาหารและเลขสารบบอาหารในผลิตภัณฑ์อีกบางรายการ พร้อมทั้งได้มีการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนอันตรายจากผลิตภัณฑ์แก่ประชาชนผ่านทางสื่อต่าง ๆ 

อย่างไรก็ตาม ขอเตือนผู้บริโภคทั้งในประเทศและผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศ ขออย่าซื้อผลิตภัณฑ์ตามรายชื่อดังกล่าวมารับประทาน เพราะเสี่ยงได้รับอันตรายจากสารที่ปลอมปนมากับผลิตภัณฑ์ เช่น ฟลูออกซิทีน อาจทำให้ง่วงซึม มึนงง นอนไม่หลับ อาเจียน ใจสั่น ตาพร่ามัว สมรรถภาพทางเพศลดลง ซิลเดนาฟิล อาจทำให้เกิดอาการตัวแดง ท้องเสีย ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ สูญเสียการมองเห็น ไซบูทรามีน ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว อาจถึงขั้นเสียชีวิต เป็นต้น และอย่าหลงเชื่อโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ให้ระมัดระวังการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ เนื่องจากมักจะตรวจพบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน หรือผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย ปนเปื้อนสารที่ไม่ได้รับอนุญาต ไม่ผ่านการรับรองจาก อย. 

เลขาธิการ ฯ กล่าวในตอนท้ายว่า อย. มีการตรวจสอบโฆษณาและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในท้องตลาด และทางสื่อต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง หากพบการกระทำผิดจะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ก่อนการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพใด ๆ ขอให้ผู้บริโภคตรวจสอบสถานะเลข อย. โดยสามารถตรวจได้ด้วยตัวเองผ่าน 4 ช่องทาง คือ Line : FDAthai, ORYOR Smart Application, เว็บไซต์ http://www.fda.moph.go.th และเว็บไซต์ http://www.oryor.com หากพบเลขผลิตภัณฑ์ไม่ตรงกับฐานข้อมูลของ อย. หรือพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือ E-mail:1556@fda.moph.go.th หรือตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11000 หรือผ่านทาง Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...