ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
‘ดีอี’เปิดรายชื่อ 10 โครงการเด่น ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ-สังคมยุคใหม่
03 ก.ค. 2562

กระทรวงดีอี เปิดรายชื่อ 10 โครงการเด่น ขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่เศรษฐกิจและสังคมยุคใหม่ ติดอาวุธความรู้คนไทยครอบคลุมพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมหลายพันล้านบาท หนุนตัวเลขการลงทุนด้านดิจิทัลตลอด 4 ปี กว่า 45,000 ล้านบาท

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวถึงผลงานความสำเร็จของกระทรวงดิจิทัลฯ ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา โดยเป็นผลจากความมุ่งมั่นของหน่วยงานในสังกัด ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการสำคัญที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศและประชาชนในวงกว้าง โดยมีโครงการโดดเด่น 10 โครงการ จากการดำเนินงานภายใต้ 5 ธีมหลัก

โดยในธีมที่ 1 การเปลี่ยนแปลงในด้านคน มีผลงานสำคัญคือ โครงการเน็ตประชารัฐ ซึ่งกระทรวงฯ ได้มอบหมายให้ บมจ. ทีโอที ดำเนินการ ได้ขยายโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไปยัง 24,700 หมู่บ้าน รองรับการใช้งานของประชาชน 5.53 ล้านคน และยังเป็นฐานต่อยอดไปสู่การพัฒนาศักยภาพคนทั่วประเทศในการเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างทั่วถึงเท่าเทียม เช่น การเพิ่มทักษะแรงงานผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้านเกษตรอัจฉริยะ (เกษตร 4.0) ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิต และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น

“โครงการเน็ตประชารัฐ เพิ่งจะได้รับรางวัลชนะเลิศระดับโลก ในงาน “World Summit on the Information Society (WSIS) Prizes 2019” ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์อีกด้วย” ดร.พิเชฐกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนากำลังคนดิจิทัลผ่านการยกระดับทักษะของเยาวชนไทยกว่า 200,000 คนทั่วประเทศ ผ่านแพลตฟอร์ม CodingThailand.org เพื่อกระตุ้นความตื่นตัวในการเรียนรู้โค้ดดิ้งซึ่งจะเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญในยุคดิจิทัล และการส่งเสริมด้านการเท่าทันสื่อและการใช้สื่อโซเชียลอย่างมีวิจารณญาณในวงกว้าง ผ่านแพลตฟอร์ม Digitzen

สำหรับธีมที่ 2 การเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจ ดำเนินการผ่านโครงการ Digital Startup & Digital Transformation ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) พัฒนาระบบเศรษฐกิจดิจิทัลแบบก้าวกระโดด คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 2,900 ล้านบาท  และกระตุ้นให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจและบริการ รวมถึงเกษตรกรรม ส่งผลให้เกิดอุตสาหกรรม S-Curve โดยผลการดำเนินการใน 4 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดเป็นมูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล กว่า 45,000 ล้านบาท และในปีที่ผ่านมา มีอัตราขยายตัวของการลงทุนกว่าร้อยละ 50

ธีมที่ 3 การเปลี่ยนแปลงสู่ “สังคมดิจิทัล” ซึ่งดำเนินการผ่าน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการดิจิทัลชุมชนด้าน E-Commerce บูรณาการใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐ สู่การขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าของผู้ประกอบการและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ผ่านระบบบริหารร้านค้าปลีกสำหรับชุมชน “Point of Sale ( POS)”  และเว็บไซต์ Thailandpostmart.com ปัจจุบันมีผู้ขึ้นทะเบียนจำหน่ายสินค้าในระบบ POS แล้ว 900 ราย จำนวนสินค้า 1,700 รายการ  สร้างรายได้ให้ชุมชนประมาณ 20 ล้านบาท

ส่วนอีก 2 โครงการ เป็นการใช้ประโยชน์จาก Big Data เพื่อสร้างสังคมดิจิทัล ประกอบด้วย โครงการสำรวจผู้มีรายได้น้อย ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยนำข้อมูลผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ประมาณ 2.9 ล้านคน มาเชื่อมโยงกับข้อมูลสำมะโนเกษตร เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลสถานะของเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพื่อให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเข้าไปแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกรได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และโครงการใช้ข้อมูลบิ๊กดาต้าเพื่อการเตือนภัย  โดยเปิดให้คนทั่วไปเข้าถึงข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่เกิดจากการบูรณาการข้อมูลของภาครัฐ ซึ่งระบบนี้ทำให้ประชาชนทั่วประเทศกว่า 67 ล้านคน ได้รับข้อมูลข่าวสาร การเตือนภัย และสามารถเตรียมความพร้อมได้เป็นอย่างดี

ในธีมที่ 4 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เพื่อรองรับระบบเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมี 2 โครงการ ได้แก่  Digital Park Thailand และ IoT and Digital Innovation Institute ของ บมจ. กสท โทรคมนาคม และดีป้า  โดย Digital Park Thailand ได้ออกแบบให้เป็นเมืองนวัตกรรมดิจิทัลครบวงจร บนพื้นที่ 703 ไร่ ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่อีอีซี รองรับการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการลงทุนและพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียน ขณะที่ IoT and Digital Innovation Institute คาดว่าการก่อสร้างอาคารหลังแรกจะแล้วเสร็จในปี 2563 สถาบันฯ นี้จะเป็นฐานการออกแบบสินค้าและบริการเทคโนโลยี IoT, AI, Robotics, AR, VR และ 5G

ส่วนอีกโครงการ คือ ศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาบุคลากรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (ASEAN-Japan Cybersecurity Capacity Building Centre: AJCCBC)  จัดตั้งโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.)  โดยได้รับการสนับสนุนจากประเทศญี่ปุ่น ทั้งด้านงบประมาณและองค์ความรู้ โดยมีภารกิจในการยกระดับการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของอาเซียน

สำหรับธีมที่ 5  การพัฒนาระบบนิเวศน์ของเศรษฐกิจดิจิทัลทั้งในประเทศ และระดับอาเซียน โครงการที่โดดเด่นภายใต้ธีมนี้ ได้แก่ ASEAN Digital Agility เน้นการพัฒนา 5 ด้านได้แก่ Cyber Security, Smart City, Connectivity and Mobility, Harmonization and Alignment และ Manpower & Society เป็นการวางแนวทางการสร้างระบบนิเวศน์ดิจิทัลในระดับอาเซียน รองรับบทบาทของประเทศไทยที่ปีนี้เป็นประธานอาเซียน

โครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ปัจจุบัน ดีป้า ทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ร่วมกับกระทรวงพลังงาน และกระทรวงคมนาคม ปีที่ผ่านมาได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานนำร่องเมืองอัจฉริยะ 7 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต ขอนแก่น เชียงใหม่ กรุงเทพฯ และในพื้นที่อีอีซี 3 จังหวัด คือ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา สำหรับปีนี้จะจะนำร่องเพิ่มเติมเป็นไม่ต่ำกว่า 24 เมือง

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลฯ มีความมุ่งมั่นต่อพันธกิจในการใช้ดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งนับเป็นเป้าหมายหนึ่งที่มีความสำคัญในการสร้างประเทศไทยยุคใหม่ที่เรียกว่า ดิจิทัลไทยแลนด์ ด้วยหลักการสำคัญ 3 ประการ คือ ความทั่วถึงเท่าเทียม การพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน และการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งหลักการทั้ง 3 ประการนี้ ได้นำมาใช้อย่างสม่ำเสมอผ่านมาตรการทางด้านดิจิทัลต่างๆ ทั้ง 5 ด้าน หรือที่เรียกว่า “SIGMA” ได้แก่

1. Security การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ 2. Infrastructure โครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัล 3. Government การสร้างรัฐบาลดิจิทัล 4. Manpower การสร้างกำลังคนทางด้านดิจิทัล และ 5. Application การพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมและการประยุกต์ใช้ทางด้านดิจิทัล

ทั้งนี้ ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้มีการผลักดันและออกกฎหมายการจัดตั้งสำนักงานไซเบอร์ หรือสำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สร้างระบบการดูแลมาตรฐานภาครัฐ ระบบทางด้าน IoT ระบบดาวเทียมในอนาคต การจัดทำแผนแม่บทดิจิทัลของอาเซียน และการสร้างแพลตฟอร์ม ฝึกอบรมทรัพยากรมนุษย์ทางด้านไซเบอร์ ซึ่งจะช่วยหนุนเสริมเป้าหมายไปสู่ความสำเร็จของการพัฒนา ดิจิทัล ไทยแลนด์ โดยดำเนินการควบคู่ไปกับหลักการ 3 ข้อ คือ 1. ความต่อเนื่องและการขยายผล 2. การพัฒนาคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะใหม่ ทักษะของการยกระดับ และทักษะของการปรับปรุงทางด้านดิจิทัลฝีมือแรงงาน 3. ความร่วมมือ 3 ประสาน นั่นก็คือ ภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...