ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจชุมชน ย้อนกลับ
“ซีพี ออลล์” ร่วมโครงการพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำ จับมือ “โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP)”–“องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก).” ลดก๊าซเรือนกระจกสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
15 ก.ค. 2562

รายงานของเครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Solutions Network) และมูลนิธิ Bertelsmann Stiftung ระบุว่า ในปี 2562 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 40เลื่อนขึ้นจากปีที่ผ่านมา 19 อันดับ จากการพิจารณาตามดัชนีชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) ซึ่งเป็นอันดับที่สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยในรายงานได้กล่าวถึงความสำเร็จของประเทศไทยในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการขจัดความยากจน การจัดการน้ำ และการสุขาภิบาล การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เหมาะสม และอัตราว่างงานในระดับต่ำ ขณะเดียวกัน ยังระบุถึงพัฒนาการในด้านการสาธารณสุข สภาพความเป็นอยู่ ความเท่าเทียมกันทางเพศ การเข้าถึงพลังงานสะอาด อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน

ความสำเร็จ และพัฒนาการที่ได้รับยกย่องต่างๆ เหล่านี้ล้วนมาจากความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐบาล เอกชน หรือประชาชน ด้วยบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทย ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อม และภาวะโลกร้อน จึงมุ่งมั่นที่จะเป็นองค์กรที่มีจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยได้เริ่มดำเนินโครงการรณรงค์ลดและเลิกการใช้ถุงพลาสติกอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านโครงการ 7 Go Green มาตั้งแต่ปี 2550 ต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 10 ปี เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับชุมชน สังคม และประเทศชาติ

ล่าสุด ได้ร่วมมือกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNDP Thailand) และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ในการร่วมลดก๊าซเรือนกระจกผ่านระบบการจัดการเมืองอย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำ โดยเบื้องต้นจะเริ่มใน 5 พื้นที่ ได้แก่ เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลนครเกาะสมุย เทศบาลนครนครราชสีมา และเทศบาลนครภูเก็ต

นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาความยั่งยืน บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ซีพี ออลล์ เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาความยั่งยืนของประเทศชาติ สังคม และชุมชนมายาวนาน โดยในบริษัทฯ ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI) ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (DJSI Emerging Markets) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 และระดับโลก (DJSI World) เป็นปีแรกในหมวดธุรกิจค้าปลีกอาหาร และสินค้าอุปโภคบริโภค (Food & Staples Retailing) ประจำปี 2561 นับเป็นบริษัทไทยเพียงแห่งเดียวที่ผ่านการคัดเลือกในหมวดอุตสาหกรรมนี้ และยังคงยึดมั่นที่จะสร้างความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

(สุวิทย์ กิ่งแก้ว)

“โครงการแรกที่บริษัทฯ ได้ทำเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมก็คือ การลดขนาดใบเสร็จรับเงินของร้านเซเว่นฯ จากสถิติเราสามารถลดกระดาษคิดเป็นความยาวได้ถึง 2.58 ล้านกิโลเมตร ต่อมาเป็นเรื่องของการเปลี่ยนมาใช้หลอดไฟประหยัดพลังงาน และเครื่องปรับอากาศประหยัดไฟฟ้า ซึ่งรวมแล้วสามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ถึงร้อยละ 20 ขณะที่ ในเรื่องของบรรจุภัณฑ์ ปัจจุบันเราเลิกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากโฟมแล้วทั้งหมด และการลดการใช้ถุงพลาสติกซึ่งรณรงค์มาแล้วประมาณ 10 ปี และล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคมปีที่แล้ว จนถึงวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา เราลดถุงพลาสติกไปแล้วกว่า 516 ล้านใบ ซึ่งทุกถุงที่ลดได้มีมูลค่า 20 สตางค์ บริษัทได้เตรียมนำไปบริจาคให้แก่โรงพยาบาลใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ รวมเป็นเงินประมาณ 100 ล้านบาท”

 

ขณะที่ นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ. ซีพี ออลล์ กล่าวว่า ไม่เพียงโครงการลดใช้ถุงพลาสติกเท่านั้น แต่ทางซีพี ออลล์ มีความตั้งใจและดำเนินงานด้านการลดใช้พลังงานมายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นการใช้หลอดไฟประหยัดพลังงาน การเปลี่ยนมาใช้เครื่องปรับอากาศประหยัดกระแสไฟฟ้า หรือการติดตั้งแผงโซลารูฟที่ศูนย์กระจายสินค้าต่างๆ และนี่ก็เป็นโอกาสอันดีที่จะได้ร่วมมือกับภาครัฐ และองค์กรระหว่างประเทศ ในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อันเนื่องมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“ในช่วงที่มีวิกฤติพลังงาน ซีพี ออลล์ได้มีส่วนร่วมกับนโยบายการประหยัดพลังงานมาโดยตลอด เพราะการดำเนินธุรกิจของเราไม่ได้คิดถึงเพียงลูกค้าของเราเท่านั้น หากแต่เรายังคำนึงถึงภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง วันนี้เป็นเรื่องที่ดีมากที่ซีพี ออลล์ ได้รับเกียรติให้มาร่วมงานกับ อบก. และยูเอ็นดีพี ซึ่งบริษัทฯ ก็หวังจะเป็นส่วนหนึ่งของประชากรของโลกที่จะช่วยทำให้โลกใบนี้น่าอยู่ยิ่งขึ้น” นายก่อศักดิ์กล่าว

ด้าน นายเรอโนด์ เมเยอร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นดีพี ประจำประเทศไทย ระบุว่า การบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้นไม่สามารถทำได้เพียงลำพังซึ่งภาคธุรกิจเองก็เป็นกุญแจสำคัญในฐานะที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสินค้า และบริการ การจ้างงาน การจ่ายภาษีเพื่อพัฒนาสังคม และประเทศ การคิดค้น และพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์ความท้าทายในมิติต่างๆ

“เราอาจจะคิดว่านี่เป็นปัญหาที่ใหญ่เกินกว่าจะแก้ไข หรือเป็นเรื่องไกลตัว แต่ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ทำหน้าที่อะไรในสังคม ทุกๆ คนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ แค่บอกไม่รับถุงพลาสติกในครั้งต่อไปที่ซื้อของ ถ้าสิบคน ร้อยคน ล้านคนช่วยกัน จะต้องเห็นความเปลี่ยนแปลงได้แน่นอน” นายเรอโนด์ย้ำ

(ประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย)

ส่วน นางประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย ผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ระบุว่า ความร่วมมือในวันนี้จะเป็นตัวอย่างที่ดีของกิจกรรมในประเทศไทยที่ช่วยกันดูแลด้านสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศ ซึ่งการที่ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่าง

จริงจังนั้นแสดงให้เห็นว่า แม้ประเทศไทยจะไม่ได้มีนโยบายเชิงบังคับ แต่ภาคเอกชนก็พร้อมใจที่จะมีส่วนช่วยให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น

“ปัญหาโลกร้อนเป็นเรื่องใกล้ตัวและส่งผลกระทบกับประชาชนทุกคน ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นเรื่องที่สำคัญมาก การลดใช้ถุงพลาสติกเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทุกคนสามารถร่วมมือร่วมใจกันได้ โดยลดการใช้อย่างแข็งขัน ร่วมกันเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อช่วยโลกให้สามารถชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ช้าลง” ผู้อำนวยการ อบก. ย้ำ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...