ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
พลังงาน / สิ่งแวดล้อม ย้อนกลับ
กฟน. ร่วม บก.ปคบ. บก.ปอท. สคบ. กฟผ. และ PEA แถลงการทลายเครือข่ายหลอกลวงขายเครื่องประหยัดไฟ
23 ส.ค. 2562

     

     การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ร่วมกับ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) แถลงการทลายเครือข่ายผลิตภัณฑ์ซึ่งแอบอ้างว่าสามารถช่วยประหยัดไฟฟ้าได้ โดยพบของกลางกว่า 100 ชิ้น มูลค่าความเสียหายทั้งหมดกว่า 50 ล้านบาท โดย กฟน. และอีก 2 การไฟฟ้ายืนยันเครื่องประหยัดไฟในบ้านอยู่อาศัยไม่มีจริง ณ ห้องประชุม บก.ปคบ. ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ 

วันนี้ (23 สิงหาคม 2562) นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในฐานะโฆษก กฟน. ร่วมแถลงข่าวการเข้าทลายกลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวงขายอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า โดยมี พล.ต.ต.ศิร์ธัชเขต ครูวัฒนเศรษฐ์ ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท. ในฐานะโฆษก บก.ปอท. และนายพิฆเนศ ต๊ะปวง รองเลขาธิการ สคบ. เป็นผู้แถลงการดำเนินงานดังกล่าว โดยเข้าตรวจค้นสถานที่จำนวน 2 แห่ง ในย่านเคหะร่มเกล้า กรุงเทพมหานคร และจังหวัดชลบุรี โดยทั้งสองแห่งพบอุปกรณ์ประหยัดไฟ Power Factor และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องรวมกว่า 100 ชิ้น จากการตรวจสอบเพิ่มเติม พบว่า ช่องทางการจำหน่ายอุปกรณ์ประหยัดไฟดังกล่าว ผ่านทาง Facebook Fanpage มียอดขายเฉลี่ยวันละประมาณ 100 เครื่อง โดยดำเนินการมาแล้วประมาณ 2 ปี มีรายได้รวมกว่า 50 ล้านบาท

ผู้ช่วยผู้ว่าการ กฟน. ในฐานะโฆษก กฟน. เปิดเผยว่า กฟน. ขอขอบคุณ บก.ปคบ. บก.ปอท. ตลอดจนหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน ในการร่วมกันทลายแหล่งจำหน่ายอุปกรณ์ประหยัดไฟ ซึ่งไม่สามารถประหยัดไฟได้จริง รวมไปถึงยังแอบอ้างโดยการนำภาพข่าวของ กฟน. และสื่อมวลชนต่าง ๆ ไปตัดต่อสร้างความน่าเชื่อถือใช้โฆษณาชวนเชื่อหลอกลวงประชาชน ซึ่ง กฟน. พร้อมด้วย กฟผ. และ PEA ได้แจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีกับกลุ่มมิจฉาชีพซึ่งนำภาพของเจ้าหน้าที่การไฟฟ้า และโลโก้ของการไฟฟ้าดังกล่าว มาแอบอ้างโฆษณาชวนเชื่อว่ามีอุปกรณ์ที่สามารถประหยัดค่าใช้ไฟฟ้าในบ้านไปแล้ว ที่ บก.ปอท. เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่ง กฟน. ได้ทำการผ่าพิสูจน์ในตัวเครื่องดังกล่าว พบเป็นเพียงตัวควบคุมหลอดแอลอีดี และคาปาซิเตอร์ ซึ่งเป็นตัวเก็บประจุ โดยมีอุปกรณ์หลักที่ทำหน้าที่เพียงแค่ 2 ชิ้นเท่านั้น ซึ่งแท้จริงแล้วอุปกรณ์ทั้งหมดนั้นไม่สามารถประหยัดไฟได้ตามที่แอบอ้างแม้แต่อย่างใด อีกทั้งยังส่งผลให้เสียค่าไฟเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งหากใช้งานไปนานๆอาจส่งผลให้เกิดไฟไหม้ภายในตัวบ้านได้อีกด้วย

ผู้ช่วยผู้ว่าการ กฟน. ในฐานะโฆษก กฟน. กล่าวเพิ่มเติมว่า กฟน. มีความห่วงใยประชาชนขอเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ เนื่องจากอุปกรณ์ดังกล่าวฯ ไม่สามารถประหยัดไฟฟ้าได้จริงและอาจส่งผลให้ระบบไฟฟ้าผิดปกติหรือกระทบต่อระบบจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งอาจมีความผิดตามกฎหมายได้ สำหรับอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าที่มีอยู่จริงนั้น จะนำมาใช้ในบางกรณีสำหรับภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น เป็นอุปกรณ์ที่มีราคาสูงซึ่งจะประหยัดไฟฟ้าได้ในลักษณะการเรียกเก็บค่าเพาเวอร์แฟคเตอร์ เช่น กิจการขนาดกลาง กิจการขนาดใหญ่ หรือกิจการเฉพาะอย่าง ดังนั้น ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยทั่วไปแทบจะไม่ได้รับประโยชน์จากการติดตั้งเครื่องประหยัดไฟฟ้าเหล่านี้ ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือต้องการขอคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถติดต่อผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ของ 3 การไฟฟ้า หรือติดต่อผ่าน MEA Call Center โทร. 1130 หรือ PEA Call Center 1129 หรือศูนย์บริการข้อมูล กฟผ. โทร. 1416 ที่พร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง หรือหากพบการกระทำความผิด หรือเป็นผู้เสียหาย สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ. โทร.1135

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...