ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
รมว.ดีอี ชมความร่วมมือรัฐ-เอกชนขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0
26 ส.ค. 2562

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2562 นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พร้อมคณะ ได้ปฏิบัติการกิจลงพื้นที่ตรวจราชการงานโครงการสำคัญของกระทรวงฯ ณ จังหวัดชลบุรี และจังหวัดฉะเชิงเทรา ในโอกาสนี้ได้เข้าเยี่ยมชมงาน depa- AMATA-SMART Classroom & AMATA –SMART City Showcase และรับฟังบรรยายเกี่ยวกับการแนะนำเมืองอัจฉริยะอมตะ ที่นิคมอมตะซิตี้ ชลบุรี ต่อจากนั้นได้เดินทางไปเยี่ยมชมโครงการเน็ตประชารัฐบ้านวังสะแก หมู่ที่ 3 ต.ปากน้ำ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา

ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ได้ร่วมกับบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการ SMART Classroom @ AMATA EDUTown เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการขานรับยุทธศาสตร์ชาติ ในเรื่องการพัฒนากำลังคนดิจิทัล ซึ่งถือเป็นรากฐานของการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งรองรับการพัฒนาพื้นที่อีอีซีให้เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ Thailand 4.0

นายพุทธิพงษ์ ได้เป็นประธานเปิดตัวเปิดตัวห้องเรียนอัจฉริยะ (depa-AMATA SMART Classroom) ขึ้นเป็นแห่งแรกในอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี เพื่อเป็นศูนย์กลางในเรื่องการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบสำหรับการพัฒนากำลังคนและบุคลากรด้านดิจิทัล รวบรวมความรู้และเทคโนโลยีดิจิทัลในอุตสาหกรรมหลัก เช่น  Robotic, Mechatronics, Smart Electronic, Automotive, Internet of Thing (IoT) เป็นต้น และยังเป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้เกิดเครือข่ายในการพัฒนา EEC Digital Training Hub ในรูปแบบ PPAP (Public Private Academic Partnership) ด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล

“ปัจจุบันกำลังและบุคลากรในสาขาเหล่านี้ ประเทศยังมีความขาดแคลน โดยในปี 2563 depa AMATA SMART Classroom แห่งนี้ จะเป็นสถานที่ในการพัฒนาและยกระดับกำลังคนและบุคลากรสาขาดังกล่าว ซึ่งตั้งเป้าหมายพัฒนากำลังคนและบุคลากร ไม่น้อยกว่า 12,000 ราย และความพิเศษสุด คือ ผู้ที่ต้องการพัฒนาและยกระดับตนเอง สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา” นายพุทธิพงษ์ กล่าว

ที่ผ่านมา บมจ.อมตะ ได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยอมตะ ขึ้นในพื้นที่นิคมอมตะซิตี้ ชลบุรี  โดยเป็นส่วนหนึ่งใน “โครงการเมืองการศึกษาอมตะ” หรือ AMATA EDUTown เพื่อรองรับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอมตะ (AMATA SMART CITY) ในพื้นที่อีอีซี มีการจัดการศึกษาหลักสูตรของมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกด้านวิศวกรรม รองรับการเป็นเมืองอัจฉริยะในพื้นที่อีอีซี และได้เสนอโครงการ Smart University เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการส่งเสริมสนับสนุนแนวทางการพัฒนาบุคลากรทางดิจิทัล และบุคลากรรองรับเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ มีการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทชั้นนำระดับโลก หน่วยงานด้านการศึกษาของไทย และสถาบัน Thai German Institute

จากนั้น นายพุทธิพงษ์ พร้อมทั้งนางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความสำเร็จการใช้ประโยชน์จุดติดตั้งเน็ตประชารัฐ บ้านวังสะแก จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นศูนย์กลางของชาวบ้านทั้งเด็กเล็ก นักเรียนเพื่อการเรียนรู้และเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านเกษตร /รองรับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สำหรับชุมชน โดยมี น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดีอี/หัวหน้าคณะทำงานกำกับและติดตามงานโครงการเน็ตประชารัฐและประธานกรรมการ บมจ.ทีโอที ดร.มนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และนางพิมพ์วิมล วงษ์สุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดและเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง บมจ.ทีโอที และ ส.อ.จักรกฤษณ์ พิสุทฺธิทร้พย์ ผู้ใหญ่บ้านวังสะแก หมู่ที่ 3 ให้การต้อนรับพร้อมรับนโยบายเร่งต่อยอดพัฒนาการใช้ประโยชน์โครงข่ายเน็ตประชารัฐ

รมว.ดีอี กล่าวว่า นโยบายของกระทรวงฯ มุ่งตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศโดยเฉพาะโครงการเน็ตประชารัฐสามารถตอบสนองสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม โดย 24,700 หมู่บ้านเน็ตประชารัฐสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนและชุมชน ซึ่งจุดติดตั้งเน็ตประชารัฐของบ้านวังสะแก มีการนำเทคโนโลยีมาสร้างธุรกิจให้กับชุมชนโดยการค้าขายมะม่วงกวนออนไลน์ รวมถึงการเสริมความรู้ด้านการเกษตรสร้างรายได้ให้กับครอบครัว

โดยในการลงพื้นที่ครั้งนี้ รมว.ดีอี ยังได้รับชมการสาธิตเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) สำหรับฉีดพ่นสารเหลวในพื้นที่เกษตร และร่วมพูดคุยกับเกษตรกรปลูกข้าว และร่วมหาแนวทางเพื่อใช้ดิจิทัลลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตต่อแปลง และใช้ดิจิทัลเพื่อเพิ่มโอกาสในการจำหน่าย

นอกจากนี้ กระทรวงดีอี ได้เร่งต่อยอดการใช้ประโยชน์โดยได้มอบหมายให้ ทีโอที ดำเนินการพัฒนาความรู้การใช้ประโยชน์ให้กับประชาชน ทั้งการพัฒนาทีมสนับสนุนระดับจังหวัด พัฒนาแกนนำอาสาเน็ตประชารัฐ พัฒนาทักษะด้านดิจิทัลการบ่มเพาะและพัฒนาหมู่บ้านเน็ตประชารัฐต้นแบบ รวมถึงการจัดประกวดและแสดงผลงานหมู่บ้านเน็ตประชารัฐต้นแบบ นอกจากนี้ เพื่อรองรับความต้องการของประชาชน กระทรวงฯ ได้เตรียมที่จะขยายจุดติดตั้งเน็ตประชารัฐทั้งหมู่บ้านเพิ่มเติมอีกทั่วประเทศ

น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดีอี/หัวหน้าคณะทำงานกำกับและติดตามงานโครงการเน็ตประชารัฐ และประธานกรรมการบมจ.ทีโอที กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการเน็ตประชารัฐ มีผู้ลงทะเบียนใช้งาน WiFi จำนวน 6,840,688 คน โดยที่ผ่านมาโครงการได้สร้างวิทยากรแกนนำ 1,033 คน อบรมผู้นำชุมชน 100,446 คน พัฒนาการใช้ประโยชน์ให้ กับประชาชนในหมู่บ้านเน็ตประชารัฐจำนวน 1,224,632 คน พัฒนาผู้นำและเครือข่ายเน็ตอาประชารัฐ 24,700 หมู่บ้าน

นอกจากนี้ โครงการฯ ประสบความสำเร็จอย่างสูงสามารถคว้ารางวัล WSIS Project Prize 2019 ซึ่งจัดขึ้นโดย สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ITU ได้รับการโหวตติด 1ใน 5 โครงการพื้นฐานของสารสนเทศและการสื่อสารที่ดีที่สุดของโลก ซึ่งนับเป็นความสำเร็จสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย

ดร.มนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทีโอที ได้ต่อยอดโครงการโดยพัฒนาแอปพลิเคชั่นเครือข่ายเน็ตอาสาประชารัฐ และ Live 360 ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นที่มีฟังก์ชั่นการใช้งานสำหรับชีวิตประจำวันของประชาชน และรวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับธุรกิจขนาดเล็กเพื่อรองรับการเศรษฐกิจของชุมชน ด้วยศักยภาพด้านบริการโทรคมนาคมและบริการดิจิทัลของประเทศ

 “ทีโอที พร้อมที่จะสนับสนุนโครงการสำคัญของประเทศ เพื่อเสริมสร้างการใช้งานและร่วมพัฒนาชุมชน เพื่อให้ประชาชนได้มีความรู้ และนำเทคโนโลยีไปใช้งานจริงในการดำรงชีพ สร้างความเข็มแข็งเติบโตให้กับชุมชน นำประเทศไปสู่ความความยั่งยืน” ดร.มนต์ชัยกล่าว

ทั้งนี้ พื้นที่บ้านวังสะแก ส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก และที่ผ่านมาประสบความสำเร็จจากการติดตั้งเน็ตประชารัฐ ตามโครงการของรัฐบาล แบ่งออกเป็น 3 ด้านหลัก  ได้แก่ 1.ด้านการศึกษา/เรียนรู้ สำหรับเยาวชนและนักศึกษาในทุกระดับ 2.ด้านการเกษตร  และ 3. ด้านการท่องเที่ยว ได้พัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และเกษตรกรรม รวมถึงต่อยอดการใช้ประโยชน์ของสถานที่ติดตั้งเน็ตประชารัฐ ณ บริเวณที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน ให้เป็นศูนย์บริการรับเรื่องราวร้องทุกข์

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...