ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจชุมชน ย้อนกลับ
เปิดใจผู้นำวทอ.พระจอมเกล้าพระนครเหนือ สร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ครบ360องศาพร้อมบุกอาเซียน
26 ก.ย. 2562

          จากอัตราการเกิดใหม่ของจำนวนประชากรไทยที่ลดลงนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อภาคการศึกษาในระดับต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับอุดมศึกษามหาวิทยาลัย เพราะจำนวนนักศึกษาที่ลดลงนำมาซึ่งการปิดหลักสูตรในรั้วมหาวิทยาลัย ปัญหาผู้เรียนลดลงได้ส่งผลกระทบไปทั่วมหาวิทยาลัยรัฐ และเอกชน มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่หลายแห่งก็ยังติดกับดักปัญหาเดิมๆ โดยเฉพาะเรื่องผลิตคนไม่ตอบโจทย์กับตลาดยุคใหม่ รวมทั้งเปลี่ยนเป้าหมายของผู้เข้าเรียนใหม่ ให้มีทั้งนักเรียน นักศึกษา คนทำงาน และคนสูงอายุ ด้วยรูปแบบหลักสูตรระยะสั้นและระยะยาว ต้องคำนึงถึงทิศทางในการพัฒนาประเทศ สร้างจุดเด่นและจุดขายที่โดดเด่นแตกต่างไปจากมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วโลก

            วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม(วทอ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มีหลักสูตรอยู่ด้วยกัน 3 ระดับคือ ระดับ ปวช. ระดับปริญญาตรี และระดับบัณฑิตศึกษา มีจำนวนนักศึกษา ปวช. จำนวน 1,800 คน ระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษารวมกันประมาณ 5,000 คน โดยทั้งคณะมีนักศึกษารวมกันทั้งหมดประมาณ 6,000 – 7,000 คน  วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมมีจุดแข็งที่เก่าแก่มาอย่างยาวนาน คือ ความเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมมากที่สุด สามารถผลิตบุคลากรให้เข้าสู่อุตสาหกรรมได้มากที่สุดของประเทศไทย โดยเมื่อเข้าสู่อาชีพการทำงานนักศึกษาสามารถปฏิบัติงานได้ทันที

              รองศาสตราจารย์ ดร.สมิตร ส่งพิริยะกิจ คณบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เปิดเผยว่า “ วทอ.ของเรามีการสร้างและผลิตบัณฑิตที่มีทักษะการทำงานวิศวกรรมและทักษะการใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างครบถ้วน ในปีนี้เราจัดทำโครงการ TOPHAT คือ โครงการต้องการที่จะใส่หมวกให้นักศึกษาเพิ่มขึ้น เพื่อให้นักศึกษามีความรู้ทางด้านการเข้าสังคม ทักษะในการดำรงชีวิตในด้านต่าง ๆ ทั้งเรื่องเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์หรือว่าการใช้ดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่น สำหรับนักศึกษานอกจากจะมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่เป็นจุดแข็งอยู่แล้ว ยังสามารถที่จะออกไปเป็นผู้ประกอบการที่ดีมีศักกยภาพ TOPHAT เป็นกิจกรรมภายนอกห้องเรียนมีทั้งหมด 70 กิจกรรม นักศึกษาสามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันและภายนอกห้องเรียนเมื่อเรียนจบออกไป โดยนักศึกษาจำนวน 7,000 กว่าคนนั้นอาจจะมีความต้องการที่หลากหลาย นักศึกษาสามารถที่จะเลือกเรียนได้ตามความสนใจของตนเองเช่น ร้องเพลง กีฬา เขียนโปรแกรมในมือถือ การสอนการล้างแอร์ การดูแลแอร์ เติมน้ำยาแอร์ รวมถึงการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เป็นต้น กิจกรรมทั้งหมดเป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างให้นักศึกษามีความมั่นใจในตัวเองในการดำเนินชีวิตต่อไป นักศึกษาแต่ละคนต้องลงเรียนเทอมละ 2 - 3 วิชา ทางคณะไม่ได้นับเป็นหน่วยกิต แต่จะใช้เป็นชั่วโมงกิจกรรมแทนโดยที่คณะจะมีสมุดให้เก็บตัวแสตมป์เมื่อนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม ในแต่ละปีเราจะมีการออกใบรับรองให้กับนักศึกษาที่ที่ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้นักศึกษาจะได้มีเป็นแฟ้มสะสมงานเพื่อที่จะใช้ในการสมัครงานต่อไป โดยปีนี้เป็นปีแรกอาจารย์แต่ละกิจกรรมที่สอนนั้นจะเป็นอาจารย์ทั้งจากภายในและภายนอก บางวิชาที่ไม่เชี่ยวชาญทางคณะจะเชิญวิทยากรข้างนอกเข้ามาสอน ซึ่งถ้านักศึกษาขาดความรู้ในด้านไหนเราก็จะเอาความรู้ในด้านที่ขาดเข้าไปเติมเต็ม เพื่อที่จะช่วยให้นักศึกษานั้นมีความรู้ที่ครอบคลุมมากขึ้นกว่าเดิม”

            “ที่สำคัญในปีนี้วทอ.ให้ความสำคัญกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียน ทางคณะมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นกลุ่มประเทศใหม่ ๆ ที่เราเริ่มร่วมมือกัน ซึ่งแต่เดิมเป็นที่ทราบกันดีว่าชื่อมหาวิทยาลัยเดิมเราชื่อว่า วิทยาลัยเทคนิคไทย-เยอรมัน เรามีความสัมพันธ์อันดีกับมหาวิทยาลัยในประเทศเยอรมันเป็นทุนเดิมอยู่แล้วหลาย 10 มหาวิทยาลัย แต่ในปีนี้ทางคณะเริ่มที่จะมีความร่วมมือมากขึ้นกับมหาวิทยาลัยในกลุ่มอาเซียน โดยมีโครงการแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักศึกษาการทำงานวิจัยร่วมกันร่วมกับมหาวิทยาลัยเซบูเทคโนโลจิคอล ประเทศฟิลิปปินส์ นอกจากนี้คณะยังได้ร่วมกับVictoria University College Myanmar มหาวิทยาลัยประเทศพม่า ซึ่งมีการส่งนักเรียนมาเรียนกับทางคณะวทอ.ปีละไม่ต่ำกว่า 50 คนต่อเทอมเป็นประจำทุกปี ที่สำคัญนักเรียนในมหาวิทยาลัยแถบอาเซียนก็มีความสนใจและอยากที่จะมาเรียนต่อในประเทศไทย ประเทศพม่าเป็นตลาดเปิดใหม่และเป็นช่องทางที่ดีที่นักศึกษาจะได้เข้ามาเรียนรู้วิธีการทำงานด้านวิศวกรรมในประเทศไทย ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อน ๆ ที่เป็นนักศึกษาไทย เมื่อเขากลับไปยังประเทศแล้วอาจจะต้องการการลงทุนเทคโนโลยีต่าง ๆ จากประเทศไทยผ่านวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ”   คณบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวทิ้งท้าย

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...