ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
พลังงาน / สิ่งแวดล้อม ย้อนกลับ
ภาครัฐร่วมแผนปฏิบัติการป้องกัน แก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ
22 มี.ค. 2559

         เข้าสู่ช่วงฤดูร้อนปัญหาที่พบเจอมากที่สุดช่วงนี้คงหนีไม่พ้นการจัดการแก้ปัญหาหมอกควัน ทางด้านคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ แนวทางปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ปี 2559 โดยเน้นการป้องกันก่อนเกิดเหตุไม่ให้เกิดการเผาและการลุกลามของไฟจนยากที่จะควบคุม เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด

          โดยจะเน้นการระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วน เครือข่ายอาสาสมัคร อุปกรณ์เครื่องมือ เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการเผาและไฟป่าในพื้นที่เสี่ยง รวมถึงให้ความรู้และเข้าถึงชุมชนเพื่อสร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมในการลดการเผาตลอดช่วงวิกฤต ปี 2559 และในช่วงวิกฤตหมอกควันที่จังหวัดกำหนด จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้ลักลอบเผา โดยบูรณาการและสั่งการจากผู้ว่าราชการจังหวัดตามระบบศูนย์สั่งการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command)

          นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือปี 2559 เพื่อกำหนดให้เป็นนโยบายรัฐบาล และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติต่อไป และอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงินรวม 93.8180 ล้านบาท เพื่อดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขหมอกควันภาคเหนือ ปี 2559 ในส่วนของการดำเนินงานของ 9 จังหวัดได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน และตาก

          สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรี และ 12 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ทส. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงกลาโหม (กห.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ทก.) กระทรวงพลังงาน (พน.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) และ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)

          หลังจากที่ได้มีการบูรณาการร่วมกันทั้ง 12 กระทรวง ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ชาติอาเซียนประสบปัญหาไฟป่าและหมอกควันทุกปี ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจำนวนมาก การประชุมครั้งนี้จะกำหนดเป้าหมาย มาตรการ และแนวทางแก้ปัญหา ก่อนนำข้อสรุป เสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การปฏิบัติต่อไป นอกจากนี้ยังได้ฝึกร่วมการจำลองสถานการณ์ในการควบคุมไฟป่า โดยบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาไฟป่าหมอกควันในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ในรูปแบบประชารัฐ ประกอบด้วย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำนักการบินอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กองทัพอากาศ กองทัพภาคที่ 3 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมฝนหลวงและการบินเกษตร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่า เข้าร่วมฝึกควบคุมสถานการณ์ไฟป่าตามแผนระดมพลดับไฟป่าใน 3 ระดับ ประกอบด้วย สถานการณ์ปกติ สถานการณ์รุนแรง และสถานการณ์วิกฤต ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายจากการเกิดไฟป่า ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดหมอกควัน อันจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน รวมถึงเศรษฐกิจและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

           ทั้งนี้ แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน มี 4 ขั้นตอน คือ 1.เตรียมการ โดยเปิดศูนย์เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ และประสานข้อมูลสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ (War Room) ภายใต้ศูนย์อำนวยการป้องกันแลแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันแห่งชาติ

          2.ก่อนวิกฤต คือช่วงเริ่มมีไฟ มีการควบคุมสถานการณ์ และแจ้งเตือน โดยจัดให้มีการรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจถึงผลกระทบที่เกิดจากการเผาที่มีต่อชุมชนให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง และมีการบังคับใช้กฎหมายในกรณีที่ฝ่าฝืน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของประชาชนและส่วนรวม นอกจากนี้จัดให้มีการฝึกร่วมการจำลองสถานการณ์ในการควบคุมไฟป่าในรูปแบบประชารั 3. ช่วงวิกฤต คือช่วงที่เกิดภาวะไฟป่าหมอกควัน จัดให้มีการระดมสรรพกำลังดับไฟในพื้นที่ และ4. ฟื้นฟูและสร้างความยั่งยืน

          นอกจากนี้กระทรวงพลังงาน ได้เริ่มเดินหน้าโครงการลดปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ด้วยเทคโนโลยีพลังงาน นำซังข้าวโพดผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งแทนการเผาทิ้งเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม หมอกควัน ลดผลกระทบปัญหาสุขภาพประชาชนและกู้วิกฤตการท่องเที่ยว สนับสนุนการวิจัยนำเปลือก-ซังข้าวโพดมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งทดแทนการใช้ก๊าซ LPG และน้ำมันเตา ในภาคอุตสาหกรรม เตรียมพัฒนาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ หวังส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในประเทศให้เพิ่มขึ้น และเพิ่มรายได้เกษตรกรในพื้นที่

          นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงพลังงานได้ลงพื้นที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการ "ลดปัญหาหมอกควันภาคเหนือด้วยเทคโนโลยีพลังงาน" ในการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือที่เกิดจากการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายนของทุกปี ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัยของประชาชน และที่สำคัญส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของพื้นที่ภาคเหนือ

          กระทรวงพลังงาน จึงได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ร่วมกับสหกรณ์การเกษตรแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ทำการศึกษาวิจัยและนำร่องก่อสร้างโรงงานต้นแบบผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งขึ้น โดยนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในพื้นที่ ได้แก่ เปลือก ลำต้น ใบ และซังข้าวโพด มาทดลองผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง ใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนก๊าซ LPG และน้ำมันเตาในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจากการศึกษาวิจัยพบว่า เชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งจากของเหลือใช้จากข้าวโพด หรือ Corn Pellet ที่ผลิตได้ มีคุณภาพดี ให้ความร้อนสูง ขี้เถ้าน้อย และต้นทุนไม่สูงมากเกินไป ที่สำคัญ สามารถลดการเผาเปลือกและซังข้าวโพดในพื้นที่โล่งของ อ.แม่แจ่ม ได้ถึง 2,000 ตัน/ปี ช่วยลดฝุ่น และทำให้คุณภาพอากาศโดยรอบดีขึ้น

          "จากผลสำเร็จในโครงการฯ กระทรวงพลังงาน จะมีการขยายผลพัฒนาการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งเพิ่มขึ้น ให้ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนก๊าซ LPG และน้ำมันเตา เพื่อลดต้นทุนพลังงาน ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนตามเป้าหมายแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) และในอนาคต หากสามารถขยายผลใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนได้ ก็จะสามารถลดการเผาเปลือกและซังข้าวโพดได้มากถึง 585,000 ตันต่อปี ลดฝุ่นและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่สำคัญ ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน และช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวภาคเหนือ สร้างรายได้เข้าประเทศอีกทาง" นายอารีพงศ์กล่าว

          ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ ก๊าซ LPG และ น้ำมันเตา เป็นเชื้อเพลิงในปัจจุบัน หันมาใช้เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดแทน กระทรวงพลังงานจึงได้เตรียมมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการใน 2 มาตรการ ได้แก่ 1. สนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง ด้วยการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อการลงทุน และ 2. สนับสนุนเงินลงทุนบางส่วนให้ผู้ประกอบการ ที่ต้องการเปลี่ยนเฉพาะหัวเผาหม้อไอน้ำ เพื่อให้สามารถใช้เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดได้ โดยสนับสนุนในอัตราร้อยละ 30 แต่ไม่เกิน 2 ล้านบาทต่อแห่ง (นำร่อง 100 แห่งทั่วประเทศ) โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการกำหนดหลักเกณฑ์ผู้ที่จะยื่นข้อเสนอขอรับการสนับสนุน

          ทางด้านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ได้จัดทำโครงการรณรงค์การทำปุ๋ยหมักสูตรพระราชทานจากตอซังข้าวโพดและเศษพืช เพื่อการปรับปรุงบำรุงดินและลดปัญหาหมอกควัน สืบเนื่องจากเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ได้เกิดปัญหาไฟป่าและหมอกควันขึ้นในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ ซึ่งนำไปสู่การเกิดภาวะโลกร้อน ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต และสภาพแวดล้อมโดยทั่วไป นอกจากนี้ การเผาทำลายเศษพืชหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต ยังเป็นการทำลาย อินทรียวัตถุและสิ่งมีชีวิตในดิน ทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงเพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นำไปสู่การเกิดภาวะเรือนกระจกที่เป็นปัญหาโลกร้อน

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...