ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
ขอนแก่น - นครราชสีมา จัดระเบียบแหล่งน้ำใหม่ เพื่อรับมือภัยแล้ง
29 ต.ค. 2558

ผู้ว่าฯ ขอนแก่นรู้ทันผู้นำท้องถิ่น ออกกฎเหล็ก สั่งเก็บกักน้ำและงดเบิกงบค่าน้ำมัน หลังชาวบ้านร้องเรียนพฤติกรรมทุจริตหลายแห่ง กำชับนายอำเภอ ท้องถิ่นอำเภอ ท้องถิ่นจังหวัด ขันน็อตพฤติกรรมโกง  ส่วนผู้ว่าฯ โคราชพร้อมรับมือภัยแล้ง เชื่อเอาอยู่

นายกำธร ถาวรสถิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นว่า ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องและคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำในจังหวัดขอนแก่น และคณะกรรมการในจังหวัดลุ่มแม่น้ำชี-น้ำพอง ที่ครอบคลุมพื้นที่ ประกอบด้วย จ.หนองบัวลำภู จ.ขอนแก่น จ.มหาสารคาม จ.กาฬสินธุ์ และจ.ร้อยเอ็ด เพื่อหารือในการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ ที่เหลือเพียง 27 % ของความจุ และเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก นอกจากนี้ เขื่อนลำปาวก็พบว่าช่วงเข้าฤดูแล้ง น้ำลดน้อยลงตามลำดับ และถือว่าปี 2558 ปริมาตรน้ำในแต่ละเขื่อน ลดน้อยผิดปกติ และเชื่อว่า จะส่งผลกระทบในปี 2559 และในภาคอีสานจะประสพภัยแล้งอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงเชิญผู้เกี่ยวข้องเร่งหารือ และเตรียมพร้อมในการจัดการบริหารน้ำอย่างรัดกุม และให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด โดยเฉพาะการใช้น้ำ ปลูกข้าว ปลูกอ้อย และเลี้ยงสัตว์

 

ผู้ว่าฯขอนแก่น กล่าวว่า  ในเบื้องต้นได้หารือ กับคณะกรรมการบริหารจัดการบริหารจัดการน้ำ จะมีมาตรการขอความร่วมมือเกษตรกรให้งดทำนาปรังโดยเด็ดขาด งดเลี้ยงปลาในกระชัง และประสานงานการประปา เพื่อให้มีน้ำบริโภคอย่างเพียงพอตลอดทั้งปี พร้อมกันนี้ได้กำชับไปยังนายอำเภอแต่ละอำเภอ ให้ลงไปประสานงานเรื่องการบริหารจัดการน้ำกับ ผู้นำท้องท้องถิ่นทั้งหมดในแต่ละพื้นที่ ให้กักเก็บน้ำในหนองน้ำสาธารณะให้มากที่สุด และห้ามสูบน้ำจากหนองน้ำทุกแห่ง เนื่องจากทางกรมชลประทานทุกแห่ง จะเข้าสู้การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือภัยแล้งในปี 2559

 

นอกจากนี้ทางจังหวัดยังได้ทำหนังสือแจ้งไปยัง นายอำเภอ ท้องถิ่นอำเภอ ท้องถิ่นจังหวัด ให้แจ้งไปยังนายกอบต. นายกเทศมนตรี และปลัดเทศบาล ปลัดอบต. ห้ามเบิกเงินงบประมาณเรื่องค่าน้ำมันเชื้อเพลิงในการสูบน้ำเพื่อการเกษตร  เนื่องจากในระหว่างที่ตนเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าฯขอนแก่น มีประชาชนในหลายพื้นที่ร้องเรียนพฤติกรรมนายกอบต. ปลัดอบต. เจ้าหน้าที่การเงินการคลัง ทุจริตเงินงบประมาณกันทุกโครงการ

 

ซึ่งเรื่องร้องเรียน ทางท้องถิ่นจังหวัดได้รายงานเรื่องมายังตน และเรื่องอยู่ระหว่างรายงานไปยังกระทรวงมหาดไทย และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และหากพบว่านายกอบต. ปลัดอบต. เจ้าหน้าที่การเงินการคลัง กระทำผิด จะต้องถูกดำเนินคดีทุกรายด้วย ดังนั้นประชาชนจะเห็นว่าการดำเนินการล่าช้านั้น เนื่องจากต้องรวบรวมเอกสารหลักฐานต่างๆ จึงขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในการทำงานของรัฐบาล และคสช.ในการปราบปรามเรื่องทุจริตของผู้นำท้องถิ่นด้วย

 

ส่วนทางด้าน นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงสถานการณ์และแนวโน้มวิกฤตปัญหาภัยแล้งปี 2558/2559 ถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาของ จ.นครราชสีมา ว่า รัฐบาลได้เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดประกาศแจ้งเตือนไปยังประชาชนให้ร่วมกันประหยัดน้ำ เนื่องจากสถานการณ์น้ำในเขื่อนทั่วประเทศมีปริมาณน้อย ประชาชนจำเป็นต้องมีการจัดการบริหารน้ำให้ดีเพื่อมีน้ำไว้ใช้ไปตลอดฤดูแล้งนี้ โดยเฉพาะการปลูกพืชฤดูแล้งประชาชนควรงดการปลูกและหันหาอาชีพอื่นมาเสริมแทน ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดมาตรการ 8 มาตรการในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ไม่สามารถปลูกพืชฤดูแล้งนี้ได้

 

“ได้ขอความร่วมมือไปยังพี่น้องประชาชนในการร่วมกันประหยัดน้ำ เนื่องจากน้ำต้นทุนในแต่ละเขื่อนขณะนี้มีปริมาณน้อย เพียง 30-40% ของความจุเขื่อนเท่านั้น จึงมีความจำเป็นต้องเก็บน้ำที่มีไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภค ส่วนเรื่องในการทำการเกษตรนั้นอาจต้องละเว้น อย่างไรก็ตาม ทางจังหวัดจะได้มีการส่งเสริมอาชีพ เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนแทนการทำการเกษตร”

 

สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับเกษตรกร คือ นาข้าวที่กำลังออกรวงและจะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือน พ.ย.นี้ ที่ฝนเริ่มทิ้งช่วง นาข้าวอาจได้รับความเสียหายได้ ทางจังหวัดได้หารือในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อเข้าไปช่วยเหลือให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปให้ได้ ดังนั้น เกษตรกรควรเร่งกักเก็บน้ำและเร่งสูบน้ำเข้านา เพื่อให้นาข้าวไม่ได้รับความเสียหาย ในส่วนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในเขตพื้นที่ อ.เมืองนครราชสีมานั้น ขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคองมีปริมาณน้ำเหลือปริมาณ 100 ล้านลูกบาศก์เมตรการดึงน้ำมาใช้ในการทำน้ำประปา ตั้งแต่เขตพื้นที่ อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน และ อ.เมืองนครราชสีมา จะต้องใช้น้ำในการผลิตน้ำประปารวมกันประมาณวันละ 2 แสน ลบ.ม. หรือเดือนละ 6 ล้าน ลบ.ม. จากการคาดการณ์น้ำที่มีอยู่จะสามารถใช้ได้ 7 เดือน จนถึงเดือน พ.ค. 2559 อย่างแน่นอน ส่วนเรื่องการทำการเกษตรนั้นต้องมีการหารือและช่วยเหลืออีกครั้งหนึ่ง

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...