ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
เกษตรฯ เปิดวอร์รูม สั่ง 11 จังหวัด ตัดวงจรโรคใบด่างมันสำปะหลัง
05 พ.ย. 2562

ภายหลังจาก ครม.มีมติอนุมัติให้จัดการป้องกันกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง กรมส่งเสริมการเกษตร จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการติดตามสถานการณ์และดำเนินการป้องกันและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง เพื่อตัดวงจรระบาด นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมาย นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้กำกับและดูแลตัดวงจรระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลัง ให้หมดสิ้น รวมทั้งปฏิบัติตามระเบียบทางราชการอย่างเคร่งครัด พร้อมสั่งการให้ทุกจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง อีก 50 จังหวัด เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สำหรับการจัดการโรคใบด่างมันสำปะหลัง ที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญของเกษตรกรผู้ปลูกมัน ในขณะนี้ ได้เปิด วอร์รูม เพื่อสั่งการให้ เกษตรจังหวัด ทั้ง 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี นครราชสีมา สระแก้ว สุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ที่พบการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง จัดการทำลายและเยียวยาเกษตรกร

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการป้องกันและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง จะดำเนินการ ดังนี้ 1. การสำรวจและชี้เป้าพื้นที่ระบาด โดยมีเจ้าหน้าที่เกษตร เกษตรกร เครือข่ายอกม. ร่วมกันสำรวจพื้นที่ที่ปลูกมันสำปะหลัง 2. หากพบการลักษณะคล้ายเป็นโรคใบด่างให้เก็บตัวอย่างส่งพิสูจน์ความเป็นโรค ทั้งนี้ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช (สอพ.) กรมวิชาการเกษตร ตรวจวินิจฉัยตัวอย่าง ซึ่งจะทราบผลภายใน 3 วัน ทั้งนี้ พื้นที่ที่วินิจฉัยว่าเป็นโรคจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปจัดการทำลายต้นมันสำปะหลังเป็นโรคใบด่างมันสำปะหลัง และจะทำลายตามหลักวิชาการอย่างถูกต้อง ซึ่งหลังจากการทำลาย เกษตรกรจะต้องพักแปลง 2 เดือน

โดยรัฐได้เตรียมชดเชยรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่ได้รับผลกระทบ ไร่ละ 3,000 บาท นอกจากนี้ ในพื้นที่ 50 จังหวัดที่มีการปลูกมันสำปะหลัง จะส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ท่อนพันธุ์สะอาดพร้อมใช้มาตรการทางกฎหมายควบคุมการนำเข้าท่อนพันธุ์จากต่างประเทศและการขนย้ายท่อนพันธุ์ภายในประเทศ รวมทั้งติดตามสถานการณ์การระบาดของใบด่างมันสำปะหลัง อย่างใกล้ชิด เพื่อให้โรคมหันตภัยร้ายนี้ไม่ลุกลามและจัดการให้หมดสิ้น

สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่จะได้รับการชดเชย ต้องเป็นเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร (ทบก.) กับกรมส่งเสริมการเกษตร และเป็นแปลงมันสำปะหลังที่ปลูกในช่วงเดือนเมษายน – 30 กันยายน 2562 และระยะเวลาแจ้งข้อมูลการพบต้นมันสำปะหลังที่แสดงอาการใบด่าง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 – 30 มิถุนายน 2563

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...