ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
สศก.ดึง Agri-Map/Big data พัฒนาข้อมูล ช่วยเกษตรกรปรับการผลิตระดับภาค
24 ธ.ค. 2562

สศก.แนะแนวทางปรับเปลี่ยนการผลิตระดับภาค เตรียมดึง Big data พัฒนาฐานข้อมูลสินค้าเกษตรสำคัญ ปี 63

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงนโยบายบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจ (Zoning by Agri-Map) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้เกษตรกรจัดทำแผนการผลิต ปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสมเป็นการผลิตสินค้าที่เหมาะสม สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และความต้องการของตลาด สศก.จึงได้จัดทำแนวทางการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจระดับภาค โดยใช้ Agri-Map และ Big data ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อปรับสมดุลของอุปสงค์และอุปทานของสินค้าเกษตรในแต่ละพื้นที่ โดยได้ศึกษาวิเคราะห์พืช/กิจกรรม เพื่อเป็นทางเลือกในการสร้างโอกาสที่จะได้รับรายได้เพิ่มขึ้น ลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ สอดคล้องความต้องการของตลาดของแต่ละภูมิภาค

นายพลเชษฐ์ ตราโช ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร สศก.กล่าวในรายละเอียดของผลการศึกษาและแนวทางการบริหารจัดการแต่ละภาค พบว่า ภาคเหนือมีพื้นที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งเป็นที่ราบ เหมาะสมกับการเพาะปลูกข้าวและพืชไร่ และมีผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อยโรงงาน ส่วนภาคเหนือตอนบนมีพืชผักและไม้ผล เป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญ หากพิจารณาถึงความเหมาะสมของที่ดินในการเพาะปลูกข้าว พบว่า มีพื้นที่เหมาะสมมากและเหมาะสมปานกลาง (S1/S2) รวม 12.4 ล้านไร่ (ร้อยละ 82) โดยเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวให้มากขึ้น และการปรับเปลี่ยนการผลิตเป็นข้าวอินทรีย์ ข้าว GAP ซึ่งตลาดมีความต้องการในกลุ่มผู้รักสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน สำหรับพื้นที่เหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสม (S3/N) มีจำนวน 2.8 ล้านไร่ (ร้อยละ 18) ซึ่งต้องมีการปรับเปลี่ยนการผลิตไปสู่สินค้าเกษตรที่มีศักยภาพ และมีโอกาสทางการตลาดทดแทน ได้แก่ มะม่วงน้ำดอกไม้ กล้วยน้ำว้า ไผ่ ไม้เศรษฐกิจ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง และ พืชผักปลอดภัย ในภาคเหนือตอนบน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ทางการเกษตรมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 43 ของประเทศ และนับได้ว่ามีพื้นที่ปลูกข้าวมากที่สุดของประเทศ ส่วนใหญ่ปลูกข้าวหอมมะลิ 105 ในพื้นที่ตอนกลางและตอนล่างของภาค โดยเฉพาะพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ โดยพืชหลักที่สำคัญของภาค ได้แก่ ข้าว อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง อย่างไรก็ตาม การทำการเกษตรของเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม ประกอบกับพื้นที่ชลประทานน้อยกว่าทุกภาค ส่งผลให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ในภาพรวมต่ำกว่าระดับประเทศ สำหรับด้านความเหมาะสมของที่ดินในการเพาะปลูกข้าว พบว่า มีพื้นที่เหมาะสมมากและเหมาะสมปานกลาง (S1/S2) รวม 20.3 ล้านไร่ (ร้อยละ 47) โดยควรเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและมาตรฐานข้าวหอมมะลิในทุ่งกุลาร้องไห้ไปสู่การผลิตให้เป็นสินค้า Premium เพื่อการส่งออก และมีพื้นที่เหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสม (S3/N) จำนวน 22.9 ล้านไร่ (ร้อยละ 53) โดยควรมีการปรับเปลี่ยนไปสู่สินค้าที่มีศักยภาพและตรงความต้องการของตลาด ได้แก่ กล้วยหอมทอง เงาะ ไม้ดอกไม้ประดับ พริก หรือการปลูกพืชเสริมรายได้หลังการทำนา ได้แก่ ข้าวโพดสดเพื่อเป็นอาหารสำหรับปศุสัตว์ รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพด้านแหล่งน้ำและการปรับปรุงดินร่วมด้วย

ภาคกลาง เป็นภาคที่มีศักยภาพการใช้ที่ดินสำหรับการพัฒนาการเกษตร เนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์ ประกอบกับ มีระบบชลประทานที่ดี โดยมีพื้นที่ทำการเกษตร 18.25 ล้านไร่ และยังมีพื้นที่ชลประทานสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ทำให้ภาคกลางเป็นแหล่งทำการเกษตรที่หลากหลายทั้งพืช ปศุสัตว์ และประมง โดยเฉพาะสินค้าข้าวที่มีพื้นที่ปลูกข้าวทั้งนาปีและนาปรัง สำหรับความเหมาะสมดินในการเพาะปลูกข้าว พบว่า มีพื้นที่เหมาะสมมากและเหมาะสมปานกลาง (S1/S2) จำนวน 7.7 ล้านไร่ (ร้อยละ 91) ซึ่งมีความพร้อมทางด้านกายภาพที่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกข้าวเป็นอย่างมาก แนวทางการพัฒนาจึงเป็นการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการเพิ่มมูลค่าสินค้าข้าว ด้วยการผลิตข้าวที่มีคุณภาพมาตรฐานตลอดโซ่อุปทาน รวมทั้งการบริหารจัดการสินค้าให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด และในพื้นที่เหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสม (S3/N) จำนวน 0.8 ล้านไร่ (ร้อยละ 9) จึงเสนอให้ปรับเปลี่ยนเป็นสินค้าศักยภาพที่ควรส่งเสริม ได้แก่ พืชผัก (ตะไคร้ ข่า) ว่านหางจระเข้ พืชสมุนไพร เนื่องจากมีตลาดของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรรองรับ และพืชอาหารสัตว์ รองรับฟาร์มปศุสัตว์ที่กระจายอยู่ทั้งภาค

ภาคตะวันออก เป็นแหล่งเพาะปลูกผลไม้ที่สร้างมูลค่า ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ลำไย และพืชไร่ที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวและมันสำปะหลัง นอกจากนี้ ยังมีศักยภาพในการทำการประมง แต่ปัจจุบันพื้นที่ทำการเกษตรของภาคตะวันออก ได้เปลี่ยนไปเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ประกอบกับทรัพยากรธรรมชาติค่อนข้างเสื่อมโทรมจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัย ดังนั้น แนวทางการพัฒนาที่สำคัญ จึงเป็นแนวทางเพื่อรักษาพื้นที่เกษตรกรรมควบคู่กับการส่งเสริมการผลิตที่เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น โดยกำหนดผังเมืองเขตพื้นที่เกษตรกรรม เมือง อุตสาหกรรม และพื้นที่ประมงชายฝั่งให้มีความชัดเจน สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ส่วนพื้นที่เพาะปลูกข้าว พบว่า มีพื้นที่เหมาะสมมากและเหมาะสมปานกลาง (S1/S2) จำนวน 2.3 ล้านไร่ (ร้อยละ 77) แนวทางการพัฒนาจึงเน้นการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิต ดูแลรักษา การเก็บเกี่ยวเพื่อรักษาคุณภาพผลผลิตให้ได้มาตรฐานตามความต้องการของตลาด ส่วนพื้นที่เหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสม (S3/N) จำนวน 0.7 ล้านไร่ (ร้อยละ 23) จึงได้เสนอสินค้าเพื่อปรับเปลี่ยน ได้แก่ พืชสมุนไพร (หญ้าหนวดแมว ทองพันช่าง กระวาน เร่ว) โดยมีตลาดโรงพยาบาลและอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเป็นผู้รองรับสินค้ารายใหญ่

ภาคใต้ (ยกเว้นภาคใต้ชายแดน) พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทางการเกษตร โดยมีผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ปี 2560 พื้นที่ปลูกยางพาราของภาคใต้คิดเป็น 10 ล้านไร่ หรือ ร้อยละ 49 ของพื้นที่ปลูกยางทั้งประเทศ หากพิจารณาถึงความเหมาะสมของที่ดินสำหรับการปลูกยางพารา พบว่า มีพื้นที่เหมาะสมมากและเหมาะสมปานกลาง (S1/S2) จำนวน 9 ล้านไร่ (ร้อยละ 90) โดยแนวทางการพัฒนาควรเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตยางพาราและปลูกพันธุ์ยางคุณภาพดีในพื้นที่เหมาะสม และปลูกพืชแซมหรือปลูกพืชร่วมยาง ได้แก่ ผักกูด จำปาดะ พืชสมุนไพร ใบเหลียง ซึ่งตลาดยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง และเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคายางพารา ส่วนพื้นที่เหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสม (S3/N) จำนวน 1 ล้านไร่ (ร้อยละ 10) ควรปรับเปลี่ยนการผลิตเป็นไม้ผลที่มีศักยภาพ ได้แก่ ทุเรียน ซึ่งเป็นสินค้าที่ให้ผลตอบแทนดี โดยการพัฒนาให้เป็นสินค้าเกษตร อัตลักษณ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...