ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
ก.เกษตรฯ เร่งแก้ปัญหาภัยแล้ง เข้มกรมชลฯ บริหารจัดการน้ำ
16 ม.ค. 2563

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งอย่างเคร่งครัด โดยแผนการจัดสรรน้ำทั้งประเทศในช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 - 30 เมษายน 2563 มีน้ำจัดสรรให้ 17,699 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น อุปโภค-บริโภค 2,300 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 7,006 ล้าน ลบ.ม. สำรองน้ำต้นฤดูฝนปี 2563 (พ.ค.-ก.ค. 63) รวม 10,540 ล้านลูกบาศก์เมตร เกษตรฤดูแล้งปี 2562/63 7,874 ล้าน ลบ.ม. และอุตสาหกรรม 519 ล้าน ลบ.ม. รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเกษตรกรรับทราบ สถานการณ์น้ำต้นทุน แนวทางการบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติมาเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อย ทดแทนการทำนาปรัง ซึ่งจะกำหนดชนิดพืชให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 22 จังหวัด ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีน้ำเพียงพอเฉพาะการอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศ และเลี้ยงพืชต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ยังให้กรมชลประทานขุดสระน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานขนาด 1,260 ลบ.ม.ให้เกษตรกรที่ขอรับการสนับสนุนทั่วประเทศ 40,000 บ่อ เพื่อกักเก็บน้ำ บรรเทาและชะลอความแห้งแล้ง เพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดินในฤดูฝนทิ้งช่วงหรือฤดูแล้งในระดับไร่นา ให้เกษตรกรสามารถมีน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง สำหรับปลูกพืชผักแบบผสมผสานเลี้ยงปลาและตกกล้าเตรียมสำหรับทำนาในฤดูเพาะปลูกซึ่งเป็นการทำการเกษตรแบบใช้น้ำน้อย

นายเฉลิมชัยกล่าวต่อว่า ในปี 2563 มีแผนก่อสร้างแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็กและแก้มลิงรวม 421 โครงการ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จทั้งโครงการจะเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 1,232,121 ไร่และเพิ่มปริมาตรเก็บกัก 942.00 ล้าน ลบ.ม. ส่วนโครงการที่ดำเนินการมาก่อนนี้ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2563 จะได้พื้นที่ชลประทาน 176,968 ไร่ และปริมาตรน้ำเก็บกัก 199.54 ล้าน ลบ.ม. จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ปัจจุบันสภาพฝนมีความผันแปรสูงมาก ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำท่าและน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำ

นอกจากนี้ ยังได้สั่งการกรมฝนหลวงและการบินเกษตรปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกพืช ป่าไม้ และเพิ่มน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ โดยมีศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคทั้ง 5 ศูนย์ และจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วเพื่อติดตาม เฝ้าระวังสภาพอากาศ และสามารถปฏิบัติการฝนหลวงได้เมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวยในการช่วยเหลือพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค เกษตรกรรม การเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งการบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า และจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 11 - 13 หน่วยปฏิบัติการเพื่อปฏิบัติการฝนหลวงให้ครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำหลักในพื้นที่ 77 จังหวัด ซึ่งจะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 230 ล้านไร่

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้เกษตรกรที่ไม่สามารถทำการเกษตรในฤดูแล้งได้ กรมชลประทานมีแผนปฏิบัติการการจ้างแรงงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 (งบลงทุน) สำหรับงานซ่อมแซม บำรุงรักษา ขุดลอก ปรับปรุงงานชลประทาน ก่อสร้างแหล่งน้ำระบบส่งน้ำเพื่อชุมชน แก้มลิง การจัดการคุณภาพน้ำและโครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ ซึ่งดำเนินการจ้างแรงงานทั่วทุกภาคของประเทศ วงเงินประมาณ 3,100 ล้านบาท สามารถจ้างแรงงานได้ไม่น้อยกว่า 41,000 คน ระยะเวลา 3-7 เดือน เกษตรกรจะได้ค่าจ้างแรงงานอยู่ระหว่าง 24,000-58,000 บาท /คน ขึ้นอยู่กับลักษณะของงานที่ดำเนินการซึ่งเป็นมาตรการสนับสนุนช่วยเหลือการแก้ไขปัญหาระยะสั้นในฤดูแล้งนี้

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และกลางทั่วประเทศว่า ณ วันที่ 2 ม.ค.2563 มีปริมาณน้ำในอ่างรวมกัน 46,906 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 62 ของความจุเก็บกักรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 23,070 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 44 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เปรียบเทียบกับปี 2558 มีน้ำใช้การได้เพียง 16,410 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 35 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อป่าสักชลสิทธิ์)มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,987 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 44 ของความจุอ่างรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 4,291 ล้านลบ.ม. เทียบกับปี 2558 มีน้ำใช้การได้รวมกัน 3,930 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 22 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน

ส่วนผลการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 กรมชลประทานได้มีการจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 17,620 ล้านลบ.ม. น้อยกว่าปีที่แล้วประมาณ 7,000 ล้านลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณน้ำจัดสรรทั้งสิ้น 4,000 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปีที่แล้ว 3,700 ล้านลบ.ม. ผลการจัดสรรน้ำทั่วประเทศ ณ วันที่ 2 ม.ค.63 มีการใช้น้ำตามแผนไปแล้วประมาณ 5,558 ล้านลบ.ม.หรือร้อยละ 31 ของแผนจัดสรรน้ำ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำตามแผนไปแล้วประมาณ 1,707 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 43 ของแผนจัดสรรน้ำ

ทั้งนี้ การเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2562/63 ได้วางแผนเพาะปลูกพืชทั้งประเทศ รวม 2.83 ล้านไร่ แยกเป็นข้าวนาปรัง 2.31 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.52 ล้านไร่ ปัจจุบัน ณ.วันที่ 25 ธ.ค.62 ได้ทำการเพาะปลูกทั้งประเทศ 2.33 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 82 แยกเป็นข้าวนาปรัง 2.21 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.12 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่มีแผนการเพาะปลูกพืช เนื่องจากน้ำต้นทุนมีน้อยไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนด้านเกษตร แต่จากการสำรวจพบว่าบางพื้นที่เพาะปลูกพืชนอกแผนคิดเป็นพื้นที่ประมาณ 1.54 ล้านไร่ ส่วนใหญ่ใช้น้ำจากแหล่งธรรมชาติในพื้นที่ของตนเองเพาะปลูก

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...