ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจชุมชน ย้อนกลับ
กรมพัฒนาธุรกิจฯ เข็นมาตรฐานแฟรนไชส์ สร้างเครือข่ายกับนักลงทุน
03 มี.ค. 2563

กรมพัฒน์ฯ เร่งมาตรฐานธุรกิจแฟรนไชส์ไทยให้มีศักยภาพ พร้อมสร้างเครือข่ายกับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศในการขยายตลาด ตลอดจนสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศเพิ่มขึ้น โดยเปิดรับสมัครผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ที่สนใจเข้าร่วมโครงการยกระดับมาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ ประจำปี 2563

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ เป็นกลุ่มธุรกิจที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมากให้กับประเทศไทย และมีแนวโน้มการเติบโตที่ต่อเนื่อง ในปี 2562 มูลค่าทางเศรษฐกิจของธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยมีกว่า 2 แสน 8 หมื่นล้านบาท มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 20.3 ต่อปี และในแต่ละปีมีผู้ประกอบการรายใหม่ที่สนใจเข้าสู่ธุรกิจแฟรนไชส์กว่า 15,000 - 20,000 ราย โดยแนวโน้มการขยายตลาดของธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทย ทั้งแฟรนไชส์ไทยและแฟรนไชส์จากต่างประเทศจะมีอัตราเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้เกิดสภาวะการแข่งขันที่รุนแรง

 ธุรกิจแฟรนไชส์จะมีความน่าเชื่อถือหรือไม่นั้นต้องดูว่าได้ผ่านกระบวนการสร้างมาตรฐานมามากน้อยเพียงใด เพราะธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีมาตรฐานจะเป็นรากฐานเสริมสร้างความเข้มแข็งและความเจริญเติบโตให้กับธุรกิจต่อไป ดังนั้นมาตรฐานแฟรนไชส์ที่ผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์ต้องให้ความสำคัญ คือ ระบบการปฏิบัติงาน คุณภาพของสินค้าและมาตรฐานการให้บริการ รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแฟรนไชส์ซอร์ (เจ้าของแบรนด์) และแฟรนไชส์ซี (ผู้ซื้อสิทธิแฟรนไชส์) องค์ประกอบเหล่านี้ คือ เกณฑ์มาตรฐานแฟรนไชส์ ที่เป็นตัวชี้วัดว่าธุรกิจจะมีโอกาสเติบโตหรือไม่

กระทรวงพาณิชย์ จึงได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าดำเนินการพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน โดยแฟรนไชส์ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการบ่มเพาะองค์ความรู้และทักษะการสร้างมาตรฐานธุรกิจ รวมถึงจะมีผู้เชี่ยวชาญประเมิน วิเคราะห์ จุดอ่อน จุดแข็ง ของแต่ละธุรกิจ ที่สำคัญยังมีการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก ณ สถานประกอบการ เป็นรายธุรกิจ และเสริมในเรื่องการศึกษาดูงานธุรกิจที่เป็นต้นแบบที่ดี

สำหรับคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการประกอบด้วย 1.จดทะเบียนนิติบุคคล 2.ดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ไม่น้อยกว่า 2 ปี 3.มีร้านต้นแบบและมีแฟรนไชส์ซีอย่างน้อย 1 สาขา 4.จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (หรืออยู่ระหว่างกระบวนการยื่น) และ 5.มีความมุ่งมั่นตั้งใจ และสามารถเข้าร่วมโครงการได้ตลอด โดยเปิดรับสมัครผู้ประกอบธุรกิจ แฟรนไชส์ที่สนใจร่วมโครงการตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 10 มีนาคม 2563

ซึ่งที่ผ่านมา มีธุรกิจเข้ารับการประเมินและผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินจากกรมฯ และจำนวนทั้งสิ้น 334 ราย แบ่งตามประเภทธุรกิจ ดังนี้ ธุรกิจอาหาร จำนวน 157 ราย ธุรกิจเครื่องดื่ม จำนวน 65 ราย ธุรกิจการศึกษา จำนวน 43 ราย ธุรกิจบริการ จำนวน 36 ราย ธุรกิจความงามและสปา จำนวน 15 ราย และธุรกิจค้าปลีก จำนวน 18 ราย โดยในปีนี้คาดว่าจะมีธุรกิจที่ผ่านการตรวจประเมินจำนวน 40 ราย

อธิบดี กล่าวทิ้งท้ายว่า การทำแฟรนไชส์ย่อมมีปัญหาและอุปสรรคมาให้ฝ่าฟันอยู่ตลอด การมีมาตรฐานจะทำให้เจ้าของแฟรนไชส์สามารถรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่เข้ามาได้อย่างราบรื่น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์ กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สายด่วน 1570, โทรศัพท์หมายเลข 0 2547 5953 ,e-Mail : franchisedbd@gmail.com และ www.dbd.go.th

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...