ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
การเมือง / การปกครอง ย้อนกลับ
ผู้บริหารท้องถิ่นหนาว!!สปท. ลดเสียงถอดรอชงครม.
07 พ.ค. 2559

          การประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. วาระพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการปกครองท้องถิ่น ที่มีนางนินนาท ชลิตานนท์ เป็นประธานฯพิจารณาเสร็จแล้ว จำนวน 2 เรื่อง คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองท้องถิ่นและร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นและร่างพระราชบัญญัติว่าด้วย การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ. .... เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นต่อการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่มีหลายขั้นตอนและเข้าใจยาก รวมถึงการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนฯ ยังให้ถือเกณฑ์จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งขององค์กรปกครองแต่ละแห่งซึ่งมีความแตกต่างกัน

          ขณะที่คะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ถอดถอนต้องถึงเกณฑ์ร้อยละ 75 ของผู้ที่มาลงคะแนน จึงจะสามารถถอดถอนได้ และต้องปรับปรุงเนื้อหาให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับออกเสียงประชามติ ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีบทบัญญัติให้สิทธิประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิทธิเข้าชื่อกัน เพื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นหรือเพื่อถอดถอนสมาชิกท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายบัญญัติ

          ทั้งนี้เจตนารมณ์ดังกล่าวคือให้การใช้สิทธิถอนถอนของประชาชนทำได้ง่ายขึ้น จึงเสนอปรับปรุงพระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2542 โดยปรับปรุงสัดส่วนจำนวนผู้มีสิทธิเข้าชื่อเพื่อให้มีการลงคะแนนเสียงถอดถอนใหม่ ใช้เสียงถอดถอนเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้ที่มาลงคะแนนเสียง ทั้งนี้จากเดิมให้ใช้เสียงจำนวนไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของผู้มาลงคะแนน ทั้งนี้เพื่อให้สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นมีความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่มากยิ่งขึ้น และตัดหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้ต้องมีผู้มาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งจึงจะถือว่าการเข้าชื่อถอดถอนนั้นมีความสมบูรณ์และดำเนินการถอดถอนได้ออกไป

          ส่วนร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ.....ได้นำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ.2542 มาปรับปรุงเพื่อให้การมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่นมีความง่ายและบังคับใช้ได้จริง รวมถึงเพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ โดยมีเนื้อหาสำคัญ คือการปรับลดจำนวนผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น

          จากเดิมกำหนดให้เป็นจำนวนกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็น จำนวนไม่น้อยกว่า 5,000 คน และกำหนดด้วยว่า ในวันที่ 1 มกราคมของปีที่มีการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น ในส่วนการเสนอข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครต้องมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร รวมกันไม่น้อยกว่า 10,000 คน ซึ่งปรับลดจากเดิมที่ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน นอกจากนั้นได้ปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาร่างที่ถูกตรวจสอบความถูกต้องแล้วให้ผู้บริหารท้องถิ่นยกร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นและเสนอต่อสภาท้องถิ่นโดยเร็ว หรือภายใน 30 วัน

          อย่างไรก็ตามต่อมาสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ก็ได้เรียกสมาชิกประชุมเพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการปกครองท้องถิ่น เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองท้องถิ่น และร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อขอความเห็นชอบจากที่ประชุม

          โดยนายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย  ประธานอนุกรรมาธิการฯ ได้ชี้แจงสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เพื่อให้สิทธิประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิทธิเข้าชื่อ โดยต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และให้การใช้สิทธิถอดถอนของประชาชนสามารถทำได้ง่ายยิ่งขึ้น

          ทั้งนี้ได้มีการปรับปรุงสัดส่วนจำนวนผู้มีสิทธิเข้าชื่อ เพื่อให้มีการลงคะแนนเสียงถอดถอนใหม่ ใช้เสียงถอดถอนเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาลงคะแนนเสียง จากเดิมที่ให้ใช้เสียงจำนวนไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของผู้มาลงคะแนน พร้อมตัดหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้ต้องมีผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่ง จึงถือว่าการเข้าชื่อถอดถอนมีความสมบูรณ์ และดำเนินการถอดถอนได้ต่อไป

         ขณะที่สมาชิกสปท. เห็นว่าควรขยายความเกี่ยวกับการถอดถอนว่า เป็นไปในทางทุจริตหรือปฏิบัติหน้าที่หย่อนยาน ซึ่งต้องถอดถอนในขณะที่ดำรงตำแหน่งเท่านั้น รวมทั้งควรมีมาตรการชั่วคราวยุติการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรหรือบุคคลที่ถูกถอดถอนเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และไม่ควรส่งเสริมให้ถอดถอนกันง่ายขึ้น เพราะจะทำให้เสียงบประมาณเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามหลังการอภิปราย ที่ประชุมก็มีมติเห็นชอบกับรายงานของคณะกรรมาธิการฯด้วยคะแนน 152 เสียง โดยไม่มีเสียงที่ไม่เห็นด้วย และงดออกเสียง 2 เสียง และขั้นตอนต่อจากนี้ก็จะมีการส่งให้คณะรัฐมนตรี หรือ ครม. เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...