เมื่อวันที่ 21 พ.ค. เวลา 14.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วย นายนิยม เติมศรีสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต สมาชิกวุฒิสภา พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ นายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. นางวิภาวรรณ เบนนิเมน อัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน และคณะ ได้เข้าร่วมประชุมและหารือข้อราชการกับนายบวร์กฮาร์ด บลีเนิร์ท กรรมาธิการของรัฐบาลกลางเยอรมนี ด้านนโยบายยาเสพติดและการติดยาเสพติด และคณะ ณ กระทรวงสาธารณสุข กรุงเบอร์ลินในการหารือฯ ดังกล่าว กรรมาธิการของรัฐบาลกลางเยอรมนี ด้านนโยบายยาเสพติดและการติดยาเสพติด ได้ชื่นชมรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหายาเสพติด เนื่องจากเป็นปัญหาสำคัญทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก
สำหรับประเทศเยอรมนีนั้น ประชากรประมาณ 4 ล้านคน เป็นผู้ติดสุราเรื้อรัง ผู้ติดการพนัน และผู้ติดยาเสพติด ดังนั้น รัฐบาลเยอรมนีจึงให้ความสำคัญกับการบำบัดผู้ติดสิ่งเสพติดเหล่านี้มากกว่าการลงโทษ เนื่องจากมองว่าผู้เสพคือผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาโดย 4 เสาหลักสำคัญในการแก้ปัญหายาเสพติด ได้แก่ 1.การป้องกัน 2.การบำบัด 3.การลดความเสี่ยงโดยมาตรการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด 4.การลดจำนวนยาเสพติด ทั้งนี้ เป้าหมายสูงสุดเพื่อดูแลสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนในโอกาสนี้ รมว.ยุติธรรม ได้แสดงความขอบคุณกรรมาธิการฯ ที่ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลนโยบายการแก้ปัญหายาเสพติดของเยอรมนี รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนสถานการณ์ของประเทศไทยว่า ปัจจุบันรัฐบาลไทยได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายยาเสพติด โดยนำหลักการผู้เสพคือผู้ป่วยมาปรับใช้ซึ่งหากดำเนินการสำเร็จ จะเป็นการช่วยคืนคนคุณภาพกลับคืนสู่สังคมได้ เนื่องจากปัจจุบัน ประเทศไทยยังใช้โทษทางอาญานำ จึงทำให้เรือนจำมีผู้ต้องขังกว่า 270,000 คน และอยู่ระหว่างคุมประพฤติอีก 400,000 คน ซึ่งส่วนมากเป็นหนุ่มสาว และถือเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพสูงทั้งนี้ คณะผู้แทนไทยได้สอบถามในหลายประเด็น โดยเฉพาะสถานะของกัญชาในเยอรมนี ซึ่งกรรมาธิการฯ ให้ข้อมูลว่า กัญชาได้ถูกถอดจากรายชื่อสารเสพติดตามกฎหมายแล้ว การปลูกและครอบครองกัญชาจำนวนน้อย (25 กรัม) หรือการปลูกต้นกัญชา 3 ต้น (50 กรัม) ไม่ผิดกฎหมาย และการค้าขายกัญชายังคงผิดกฎหมายอยู่ เนื่องจากรัฐบาลเยอรมนีให้ความสำคัญกับสุขภาพ เห็นว่าการออกกฎหมายที่เป็นการห้ามทั้งหมดไม่สามารถแก้เรื่องเสพติดที่เป็นโรคชนิดหนึ่งได้ จึงได้กำหนดมาตรการทางสุขภาพไว้ด้วยสำหรับการแก้กฎหมายเกี่ยวกับกัญชา ทางรัฐบาลเยอรมนีใช้เวลาเตรียมการประมาณ 2 ปี โดยสิ่งสำคัญ คือ ต้องกำหนดนิยามให้ชัดเจน เพื่อเป็นแนวทางในการทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วน รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อการทำคำวินิจฉัยของศาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย
นอกจากนี้ คณะผู้แทนไทยยังได้สอบถามถึงปัญหาเยาวชนติดยาเสพติด ซึ่งในประเทศเยอรมนีประสบปัญหานี้เช่นกัน สิ่งสำคัญ คือ การป้องกันโดยเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเยาวชนผู้เสพยาเสพติด เนื่องจากสารเสพติดแต่ละประเภทจะมีผลกระทบต่อร่างกายที่ต่างกัน การรักษาจึงมีหลายวิธีแตกต่างกัน ทั้งนี้ เป้าหมายสูงสุดที่ต้องคำนึงถึง คือ จะช่วยเยาวชนได้อย่างไรในช่วงท้าย พ.ต.อ.ทวี ได้แสดงความขอบคุณกรรมาธิการฯ โดยขอนำเยอรมนีโมเดลไปศึกษา เพื่อพิจารณามาตรการที่เหมาะสมและเข้ากับบริบทของประเทศไทย พร้อมทั้งได้เรียนเชิญให้กรรมาธิการฯ เข้าร่วมเป็นวิทยากรในการสัมมนาระหว่างประเทศเกี่ยวกับมาตรการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (Harm Reduction) ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในปีนี้