วันที่ (23 มิถุนายน 2567)ที่โรงแรมสยามแกรนด์ จังหวัดอุดรธานี พรรคร่วมฝ่ายค้านจัดโครงการผู้นำฝ่ายค้านพบประชาชน ในหัวข้อ “ระดมความคิด ผลิตนโยบาย: การจัดการน้ำ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคอีสาน” โดยมีตัวแทนจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ นายปิติพงษ์ เต็มเจริญ เลขาธิการพรรคเป็นธรรม และคณิศร ขุริรัง ว่าที่ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานีของพรรคก้าวไกล เข้าร่วมวงเสวนาและแลกเปลี่ยนความเห็นกับพี่น้องประชาชนที่มาร่วมงาน
นายชัยธวัช กล่าวปาฐกถาเปิดงานในประเด็น “ภาพรวมและปัญหาการจัดการน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” โดยระบุว่า ภาคอีสานมีความเสี่ยงและเปราะบางต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมากอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ทำกินอยู่ในภาคเกษตรกรรม ซึ่งมีความจำเป็นต้องพึ่งพาลมฟ้าอากาศ จึงมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่าภาคการผลิตอื่น อย่างไรก็ตาม ตนมองเห็นความแข็งแกร่งของพี่น้องภาคอีสานที่โดดเด่นกว่าภูมิภาคอื่นๆ กล่าวคือ คนอีสานอยู่กับการปรับตัวเข้ากับโลกเสมอ เรามีแรงงานอีสานที่มีประสบการณ์ทำงานเกี่ยวกับเกษตรทันสมัยในต่างประเทศ เรามีพี่น้องที่เคยเห็นคุณภาพชีวิตที่ดีของประเทศรัฐสวัสดิการ คนอีสานเต็มไปด้วยคนมีศักยภาพ แต่พวกเขาออกไปอยู่ต่างประเทศ ดังนั้น โจทย์ใหญ่คือจะทำอย่างไรให้ศักยภาพเหล่านั้นกลับมาอยู่อาศัย เติบโต และพัฒนาในพื้นที่นี้
นายชัยธวัช กล่าวเสริมว่า นโยบายและโครงการต่างๆ ที่ภาครัฐทำ ทั้งเรื่องการบริหารจัดการน้ำ การปฏิรูปที่ดิน และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ต้องทำบนฐานคิดประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่ประโยชน์ของผู้รับเหมา และต้องเป็นนโยบายที่มีความจำเพาะเจาะจงเพื่อการแก้ปัญหาในระดับพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน พร้อมย้ำว่าการปลดล็อกท้องถิ่นและหยุดแช่แข็งชนบทไทย คือกุญแจสำคัญที่สุดสำหรับการพัฒนาภาคอีสาน โดยต้องดำเนินนโยบายหลายด้าน เช่น การพิสูจน์และรับรองสิทธิในที่ดินทำกิน โดยมีมาตรการป้องกันการเอารัดเอาเปรียบหรือแสวงหาผลกำไรจากนายทุน พี่น้องเกษตรกรที่อยู่มาก่อนรัฐประกาศเขตอุทยานจะต้องได้รับโฉนด หน่วยงานราชการที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากที่ดินต้องคืนให้แก่ประชาชน รวมถึงการปลดล็อกหนี้สิน เช่น รัฐช่วยเช่าที่ดินของเกษตรกรเพื่อนำไปปลูกป่า ส่วนเกษตรกรก็ได้เงินนำไปชำระหนี้สิน พรรคก้าวไกลเชื่อว่านโยบายทั้งหมดนี้จะเพิ่มทางเลือกในชีวิตให้แก่เกษตรกร หยุดการแช่แข็งภาคการเกษตรและชนบทไทย เพื่อเปลี่ยนชนบทไทยให้ไม่เหมือนเดิม
ด้านคุณหญิงสุดารัตน์ เห็นสอดคล้องกันว่า การบริหารจัดการน้ำในภาคอีสานต้องเป็นการออกแบบที่จำเพาะกับพื้นที่ เนื่องจากลักษณะของพืชและสภาพของแหล่งน้ำมีความแตกต่างกัน ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่ย่อมเป็นผู้ที่รู้ปัญหาดีที่สุดว่าสภาพแวดล้อมของแหล่งน้ำในชุมชนของพวกเขาเป็นอย่างไร และปัญหาเฉพาะตัวของพวกเขาเป็นอย่างไร ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐควรทำคือการกระจายอำนาจและเสริมความแข็งแกร่งให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยการเติมงบประมาณและองค์ความรู้ทางวิชาการ เพื่อให้ประชาชนได้เลือกแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ของตนเอง
คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นแล้ว รัฐยังควร “เติม” ต้นทุน เติมเทคโนโลยี และเติมความรู้ให้กับพี่น้องชาวอีสาน พร้อมกับ “ลด” ค่าครองชีพ และลดต้นทุนการผลิต เพราะปัญหาต้นทุนการผลิต ค่าครองชีพ และหนี้สินเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้พี่น้องชาวอีสานตั้งตัวได้ยาก ภาครัฐจึงต้องเสริมความแข็งแกร่งในระดับปัจเจกด้วยการทำให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุนที่ดอกเบี้ยถูก เพื่อให้มีทุนในการทำงานสร้างเนื้อสร้างตัว รวมถึงจัดการกับต้นทุน