เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 ที่สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้ประชุมมอบนโยบายและสั่งการเพื่อแก้ไขปัญหาในการดำเนินงานแก่คณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กรรมการจัดการหนี้ฯ และผู้บริหารสำนักงาน กฟก. เพื่อเร่งรัด กำกับการบริหารภารกิจ กฟก ทั้งด้านการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพ การแก้ปัญหาหนี้ของเกษตรสมาชิก และปัญหาการปฏิบัติงานของบุคลากร เพื่อให้กลไกการบริหารงานทุกภาคส่วน ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และให้เกิดผลถึงเกษตรกรภายใน 3 เดือน
ต่อมา เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 ที่ห้องประชุมชั้น 3 สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงาน กฟก. จัดประชุมผู้บริหารของ กฟก. เพื่อแจ้งข้อสั่งการและนโยบายของ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร โดยมีประเด็นที่สำคัญ ดังนี้
การดำเนินงานให้มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมภายใน 3 เดือน โดยต้องคำนึงถึงเกษตรกรเป็นหลัก การจัดการหนี้ต้องมีความโปร่งใส ชัดเจน เป็นธรรม ไม่มีการเรียกรับผลประโยชน์ ให้จัดทำแผนการจัดการหนี้อย่างชัดเจน สมเหตุสมผล และจัดทำรายงานแผนฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพ รวมถึงกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับการจัดการหนี้แล้วภายใต้แผนปฏิบัติการและกรอบงบประมาณที่ได้รับการอนุมัติไว้ เป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด มีข้อมูลเป้าหมายที่ชัดเจน และให้เร่งแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอแนะของ สตง. และรายงานผลให้ทราบโดยเร็ว
ส่วนแนวทางดำเนินงานของสำนักงาน ให้มีการดำเนินงานตามบทบาทหน้าที่ตามกฎหมายกำหนด ทั้งในส่วนของคณะกรรมการบริหาร และสำนักงาน โดยการปฏิบัติต้องยึดกรอบกฎหมาย ระเบียบ เป็นสำคัญ การใช้จ่ายงบประมาณให้คำนึงถึงประโยชน์ของเกษตรกรเป็นหลักตามกฎหมาย รัฐบาลพร้อมสนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาองค์กรเกษตรกรต้องสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และต่อยอดความร่วมมือกับกลไกภาครัฐและนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริม เช่น การเชื่อมโยงกับกระทรวงพาณิชย์ ทำโครงการนำร่องเพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรตามศักยภาพ หรือผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นของแต่ละพื้นที่
รวมทั้ง การต่อยอดนโยบายของรัฐบาลและนำไปใช้ประโยชน์ โดย กฟก. ต้องเป็นด่านหน้าในการแก้ไขปัญหาเกษตรกร สร้างองค์กรต้นแบบหรือโมเดลในแต่ละจังหวัด แต่ละภาค ภายใต้แนวคิด “การสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเป็นหัวใจสำคัญ” จะต้องมีแนวทางการบริหารและพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่ขาดแรงจูงในในการทำงานหรือเฉื่อยชาให้มีทักษะเพิ่มขึ้น มีแรงจูงใจ หรือการสร้างทักษะใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับการทำงาน เพื่อให้มีโอกาสเติบโตในหน้าที่และทำงานเพื่อเกษตรกร