ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคลมชักเป็นโรค ที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นต่อเนื้อสมอง ทั้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่กำเนิดหรือโดยพันธุกรรม การเจริญของเนื้อสมองผิดปกติ ระหว่างเติบโต สารเคมีในสมองผิดปกติแต่กำเนิด หรือเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นในภายหลัง อาทิ ภาวะทุพโภชนาการ ความผิดปกติต่อสมองระหว่างตั้งครรภ์หรือระหว่างคลอด อุบัติเหตุที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บที่เนื้อสมอง การอักเสบติดเชื้อในสมอง โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น สามารถทำให้เกิดอาการชักได้
แพทย์หญิงทัศนีย์ ตันติฤทธศักดิ์ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการของโรคลมชักที่คนทั่วไปรู้จักดีที่สุดคืออาการเกร็งกระตุกทั้งตัว แต่แท้จริงแล้วอาการชักมีรูปแบบที่หลากหลาย เช่น อาการเหม่อนิ่ง กระพริบตาถี่ๆ เป็นระยะเวลาสั้นๆ เคี้ยวปาก แลบลิ้น ทำปากขมุบขมิบ ขยำมือ ตาเหลือก คอบิด แขนหรือขาเกร็งหรือกระตุกซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย อาการตัวอ่อนล้มลงไป อาการใจสั่น หรืออาการขนลุกไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น แต่ทุกรูปแบบของอาการลมชักจะหยุดเองได้ในระยะเวลาไม่เกิน 5 นาที อันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการชัก มักไม่ใช่เกิดจากอาการของโรคโดยตรง แต่อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น พลัดตกหกล้ม จมน้ำ ตกจากที่สูง หรืออุบัติเหตุจากยานพาหนะ เนื่องจากไม่สามารถควบคุมตัวเองหรือหมดสติขณะมีอาการชัก
จากเหตุการณ์อุบัติเหตุจราจร ที่ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินตามข่าว ที่มีสาเหตุมาจากอาการชักขณะขับรถ ได้สร้างความสะทือนใจให้กับทุกฝ่าย เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคลมชัก ที่ยังควบคุมอาการชักได้ไม่ดี ควรงดการขับขี่ยวดยานพาหนะ ตลอดจนหลีกเลี่ยงการทำงานกับเครื่องจักร หรือกิจกรรมอื่นๆที่อาจจะทำให้เกิดอันตรายทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น และทรัพย์สินได้ ผู้ป่วยโรคลมชักควรได้ดรับการรักษาจนไม่มีอาการอย่างน้อย 1 ปี กฎหมายจึงจะอนุญาตให้ขอมีใบอนุญาตขับขี่ได้
สำหรับประชาชนทั่วไป หากมีโอกาสพบเห็นผู้ป่วยมีอาการชักในที่สาธารณะ ควรให้การช่วยเหลือให้ถูกวิธี “ไม่งัด ไม่ง้าง ไม่ถ่าง ไม่กด ไม่ทั้งหมด ชักหยุดเอง แค่ดูแลให้ชักอย่างปลอดภัย”และอยู่ปฐมพยาบาลให้ความช่วยเหลือจนผู้ป่วยหยุดชักและรู้สึกตัวเต็มที่