รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างกฎหมาย 3 ฉบับ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ มีเนื้อหาสำคัญ เป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและเป็นหลักประกันในการทำงานให้กับลูกจ้างกรณีต้องออกจากงานหรือเสียชีวิต จึงต้องมีการเก็บเงินสะสมและเงินสมทบเพื่อเป็นทุนสงเคราะห์ลูกจ้างต่อไป
สำหรับร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับที่กระทรวงแรงานเสนอครั้งนี้ ประกอบด้วย
ร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดระยะเวลาเริ่มดำเนินการจัดเก็บเงินสะสมและเงินสมทบเพื่อเป็นทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง พ.ศ. ....
ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราการจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบที่จะต้องส่งให้แก่กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง พ.ศ. ....
ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสำหรับนายจ้างจัดให้มีการสงเคราะห์แก่ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างออกจากงานหรือตาย พ.ศ. ....
1.ร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดระยะเวลาเริ่มดำเนินการจัดเก็บเงินสะสมและเงินสมทบเพื่อเป็นทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง พ.ศ. ....
สาระสำคัญ : เป็นการกำหนดให้เริ่มดำเนินการจัดเก็บเงินสะสมและเงินสมทบเพื่อเป็นทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2568 เป็นต้นไป
2.ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราการจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบที่จะต้องส่งให้แก่กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง พ.ศ. ....
สาระสำคัญ : เป็นการกำหนดอัตราเงินสะสมจากลูกจ้างและเงินสมทบจากนายจ้างที่แต่ละฝ่ายจะต้องนำส่งเข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง แบ่งเป็น 2 ช่วง ดังนี้
ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2568 - 31 มี.ค.2573 (ระยะเริ่มต้น 5 ปีแรก) ลูกจ้างและนายจ้าง (แต่ละฝ่าย) ต้องนำส่งเข้ากองทุนฯ ในอัตรา 0.25% ของค่าจ้าง
ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2573 เป็นต้นไป ลูกจ้างและนายจ้าง (แต่ละฝ่าย) ต้องนำส่งเข้ากองทุนฯ ในอัตรา 0.5% ของค่าจ้าง
ทั้งนี้ การกำหนดอัตราการจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบอาจปรับเปลี่ยนได้ตามสภาพเศรษฐกิจ
3.ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสำหรับนายจ้างจัดให้มีการสงเคราะห์แก่ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างออกจากงานหรือตาย พ.ศ. ....
สาระสำคัญ : เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสำหรับนายจ้างที่ต้องจัดให้มีการสงเคราะห์แก่ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างออกจากงานหรือตาย เพื่อให้ได้รับการยกเว้นให้ลูกจ้างไม่จำต้องเป็นสมาชิกกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง กล่าวคือ หากนายจ้างมิให้จัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและมิได้จัดให้มีกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง นายจ้างต้องจัดให้มีการสงเคราะห์ลูกจ้างตามหลักเกณฑ์ในร่างกฎกระทรวงนี้ เช่น
ต้องกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินสงเคราะห์แก่ลูกจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร โดยอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับอัตราเงินสะสมและเงินสมทบ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดเก็บเงิน และระยะเวลาในการจ่ายเงิน
กำหนดให้นายจ้างหักค่าจ้างลูกจ้าง เพื่อเป็นเงินสะสมและให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบตามอัตราที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน โดยต้องไม่ต่ำกว่าอัตราที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพกำหนด (ไม่ต่ำกว่า 2% ของค่าจ้าจ้างแต่ไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง)
รวมถึงกำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่นำเงินสะสมและเงินสมทบกับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น ซึ่งเมื่อนายจ้างเลิกจ้าง หรือลูกจ้างลาออก หรือลูกจ้างเกษียณอายุ หรือตกลงเลิกสัญญา ให้นายจ้างมีหน้าที่คืนเงินสะสมและเงินสมทบพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้าง
สรุป ภายใต้ร่างกฎกระทรวงขึ้นทางเลือกให้แก่นายจ้างที่จัดให้มีการสงเคราะห์แก่ลูกจ้างตามหลักเกณฑ์ข้างต้น จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องจัดให้มีกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างก็ได้
อย่างไรก็ตามที่ประชุมครม. ยังมีมติให้กระทรวงแรงงานรับความเห็นของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้เสนอการปรับปรุงรายละเอียดเกี่ยวกับวันเริ่มต้นของการบังคับใช้กฎหมายทั้ง 3 ฉบับ จากเดิมให้บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2568 เปลี่ยนเป็นวันที่ 1 ต.ค.2568 เป็นต้นไปด้วย