ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics (ทีเอ็มบี อนาลิติกส์) เผยแพคเกจมาตรการเยียวยาผลกระทบโควิดชุดใหญ่เม็ดเงินกว่า 1 ล้านล้านบาท ช่วยยืดเงินใช้จ่ายของลูกจ้างที่มีอยู่จาก 2 เดือน เป็น 8 เดือน ธุรกิจมีสภาพคล่องหมุนเวียนอยู่ได้เพิ่มจาก 3 เดือน เป็น 5 เดือน สามารถประคองการจ้างงาน พร้อมจะฟื้นตัวได้เมื่อวิกฤตคลี่คลาย
เรามอง Timeline ในช่วงรับมือโควิดเป็น 2 เฟส โดยเฟส 1: “หยุดเชื้อเพื่อชาติ” เพื่อให้ความเสียหายไม่ยืดเยื้อ ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินการประกาศเคอร์ฟิว และการล็อกดาวน์ของจังหวัดต่างๆ ส่งผลกระทบต่อประชาชน ลูกจ้าง แรงงานราว 9 ล้านคนที่ต้องสูญรายได้ไป และภาคธุรกิจที่ต้องปิดกิจการชั่วคราว เกิดปัญหาด้านสภาพคล่องตามมา ซึ่ง TMB Analytics คาดเฟสนี้กินเวลาประมาณ 3 เดือน (มี.ค.-พ.ค.) สำหรับเฟส 2: “ฟื้นตัวสู่ปกติ” เป็นช่วงหลังการแพร่ระบาดคลี่คลาย (คาดตั้งแต่ มิ.ย.เป็นต้นไป) กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มทยอยกลับมาฟื้นตัว
#หยุดเชื้อเพื่อชาติ บวกมาตรการเยียวยา ช่วยยืดเวลาให้ลูกจ้างและธุรกิจประคองตัวอยู่รอด เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจหลายประเภทต้องหยุดกิจการชั่วคราว ย่อมส่งผลกระทบต่อรายได้ของลูกจ้าง โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม สอดคล้องกับการสำรวจของ TMB Customer Insight ในปี 2561 พบว่า 50% ของคนไทยที่มีอายุ 18-54 ปี หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น กรณีตกงานจะมีเงินเก็บสำหรับการใช้จ่ายได้เฉลี่ย 2 เดือนเท่านั้น การมีมาตรการเยียวยาเร่งด่วนอัดฉีดเงินในเฟสนี้เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ช่วยต่อเวลาออกไป ซึ่งล่าสุด มาตรการใส่เงินชดเชยรายได้ 5 พันบาทต่อเดือนได้ขยายเวลาช่วยเหลือเป็น 6 เดือน ซึ่งจะครอบคลุมลูกจ้าง แรงงานราว 9 ล้านคน คิดเป็นเม็ดเงินราว 2.7 แสนล้านบาท จะช่วยเยียวยาให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤติในช่วง #หยุดเชื้อเพื่อชาติ ซึ่งหากนับการเพิ่มสภาพคล่องให้โดยการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงินรายละไม่เกิน 1-5 หมื่นบาท บวกกับมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายทั้งหลาย จะช่วยลดผลกระทบที่ลูกจ้างและแรงงานได้รับในขณะนี้ ทั้งนี้ จากการประเมินเบื้องต้น มาตรการเยียวยาทั้งการให้เงินและการให้สินเชื่อจะทำให้มีเงินหมุนเวียนกลับมาราว 1.88 แสนล้านบาท หรือช่วยหนุนให้โตขึ้นได้ 2.3% ของการบริโภคภาคเอกชน
ในทำนองเดียวกัน เมื่อประเมินจากวงจรการดำเนินธุรกิจ (Operating Cycle) พบว่าโดยทั่วไป SMEs จะมีสภาพคล่องรองรับเหตุการณ์ช็อกต่างๆ ได้โดยเฉลี่ยที่ 3 เดือน ดังนั้น มาตรการช่วยเติมสภาพคล่อง โดยให้ซอล์ฟโลนแก่ธุรกิจ SME ซึ่งรวมมาตรการสินเชื่อทั้ง 3 ระยะที่ออกมาแล้ว วงเงินทั้งสิ้น 8 แสนล้านบาท คาดว่าจะช่วยยืดเวลาออกไปได้อีก 2 เดือน ทั้งนี้ เมื่อลงรายละเอียดถึงประเภทธุรกิจได้รับผลกระทบจากมาตรการเข้มข้นล็อกดาวน์จะตกอยู่กับกลุ่มธุรกิจบริการมากสุด เนื่องจากมีสภาพคล่องเพียงพอจะรองรับเหตุการณ์ช็อกได้เฉลี่ยอยู่ที่ 2 เดือน (มี.ค.-เม.ย.) ซึ่งได้แก่ ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร บริการท่องเที่ยว สถานบันเทิง โรงหนัง ขนส่งผู้โดยสาร เป็นต้น รองลงมาเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ระยะเวลาช็อกเฉลี่ยอยู่ที่ 4 เดือน (มี.ค.-มิ.ย.)
ได้แก่ อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมเหล็ก ยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น ขณะที่กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวันจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า
คาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมีความจำเป็น หนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็ว (มิ.ย.เป็นต้นไป) โดยเม็ดเงินในส่วนนี้ตามพ.ร.ก.กู้เงินจะอยู่ที่ 4 แสนล้านบาท และหากรัฐออกมาตรการการเงินและการคลังเพิ่มเติมอีก จะช่วยเร่งให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วขึ้น ได้แก่ มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย เช่น ท่องเที่ยวในประเทศ การบริโภคในประเทศ รวมไปถึงที่อยู่อาศัยและรถยนต์ การให้สินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูกิจการหรืออาชีพ มาตรการลดภาษีเงินได้ ขณะที่มาตรการเยียวยาที่ใช้ในเฟส 1 มีความจำเป็นน้อยลง