ท่ามกลางวิกฤตไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดไปทั่วโลกในขณะนี้ นักลงทุนไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ต่างได้รับผลกระทบกันทั่วหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาผู้ประกอบการ SMEs ประมาณ 3 ล้านราย ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างงานให้กับแรงงาน 70% ของประเทศ ผู้ประกอบการแต่ละรายกำลังอยู่อาการสำลักน้ำ หายใจเริ่มติดขัด อาจจะต้องล้มหายตายจากเสียในคราวนี้ ถ้ารัฐไม่เร่งเข้าไปให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
มาตรการไม่เข้มพอ SME ร่อแร่
นางสาวโชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ( Federationthai SME )กล่าวว่า ในความเป็นจริงผู้ประกอบการ SMEs มีผลกระทบด้านเศรษฐกิจมานานแล้ว ยิ่งหลังจากมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงมีนาคม 2563 ทางผู้ประกอบการไม่มีรายได้เข้า รายจ่ายยังคงเดิม และถึงแม้ทางรัฐบาลจะมีมาตรการเข้ามาช่วยเหลือตั้งแต่ช่วงมีนาคมที่ผ่านมา แต่การขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ ไม่รวดเร็วเท่าที่ควร ประกอบกับหลายมาตรการที่ประกาศไปแล้ว แม้จะดูดีก็ยังไม่แรงหรือเข้มข้นพอ และบางมาตรการที่ออกมาอาจยังไม่จำเป็นในช่วงระยะสั้นหรือระยะเร่งด่วนตอนนี้
สิ่งสำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งทำคือ หาวิธีอย่างไรที่จะทำให้เงินของผู้ประกอบการที่ยังมีเหลืออยู่ ไหลออกจากกระเป๋าไปน้อยที่สุดหรือแทบไม่ออกเลย กล่าวคือลดรายจ่ายจากผู้ประกอบการให้เร็วที่สุด โดยที่ผ่านมาก็ต้องขอบคุณทางภาครัฐที่ได้มีมาตรการให้หยุดผ่อนชำระเงินสำหรับผู้ขอสินเชื่อ แต่ยังมีอีกหลายมาตรการที่สามารถทำได้ในเชิงรุก เช่น สถาบันการเงินของรัฐบางแห่งยังคงให้ผู้ประกอบการต้องเดินไปบอกกับทางธนาคารก่อนจึงจะหยุดพักชำระหนี้ให้ ทั้งที่น่าจะดำเนินโยบายได้เลย โดยไม่ต้องไปยื่นความจำนง อาจจะมีสถาบันการเงินบางแห่งที่มีการทำงานเชิงรุกอยู่บ้าง เช่น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ในการให้สาขาโทรไปคุยกับ SMEs ขณะที่สถาบันการเงินบางแห่งก็พักชำระแต่เงินต้นเท่านั้น ส่วนดอกก็ยังต้องจ่ายอยู่ รัฐจึงต้องเข้าไปดูแลเพื่อให้ธนาคารสามารถพักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย
ทั้งนี้ การการที่รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือด้านค่าไฟ ค่าน้ำ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือรายจ่ายประจำวันการใช้ชีวิตของประชาชนเสียส่วนใหญ่ รวมถึงการลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม 1% ก็ยังมองว่าเป็นมาตรการที่ไม่ได้เข้มข้นเท่าไหร่นัก และถึงแม้จะมีการคงภาษีเอาไว้เพื่อลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้กับผู้ประกอบการเป็นการชั่วคราว เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ โดยลดไปครึ่งหนึ่งจาก 3% เป็น 1.5% ก็ลดเยอะอยู่แต่ไม่ส่งผลอะไรกับผู้ประกอบการรายย่อย แต่จะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการนิติบุคคลหรือไซส์ S M L ที่จดทะเบียนเสียมากกว่า
ไล่คนออกปัญหาใหญ่ SMEs ไทย
นางสาวโชนรังสี กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการโดยส่วนใหญ่ที่ทางรัฐบาลออกมา รัฐบาลให้ความสนใจเป็นพิเศษคือกลุ่มแรงงานต่าง ๆ โดยประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยพูดในเรื่องนี้ว่า ส่วนใหญ่ที่ทางภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือเป็นหลักจะเป็นกลุ่มแรงงานประกอบอาชีพอิสระ รวมไปถึงกลุ่มแรงงานที่ตกงาน แต่ยังไม่เห็นมาตรการช่วยเหลือใดในแง่ให้ผู้ประกอบการสามารถประคองไม่ให้ต้องให้นำแรงงานออก ซึ่งผู้ประกอบการรายย่อยถือเป็นเรื่องใหญ่และอาจต้องใช้เวลาการฟื้นฟูนาน กว่าจะกลับมาเหมือนเดิม ขณะที่ในประเทศอังกฤษมีการช่วยเหลือจ่ายเงินเดือน 80% ของเงินเดือนที่เคยได้
โดยข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม ได้มีมาตรการช่วยเหลือแรงงานกรณีลาออก ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ ร้อยละ 45 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน จากเดิมร้อยละ 30 และหากถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินทดแทนร้อยละ 70 ของค่าจ้าง ระยะเวลาไม่เกิน 200 วัน จากเดิมร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน ทั้งนี้ มีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 2 ปี และถึงเป็นมาตรการเพื่อเยียวยาแรงงานในระบบ แต่ยังไม่เห็นมาตรการในการช่วยเหลือผู้ประกอบการในการสนับสนุนให้ยังสามารถจ้างแรงงานต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม
SMEs ไร้รายได้ รัฐต้องช่วยเหลือ
ด้าน นายกฤษณะ แสงภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เรดปาร์ตี้ เอนเตอร์เทนเมนท์ จำกัด เปิดเผยว่า มาตรการการลดชำระหนี้มองว่าเป็นการทุเลาปัญหาเท่านั้น แต่ไม่ได้ส่งเสริมให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ แนวทางต่อไปคือหาแนวทางในการสร้างรายได้ให้กับกลุ่ม SMEs เพราะส่วนใหญ่ตอนนี้แทบจะหยุดเกือบหมด อาจจะมีบางธุรกิจยังพอไปต่อได้ ผ่านการใช้ระบบ work from home แต่หากไม่สามารถขับเคลื่อนในแง่ของการรายได้ทางธุรกิจก็อาจส่งผลอยู่ดี โดยเฉพาะธุรกิจบริการได้รับผลกระทบตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดโควิด-19 งานกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงเดือน มีนาคม-เมษายน ที่เคยคอนเฟิร์มไปแล้วยังต้องขอดูสถานการณ์ไปก่อน
“ประเมินว่างานกิจกรรมอาจจะไม่มีเลยตลอดปี 2563 ต่อให้สถานการณ์ดีขึ้นแล้วก็ตาม รวมถึงทางผู้ประกอบการอาจจะต้องบริหารจัดการควบคุมเงิน เพื่อให้ปรับฟื้นหลังจากได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ซึ่งอาจรวมถึงมีการงดจัดงานอีเว้นไปด้วย ก่อนหน้านี้ธุรกิจออแกไนซ์ก็ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจไม่ดีอยู่แล้ว หลังจากมีผลกระทบจากโควิด-19 อีกก็ทำให้ทุกรายโดนกันหมดเลย โจทย์คือตอนนี้ไม่มีงานไม่มีเงินแล้วรัฐบาลจะช่วยอย่างไร”
นายกฤษณะกล่าวว่า การที่ทางรัฐบาลช่วยเหลือด้วยการให้เงินนั้น อาจจะยังไม่ได้ตอบโจทย์ที่ตรงจุด ประกอบกับการรับเงินก็ไม่ได้ง่าย เพราะทางธนาคารก็มีเงื่อนไขในการรับเงิน ซึ่งหากสถานการณ์ไม่ดีต่อไป จนถึงกลางเดือนนี้หลายธุรกิจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงการเปลี่ยนธุรกิจไปเลย อย่างตนจากที่เคยรับทำงานออแกไนซ์ แต่เนื่องจากปัญหาโรโควิด-19 ปัจจุบันงานหายไปหมด ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนมาทำธุรกิจแนวอื่น เช่น แพลทฟอร์มช่วยเหลือ SMEs ที่สามารถให้ผู้ประกอบการวางขายผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นอีกช่องทางในการทำการค้าขายได้ รวมไปถึงการเป็นวิทยากรหรือการให้ความรู้ผ่านระบบออนไลน์ นอกจากนี้ยังได้มีการปรับลดขนาดองค์กรเช่นเดียวกัน ให้เป็นพนักงานฟรีแลนซ์แทน เพราะหากจะรอการฟื้นตัวธุรกิจเดิมให้ฟื้นกลับมาก็คงจะไม่ทันการณ์
เกษตรกรรมมีผลกระทบเชิงบวก
ดร.สุทธิภัทร อัศววิชัยโรจน์ อาจารย์คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด กล่าวว่า ปัจจุบันทุกธุรกิจได้รับผลกระทบหมด โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รวมไปถึงธุรกิจการศึกษาที่ต้องมีการปรับตัว ให้เรียนกันที่บ้านมากขึ้น นอกจากนี้ธุรกิจด้านอาหารต่าง ๆ ก็ต้องปรับตัวไปสู่การให้บริการสั่งซื้อรูปแบบออนไลน์มากขึ้น โดยจากการวิเคราะห์ของวิจัยกรุงศรีพบว่า เฉพาะภาคธุรกิจในระบบต้องการเงิน 1.7 ล้านล้านบาท เพื่อให้รอดพ้นจากวิกฤติครั้งนี้ หากรวมเศรษฐกิจนอกระบบและภาคครัวเรือนเข้าไปด้วย ก็จะต้องใช้เงินมากกว่านี้เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจทรุดหนักจากการแพร่ระบาดไวรัส
อย่างไรก็ตามยังมีบางธุรกิจที่ได้รับผลกระทบในเชิงบวก เช่น เกษตรกรรม ที่มียอดการสั่งซื้อสูง อีกทั้งทางผู้ผลิตของเรายังสามารถขยายการส่งออกไปยังประเทศที่ขาดแคลนด้านอาหาร เช่น ยุโรป รวมไปถึงอาหารแปรรูปต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่โชคดี ในช่วงนี้
ทั้งนี้ การระบาดของโรคโควิด-19 หลายองค์กรได้มีการปรับลดขนาดองค์กร รวมไปถึงการทำงานในลักษณะ work from home มากขึ้น อีกทั้งยังมีการวางแผนล่วงหน้าว่าหลังจากที่โรคโควิด-19 ผ่านพ้นไปแล้ว จะดำเนินการอย่างไร เช่นการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ซึ่งอาจรวมไปถึงการนำเครื่องจักรหรือปัญญาประดิษฐ์มาดำเนินธุรกิจหรือไม่ เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 อาจส่งผลในระยะยาว ด้วยเหตุนี้ทาง SMEs อาจจะต้องมองหาช่องทางว่ารายได้ใหม่ ๆ ว่าจะเข้ามาจากทางไหนได้บ้าง
สำหรับแนวทางที่บางคนเสนอว่าควรมีการประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง เชื่อว่าจะสร้างผลกระทบหนักอย่างแน่นอน โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจด้านโลจิสติกส์ รวมถึงธุรกิจการบริการ อย่างไรก็ตามโดยส่วนใหญ่ของการเคอร์ฟิวจะปิดในระยะสั้นประมาณ 7 วัน ดังนั้นหากรัฐบาลจะประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง ทางผู้ประกอบการจะต้องมีการศึกษาแผนการดำเนินมาตรการให้สอดรับเคอร์ฟิวได้อย่างไร เช่น อาจจะต้องมีการส่งสินค้าทางเดลิเวอรี่ก่อนที่จะมีประกาศเคอร์ฟิว เป็นต้น