โควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ตลาดส่งออกศิลปหัตถกรรมไทยไตรมาสแรกอ่วม ลดลงเกินครึ่ง รมช.พาณิชย์สั่งเตรียมพร้อม หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดดีขึ้น เตรียมดันหัตถศิลป์สู่เวทีโลกทันทีที่พร้อม ตลาดอเมริกายังสดใสครองแชมป์อุดหนุนงานหัตถกรรม 2 ปีซ้อน
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในช่วงปลายปี 2562 – ปัจจุบัน สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทวีความรุนแรงไปทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตของประชาคมโลก รัฐบาลของทุกประเทศดำเนินมาตรการล็อกดาวน์ และเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาด ส่งผลให้การบริโภคทั้งภายในและต่างประเทศชะลอตัวและลดลงอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งตลาดงานศิลปหัตถกรรมก็ได้รับผลกระทบไปด้วย
สถานการณ์การส่งออกผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยในไตรมาสแรก มกราคม – มีนาคม 2563 มีมูลค่าการส่งออก 63,844.23 ล้านบาท ซึ่งหากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าการส่งออกรวม 192,257.09 ล้านบาท จะเห็นว่าตัวเลขลดลงถึงร้อยละ 66.79 แต่ทั้งนี้ประเทศคู่ค้าที่มีการบริโภคงานหัตถกรรมมากที่สุดยังคงเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา มียอดสั่งซื้อ 16,432.94 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,552.20 ล้านบาท โดยตลาดสหรัฐนับเป็นตลาดงานหัตถศิลป์ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องและมีอนาคตสดใส โดยหากเปรียบเทียบกับยอดซื้อเมื่อปี 2562 มีมูลค่า 13,880.74 ล้านบาท หรือลดลง 15.53% ซึ่งประเภทของงานหัตถกรรมที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุดยังคงเป็นเครื่องประดับแท้ทำด้วยเงิน มีมูลค่าทั้งสิ้น 3,607.59 ล้านบาท เนื่องจากเครื่องประดับเงินของไทยมีความพิเศษและจุดเด่นที่รูปแบบและคุณภาพของเนื้อเงินจึงเป็นที่ต้องการของตลาด จากวิกฤตดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์ได้เร่งหาแนวทางและมาตรการในทุกช่องทางเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน จึงได้กำชับให้ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน)
หรือ SACICT จัดทำแผนและดำเนินการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยงานศิลปหัตถกรรม โดยเฉพาะเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ไปยังเศรษฐกิจฐานราก ช่วยประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน โดยขณะนี้ได้ดำเนินโครงการผลิตหน้ากากทางเลือกจากชาวบ้านและชุมชนหัตถกรรมทั่วประเทศ พร้อมจัดหาช่องทางการขายหน้ากากจากชุมชน และผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยทั้งจากครูฯและทายาทฯ รวมทั้งผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิก โดยชูจุดขายเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคภายในประเทศ ในรูปแบบของ E-Commerce ทั้งในสื่อโซเชี่ยลมีเดีย เว็บไซต์ และแอพลิเคชั่น SACICT Shop รวมถึงการทำการตลาดเชิงรุก โดยฝึกฝนให้เจ้าหน้าที่ในองค์กรให้บริการในรูปแบบ Tele Marketing ซึ่งเป็นบริการให้คำแนะนำและข้อมูลผลิตภัณฑ์งานหัตถศิลป์ทางโทรศัพท์ได้อย่างสะดวกสบายและรวดเร็วมากขึ้น นอกจากนี้ยังวางแผนการรองรับภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น โดยเตรียมพร้อมผู้ประกอบการหัตถศิลป์ พัฒนาฝีมือและพัฒนาผลิตภัณฑ์งานหัตถศิลป์ที่ตลาดต้องการ อาทิ เครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน โลหะมีค่า เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องหนังและอัญมณี เป็นต้น โดยในช่วงที่มีการประกาศพระราชกำหนดฉุกเฉินทำให้ประชาชนต้องอยู่ในที่พักอาศัย เอื้อให้สามารถใช้เวลามาทำงานศิลปหัตถกรรมที่บ้านเพื่อเพิ่มพูนรายได้ จึงถือเป็นโอกาสดีที่สามารถผลิตสต๊อกสินค้าเพื่อรองรับตลาดเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ซึ่งมั่นใจว่าน่าจะภายในระยะเวลาอันใกล้นี้