นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารได้เริ่มนัดหมายให้ผู้ยื่นขอกู้สินเชื่อฉุกเฉินรายละ 10,000 บาท และ50,000 บาทเข้ามายื่นเอกสารและเซ็นสัญญากู้เงินแล้ว และจะเริ่มโอนเงินกู้ให้ลูกค้ากลุ่มแรกประมาณ 50,000 ราย ได้ตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 7 พ.ค.เป็นต้นไป หลังจากนั้นธนาคารจะทยอยส่งเอสเอ็มเอสแจ้งวันนัดหมายให้ลูกค้ามายื่นเอกสารอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยสาขาละ 50-150 คนต่อวัน เพื่อดูแลให้มีสถานที่รองรับเพียงพอ ไม่เกิดความแออัดตามมาตรฐานสาธารณสุข รวมถึงจะขอใช้สถานที่ราชการนัดหมายมาเซ็นสัญญาในช่วงวันหยุดด้วย
สำหรับยอดผู้ยื่นกู้สินเชื่อฉุกเฉินในกลุ่มอาชีพอิสระรายละ 10,000 บาท ล่าสุด มีผู้ยื่นกู้เข้ามาแล้ว 1.7 ล้านราย และยังเปิดให้ขอกู้ต่อเนื่องจนกว่าจะอนุมัติเต็มวงเงิน 20,000 ล้านบาท หรือประมาณ 2 ล้านราย ส่วนสินเชื่อฉุกเฉินสำหรับพนักงานเงินเดือนประจำรายละ 50,000 บาท ขณะนี้ได้ปิดรับแล้วเพราะมีคนขอกู้มากถึง 7 แสนราย มากกว่าวงเงินที่ตั้งไว้ 20,000 ล้านบาท ที่รองรับได้ 4 แสนราย โดยหลังจากนี้ธนาคารจะเร่งนัดหมายให้ยื่นเอกสาร และพิจารณาปล่อยกู้ให้เงินถึงมือพี่น้องประชาชนโดยเร็วที่สุด
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.การคลังเปิดเผยว่า กระทรวงการคลังพร้อมสนับสนุนการทำงานของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ในการเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ผ่านกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ โดยขณะนี้ บสย. อยู่ระหว่างจัดทำโครงการ PGS 9 วงเงินรวม 2 แสนล้านบาท แต่จากข้อมูลพบว่าในช่วง 8-12 เดือนข้างหน้า หรือในปี 2564 กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะค่อย ๆ ฟื้นตัวกลับมาเกิดการรีสตาร์ทธุรกิจซึ่งจะมีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนอีกจำนวนมาก บสย.จะมีส่วนสำคัญในการเสริมสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก ดังนั้นวงเงิน 2 แสนล้านบาทอาจน้อยเกินไป จึงให้ บสย. กลับไปทบทวนตัวเลขใหม่ โดยกระทรวงการคลังพร้อมสนับสนุนเต็มที่
ทั้งนี้ จากการรายงานข้อมูลของ บสย. พบว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 23 เม.ย. 2563 บสย.ดำเนินการค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแล้วกว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการค้ำประกันตามโครงการ PGS 8 วงเงินรวม 1.5 แสนล้านบาท ล่าสุดใช้วงเงินไปแล้ว 1.2 แสนล้านบาท คาดว่าภายในเดือน พ.ค. นี้จะค้ำประกันเต็มวงเงิน
“ผมเห็นว่า 2 แสนล้านบาทอาจจะน้อยไปให้ไปทบทวนตัวเลขใหม่ เพราะต้องดูเผื่อช่วงที่ธุรกิจกลับมารีสตาร์ทด้วย หากจะเพิ่มวงเงินมากกว่า2 แสนล้านบาท ผมสนับสนุนเต็มที่ แต่นอกจากการสนับสนุนผู้ประกอบการรีสตาร์ทธุรกิจแล้ว อยากให้ บสย. มีเป้าหมายเน้นอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีที่เป็นเครือข่ายกับสตาร์ทอัพ และอุตสาหกรรมปลายน้ำ ที่มีส่วนสนับสนุน หรือดึงการลงทุนเข้ามา ทั้งการลงทุนในพื้นที่ของอีอีซีหรือพื้นที่บริเวณอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่าง ๆ ด้วย” นายสันติ กล่าว