ประธานสหภาพแรงงานการบินไทย ระบุพนักงานการบินไทยเป็น “แพะรับบาป” จากหนี้สินที่พนักงานไม่ได้เป็นผู้ก่อ พร้อมขอเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบให้การใช้เงินกู้ก้อนล่าสุดเป็นไปตามแผนฟื้นฟูฯ พร้อมชี้ว่าปัญหาหนี้สินการบินไทยที่ท่วมอยู่ทุกวันนี้ เกิดจากมติ ครม. ในอดีตที่ให้กู้เงินซื้อเครื่องบินใหม่ทั้งที่ไม่สมควร
นายนเรศ ผึ้งแย้ม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ได้ให้สัมภาษณ์กับรายการ Workpoint Today ถึงประเด็นเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างองค์กรของการบินไทย รวมถึงประเด็นที่มีข่าวว่าการบินไทยจะกู้เงินเพิ่มอีก 5 หมื่นล้านบาทโดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน โดยนายนเรศระบุว่า สิ่งแรกที่การบินไทยต้องทำตอนนี้คือการหยุดสร้างหนี้และหยุดการลงทุนที่ไม่จำเป็น นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า การบินไทยจะต้องลดค่าใช้จ่ายลง โดยอาจต้องลดจำนวนเครื่องบินที่ให้บริการลง รวมถึงต้องลดพนักงานลงครึ่งหนึ่งด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสารที่จะลดลงจากวิกฤติโควิด-19
ส่วนในประเด็นว่าทำไมการบินไทยจึงจำเป็นต้องรัฐวิสาหกิจอยู่ นายนเรศให้เหตุผลว่า เพราะการบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจมาตลอด และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ที่ต้องเป็นรัฐวิสาหกิจก็เพื่อให้การบินไทยยังสามารถสนับสนุนภารกิจต่างๆ ของรัฐบาลได้ เช่น ในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถไปสั่งสายการบินพาณิชย์อื่นๆ ให้ไปรับคนไทยกลับมาประเทศได้ แต่จะสามารถมาบอกการบินไทยได้ ดังนั้นการบินไทยจึงยังต้องเป็นรัฐวิสาหกิจเพื่อสนับสนุนภารกิจส่วนนี้ของรัฐบาล
สำหรับประเด็นที่กระทรวงการคลังจะเป็นผู้คำประกันเพื่อกู้เงินเพิ่ม 50,000 ล้านบาทนั้น ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยมองว่า สุดท้ายแล้วหากการบินไทยต้องเข้าสู่ภาวะล้มละลายจริง ทรัพย์สินต่างๆ ที่การบินไทยมีจะสามารถขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาใช้หนี้ได้พอแน่นอน และและกระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจะไม่ต้องมาจ่ายหนี้แทนการบินไทยแน่นอน
“ถ้าการบินไทยไม่มีเงินจ่ายหนี้ เราก็ต้องล้มละลายตามกฎหมายอยู่แล้ว การที่เราจะไปก่อหนี้ได้เราก็ต้องมีหลักทรัพย์ไปค้ำประกันเงินกู้อยู่แล้ว ดังนั้นอย่าไปคิดว่ากระทรวงการคลังจะต้องจ่ายให้เรา ไม่ใช่ ทรัพย์สินที่การบินไทยมีอาจจะถูกเจ้าหนี้ยึด ไม่ใช่กระทรวงการคลังจ่ายให้เรา … ไปดูรายงานของตลาดหลักทรัพย์ได้ ว่าทรัพย์สินการบินไทยมีมากกว่าหนี้สิน ไม่อย่างนั้นเราก็คงไม่สามารถกู้เงินได้” ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยระบุ
ในประเด็นเรื่องการบินไทยขาดทุนต่อเนื่องนับหมื่นล้านบาทมาหลายปี นายนเรศมองว่าเกิดจากการที่การบินไทยลงทุนเกินตัว และแบกรับหนี้สินมากเกินไปจากการซื้อเครื่องบินใหม่ พร้อมทั้งระบุว่าการก่อหนี้ดังกล่าวไม่ใช่ความผิดของพนักงานการบินไทยเลย และทุกรัฐบาลที่ผ่านมาเป็นผู้สร้างหนี้สินให้การบินไทยแบกรับทั้งสิ้น
“ผมถามหน่อยว่าพนักงานการบินไทยไปซื้อเครื่องบินใหม่เองหรือ ปัญหาการบินไทยทุกวันนี้ที่เราขาดทุน ผมถามว่าการที่จะซื้อเครื่องบินใหม่ พนักงานการบินไทยเป็นคนไปซื้อเครื่องบินหรือ ประเด็นคือใครกำกับดูแลเรา ใครซื้อเครื่องบินให้เรา ใครพยายามสร้างหนี้ให้เรา … ทุกรัฐบาลซื้อเครื่องบินใหม่ให้เรา แล้วคุณก็สร้างหนี้ให้เรา แล้วคุณก็ไป ดังนั้นผมถามว่าทุกวันนี้การบินไทยบอกว่าอยู่ไม่ได้แล้ว ไม่รอดแล้ว ความผิดมันอยู่ที่พนักงานการบินไทยอย่างพวกผมหรือ” นายนเรศระบุ
“พวกเราเป็นพนักงาน เราไม่มีปัญญาจะไปสร้างหนี้อะไรอยู่แล้ว ดังนั้นการบริหารของการบินไทย รัฐบาลกำกับ รัฐบาลส่งคนมาเป็นบอร์ด รัฐบาลส่งคนมาเป็นผู้บริหาร เขาบริหารงาน ให้เราไปทางไหน เราเป็นพนักงาน เป็นผู้ปฏิบัติงาน เราก็ต้องปฏิบัติตามนโยบาย หลายครั้งเราคัดค้านการซื้อเครื่องบิน แต่ไม่มีใครฟังเรา แต่ถึงวันนี้ บริษัทการบินไทยมีปัญหา มีหนี้สิน ไปไม่รอด พวกเราใช่ไหมครับที่จะต้องเป็นแพะรับบาปจากปัญหาที่เราไม่ได้ก่อเองตรงนี้” ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยกล่าว
ทั้งนี้ ในเพจเฟซบุ๊ก TG UNION ของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ได้ให้ข้อมูลว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้การบินไทยขาดทุนต่อเนื่องเริ่มต้นขึ้นจากการตัดสินใจทางการเมือง เร่งรัดซื้อเครื่องบินใหม่ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมาในยุครัฐบาลของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร